POLITICS

ป.ป.ช. ติดตามสถานการณ์การบุกรุกพื้นที่ป่าสงวน

ปลุกคนในชุมชนช่วยกันเฝ้าระวัง และปกป้องผืนป่า ไม่ให้บุกรุกป่าเพิ่ม หลังพื้นที่ป่าจากหมื่นไร่ เหลือเพียงพันกว่าไร่

วันนี้ (15 ส.ค. 67) นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พร้อมด้วยนายประทีป จูฑะศร รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.ภาค 4 เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ และจิตอาสาเฝ้าระวังป่า นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ ป่าคำใหญ่ – คำขวาง อ.อาจสามารถ จ.ร้อยเอ็ด เพื่อติดตามความคืบหน้ากรณีการบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ คำใหญ่-คำขวาง

นายนิวัติไชย เปิดเผยว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นป่าชุมชนที่อยู่กลางทุ่งนา แต่ถูกบุกรุกเรื่อยมาจนมีการประกาศพระราชกฤษฎีกาเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ โดยหลายปีต่อมา มีการบุกรุกแผ้วถางป่า ป่าก็เริ่มหดตัวไปเรื่อยๆ จากพื้นที่กว่าหมื่นไร่ ปัจจุบันเหลือเพียง 1,000 ไร่ ซึ่งจากการลงพื้นที่ และตรวจสอบพบว่า พื้นที่ดังกล่าวทำให้เห็นปัญหา 2 ด้าน คือการทำมาหากินของชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน และอพยพมา เพราะไม่มีที่ทำกิน ก็มาอาศัยพื้นที่ป่ามาบุกรุกแผ้วถาง จึงทำให้เกิดอีกปัญหาคือต้นไม้ใหญ่ ไม้ที่มีค่าก็ถูกตัดทำลาย ทำให้พื้นที่ดังกล่าวไม่มีสภาพเป็นป่า กลายเป็นแหล่งเสื่อมโทรม และคณะรัฐมนตรีจึงได้ทยอย นำพื้นที่เหล่านี้นำไปอยู่ในพื้นที่ ส.ป.ก. เพื่อจัดสรรให้ประชาชนทำกิน เช่นมติคณะรัฐมนตรีในปี 2541 ที่จัดสรรให้ประชาชนเข้ามาจับจอง หรือบางคนที่จับจองไม่ชอบก็ได้สิทธิ์เข้ามาทำกิน

ทั้ง พื้นที่ดังกล่าว ปัจจุบันมีโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายของรัฐ หรือ คทช. ซึ่งกำลังหารือกับกรมป่าไม้เพื่อวางแนวเขต จัดสรรที่ดินให้กับราษฎรเข้ามาทำกิน พร้อมย้ำว่า ราษฎรที่เคยทำมาหากินในพื้นที่ ถือว่ามีสิทธิ์ เพราะครอบครองมาก่อนประกาศเขตป่า ส่วนผู้มาครอบครองหลังประกาศเขตป่าก็ยังให้ทำมาหากินต่อไป เพื่อลดปัญหาในพื้นที่ เพราะไม่มีสภาพเป็นป่า แต่ยังเหลือป่าที่มีต้นไม้ใหญ่ ที่ต้องดูแลไม่ให้มีการบุกรุก ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ป่า

นายนิวัติไชย กล่าวว่า ต้องช่วยกันอนุรักษ์พื้นที่ป่ากลางเมือง ด้วยการให้ประชาชนที่อยู่บริเวณโดยรอบรวมตัวกัน เพื่อช่วยรักษาป่า เพราะเมื่อพบเห็นคนเข้ามาแอบตัดไม้หรือนำไม้ออกไปจากพื้นที่ก็จะสามารถรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ได้โดยเร็ว

“เราจึงมากระตุ้นให้ประชาชน ที่ทำมาหากินอยู่ในพื้นที่ต้องช่วยกันหวงแหน รักษาป่าผืนสุดท้าย ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในหน้าที่ ป.ป.ช.ที่จะส่งเสริมให้ประชาชนดูแลปกป้อง และป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐ เอาป่าไปดำเนินการออกเอกสารโดยไม่ชอบหรือไม่ถูกต้อง หรือนำไปให้กับผู้ที่ไม่มีคุณสมบัติ“ นายนิวัติไชย กล่าว

