‘สมัชชาคนจน’ เสนอแก้ รธน. ได้ทั้งฉบับ ยืนยัน ส.ส.ร. ควรมาจากการเลือกตั้ง
‘สมัชชาคนจน’ เสนอแก้ รธน. ได้ทั้งฉบับ ปลดล็อกเลือกตั้งผู้ว่าฯ-ตรวจสอบองค์กรอิสระ ไม่เห็นด้วยให้คนร่าง รธน.50-60 กลับมาร่างใหม่ ยืนยัน ส.ส.ร. ควรมาจากการเลือกตั้งโดยตรง ปราศจากผู้เชี่ยวชาญ หวั่นซ้ำรอยนักวิชาการ-กฤษฎีกาเข้าครอบงำ
วันนี้ (15 พ.ย. 66) นายบารมี ชัยรัตน์ ผู้ประสานงานสมัชชาคนจน ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ซึ่งจัดโดยคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560
นายบารมี กล่าวว่า สมัชชาคนจน ยืนยันว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ควรแก้ไขทั้งฉบับ แก้ไขได้ทุกหมวด เนื่องจากรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2560 ส่งผลกระทบมาก เพราะไม่ใช่รัฐธรรมนูญที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพกับประชาชน แต่ให้ความสำคัญกับความมั่นคงของรัฐเป็นหลัก มีการรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่รัฐไว้มาก จะเห็นว่ามีการออกกฎหมายหลายฉบับที่รวมศูนย์อำนาจ อย่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อุทยานแห่งชาติฯ และ พ.ร.บ. สงวนคุ้มครองสัตว์ป่าฯ เป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง และกระทบกับการอยู่อาศัยทำกินของคนจน
ส่วนเหตุผลที่ควรแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ทุกหมวดนั้น นายบารมี กล่าวว่า เหตุผลเรื่องการกระจายอำนาจ ซึ่งปัจจุบันมีการรวมศูนย์อำนาจอยู่ แต่บางส่วนโต้แย้งว่า การกระจายอำนาจอย่างการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ไม่สามารถทำได้ เพราะมีบทบัญญัติในหมวด 1 ที่ว่า “ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้” ขณะเดียวกัน อำนาจอธิปไตยที่แบ่งแยกออกเป็น 3 อำนาจในปัจจุบัน ก็ไม่มีการตรวจสอบการทำงานขององค์กรอิสระแต่อย่างใด
นายบารมี ยังให้ความเห็นเรื่องสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ว่า ควรมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน เช่น ในระดับจังหวัด ให้มี ส.ส.ร. มาจากการเลือกตั้งจังหวัดละ 1 คน หากเป็นจังหวัดใหญ่ อาจเลือกตั้ง ส.ส.ร. ให้มีมากกว่า 1 คนก็ได้ ขณะเดียวกัน บุคคลที่มีอายุมากกว่า 18 ปีขึ้นไป ก็สามารถสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ร. ได้ ส่วนนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญไม่ควรเป็น ส.ส.ร. แต่เป็นผู้สนับสนุนและช่วยเหลือตามร่างที่ ส.ส.ร. เป็นผู้ยกร่างและตัดสินใจ โดยเฉพาะผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550 และ พ.ศ. 2560 ไม่ควรกลับมาร่างรัฐธรรมนูญอีก เนื่องจากเป็นรัฐธรรมนูญที่เกิดปัญหามากมาย และประชาชนไม่ยอมรับ
“มิฉะนั้น จะกลายเป็นอิหรอบเดิม อยู่ภายใต้อิทธิพลของกฤษฎีกา อยู่ภายใต้อิทธิพลของนักวิชาการไม่กี่คน”
ทั้งนี้ นายบารมี ยังกล่าวว่า สำหรับร่างรัฐธรรมนูญคนจนนั้น ดำเนินการมาหลายปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 แม้นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่าง ในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ยืนยันหลักการไม่แก้ไขหมวด 1-2 ของรัฐธรรมนูญ แต่ในที่ประชุมยังเปิดให้มีการแสดงความเห็น ซึ่งมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วยกับการยกเว้นหมวด 1-2
นอกจากนี้ สมัชชาคนจน ยังยื่นหนังสือเรื่องสิทธิเกษตรกร การกระจายอำนาจ สันติภาพชายแดนใต้ และร่างรัฐธรรมนูญคนจน ให้กับนายภูมิธรรม ในฐานะประธานกรรมการศึกษาแนวทางในการทำประชามติฯ และนายนิกร จำนง ประธานอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ด้วย