POLITICS

‘เพื่อไทย’ เปิด 8 เหตุผล ไทยต้องเร่งเจรจาแหล่งพลังงานในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลกับกัมพูชา

‘เพื่อไทย’ เปิด 8 เหตุผล ไทยต้องเร่งเจรจาแหล่งพลังงานในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลกับกัมพูชา

วันนี้ (15 พ.ย. 65) นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ด้านเศรษฐกิจ กล่าวถึงสถานการณ์ค่าไฟฟ้าที่กำลังจะพุ่งขึ้น จากหน่วยละ 4.72 บาท เป็นหน่วยละ 5.37, 5.70 หรือถึง 6.03 บาท ว่า ปัญหาส่วนหนึ่งมาจากการบริหารที่ผิดพลาดของรัฐบาล

นายพิชัย กล่าวว่า ในโอกาสของการประชุม G 20 ที่ประเทศอินโดนีเซีย ต่อด้วยการประชุม APEC ที่กรุงเทพมหานคร ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ไทยควรใช้เวทีนี้ในการเจรจากับประเทศกัมพูชา เรื่องการนำแหล่งพลังงานในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล มาแบ่งปันอย่างยุติธรรม เป็นที่พอใจของทุกฝ่าย โดยมี 8 เหตุผลที่ไทยควรเร่งเจรจาเรื่องนี้ คือ

1.ก๊าซธรรมชาติจากแหล่งพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ไทย-กัมพูชา มีปริมาณมาก จะมีมากกว่าหรือเท่ากับแหล่งเดิมในอ่าวไทย ที่ไทยใช้มานานกว่า 30 ปี โดยให้เจรจาเฉพาะการแบ่งพลังงาน ไม่พูดถึงการแบ่งดินแดน เพื่อหลีกเลี่ยงข้อขัดแย้งที่คงหาข้อยุติไม่ได้

2.ปริมาณก๊าซที่ได้จากอ่าวไทยและจากเมียนมา ลดลง โดยปัจจุบันแหล่งพลังงานของไทยในอ่าวไทยเริ่มลดลงมาก และยังมีปัญหาการส่งมอบสัมปทาน อีกทั้งประเทศเมียนมามีความขัดแย้งภายในประเทศ มีการวางระเบิดท่อส่งก๊าซ ยิ่งทำให้ปริมาณก๊าซจากเมียนมาลดลง

3.ก๊าซจากพื้นที่ทับซ้อน จะทำให้ประเทศไทยสามารถผลิตไฟฟ้าได้ในราคาที่ถูกลง ช่วยลดค่าใช้จ่ายของประชาชน เพิ่มความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ

4.ในอนาคตการใช้พลังงานจากฟอสซิลทั้งก๊าซ น้ำมัน และถ่านหิน จะลดลงมาก จากปัญหาโลกร้อน อีกทั้งผู้คนจะหันไปใช้พลังงานทดแทน พลังงานหมุนเวียน และพลังงานสะอาดกันมากขึ้น ในอนาคต ก๊าซและน้ำมันอาจจะไม่มีราคาเลยก็เป็นได้

5.ก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ทับซ้อนเป็นก๊าซเปียก (Wet Gas) ที่สามารถนำมาเข้าโรงแยกก๊าซและนำไปทำธุรกิจปิโตรเคมีได้ ซึ่งไทยมีโรงแยกก๊าซอยู่แล้ว 6 โรง อีกทั้ง มีอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขนาดใหญ่รองรับอยู่แล้ว การนำก๊าซธรรมชาติจากพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา ขึ้นมาได้ จะช่วยให้ไทยจะสร้างมูลค่าเพิ่มได้ 6-20 เท่า

6.นอกจากจะได้ก๊าซในราคาถูกเพื่อลดต้นทุนพลังงาน รัฐยังจะได้ค่าภาคหลวงมาแบ่งปันระหว่าง ไทย-กัมพูชา 7.ค่าภาคหลวงที่จะได้รับ น่าจะได้ในอัตราส่วนที่มากกว่าเดิม เนื่องจากบริเวณดังกล่าวพิสูจน์แล้วว่ามีก๊าซธรรมชาติอยู่ในปริมาณมาก และ 8. การสำรวจและขุดเจาะก๊าซธรรมชาติที่จะนำขึ้นมาใช้ ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2-8 ปี ไม่ใช่เจรจาจบแล้วจะได้ก๊าซทันที ดังนั้นจึงควรเร่งเจรจาให้จบตั้งแต่ตอนนี้

Related Posts

Send this to a friend