จากนั้น นายนิวัติไชย ได้เดินไปดูซากต้นพะยอม ขนาดใหญ่ที่ล้มอยู่กลางป่า ซึ่งเป็นเครื่องบ่งชี้ให้เห็นว่า ในอดีตพื้นที่ดังกล่าวมีต้นไม้ขนาดใหญ่อยู่ แต่ถูกบุกรุก เพื่อต้องการให้พื้นที่กลายเป็นป่าเสื่อมโทรม ก่อนนำไปออกเอกสารสิทธิ์เพื่อครอบครอง โดยนายนิวัติไชย พร้อมกล่าวด้วยว่า “ประชาชนในพื้นที่ต้องรักพื้นที่ตัวเอง เหมือนรักบ้านตัวเองก่อน ถ้ารักบ้านแล้ว เขาลงไม่ปล่อยให้มีการทำลายตัดไม้ออกไป“

ภายหลังการสำรวจพื้นที่ นายนิวัติไชย ได้ร่วมปลูกต้นยางนาร่วมกับประชาชนในพื้นที่ และสื่อมวลชน เพื่อเป็นการเพิ่มพื้นที่ และฟื้นฟูพื้นที่ป่าดังกล่าว

จากนั้น ในช่วงบ่าย นายนิวัติไชย พร้อมคณะ เดินทางมายังป่าชุมชนดงทำเลดอนใหญ่ บ้านหนองบั่ว อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นศูนย์เรียนรู้ธรรมชาติ และได้รับรางวัลชุมชนต้นแบบ เพื่อรับฟังการบรรยายสรุปจากกลุ่มเครือข่ายจิตอาสาพิทักษ์ป่าชุมชนดงทำเล – ดอนใหญ่ ที่ร่วมดูแลปกป้องป่าชุมชน หลังชาวบ้านนอกพื้นที่ลักลอบเข้ามาตัดไม้พะยูง โดยพื้นที่ดังกล่าวถือเป็นป่าพะยูงผืนสุดท้าย โดยมีต้นพะยูงกว่า 1,200 ต้น

ในช่วงแรก ชาวบ้านได้รวมกลุ่มกันขึ้นมาประมาณ 20 คน และได้ชักชวนคนในหมู่บ้านให้มาร่วมกันเฝ้าระวังดูแล โดยในช่วง 2-3 ปีก่อนหน้านี้ พบว่ามีปัญหาการลักลอบตัดไม้พะยูง ซึ่งมีการลักลอบเข้ามาตัดในช่วงเวลากลางวัน และขนย้ายออกในช่วงเวลากลางคืน จึงได้มีการตั้งจีพีเอสไว้กับต้นพะยูง แต่ก็ไม่สามารถลดปัญหาได้ แม้จะสามารถติดตามตัวผู้กระทำความผิด และแจ้งให้ตำรวจดำเนินคดีก็ตาม

ต่อมา จึงมีการติดกล้องวงจรปิดไว้กับต้นไม้ใกล้เคียงเพื่อดูแลเฝ้าระวังต้นพะยูงที่มีความเสี่ยงในการถูกลักลอบเข้ามาตัด และชาวบ้านได้จัดชุดเฝ้าระวัง มีการตั้งป้อมยาม และทำถนนรอบพื้นที่ป่า รวมถึงมีการติดตั้งรั้วลวดหนาม จึงสามารถลดการลักลอบเข้ามาตัดได้ และช่วยกันใช้โอกาสในวันสำคัญร่วมกันปลูกต้นไม้ในพื้นที่ว่าง เพื่อให้ป่ากลับมามีสภาพสมบูรณ์

นอกจากนี้ นายนิวัติไชย ได้เดินไปชมต้นยางนาง (ยายแล) อายุ 500 ปี ขนาดลำต้นคน 8 คนโอบ พร้อมได้ร่วมบวชต้นไม้ร่วมกับพระอาจารย์ ดร.แสงจันทร์ วัดป่าดงทำเล และคณะผู้บริหารของ ป.ป.ช.ภาค 4 ก่อนที่จะเดินทางไปสำรวจภายในพื้นที่รอบป่าดงทำเล – ดอนใหญ่ และร่วมดูแนวกันไฟ จุดป้อมยามในการเฝ้าระวัง และร่วมสำรวจต้นพะยูง อายุกว่า 100 ปี ซึ่งเป็นต้นที่ 350 ของป่าชุมชนแห่งนี้

สำหรับจุดสุดท้าย ได้ลงพื้นที่ติดตามจุดที่มีการลักลอบตัดไม้พะยูง โดยนายนิวัติไชย ได้สอบถามกรมป่าไม้มีแนวทางส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกไม้พะยูงในเขตครอบครองของตนเองหรือไม่ รวมทั้งได้ให้แนะนำให้เครือข่ายจิตอาสาในการเฝ้าระวัง และการประสานงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การอนุรักษ์ป่าไม้ชุมชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

Related Posts

Send this to a friend