POLITICS

เลขาฯ ป.ป.ช. เดินหน้าสอบคดีจริยธรรมร้ายแรง ‘เศรษฐา’

เลขาฯ ป.ป.ช. เดินหน้าสอบคดีจริยธรรมร้ายแรง ‘เศรษฐา’ เตรียมคัดคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญประกอบสำนวน ขอ อย่ามองเคราะห์ซ้ำกรรมซัด ชี้ เมื่อเป็นนักการเมือง ก็ต้องพร้อมถูกตรวจสอบ

วันนี้ (15 ส.ค. 67) นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้นายเศรษฐา ทวีสิน พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากขาดคุณสมบัติ ไม่มีความขื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ จากการเสนอชื่อนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า คดีนี้เป็นคดีที่มีการร้องเรื่องมาตราฐานทางจริยธรรมในชั้นของ ป.ป.ช.ด้วย ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริง เช่นเดียวกับกรณี 44 สส.อดีตพรรคก้าวไกล ที่เข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายแก้ไขมาตรา 112 ซึ่งเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมาแล้ว ป.ป.ช.ก็จะต้องขอคัดคำวินิจฉัย เพื่อมาประกอบการพิจารณาในชั้นของ ป.ป.ช.

อย่างไรก็ตาม ป.ป.ช.ยังไม่ได้มีการไต่สวน เพราะต้องรอคัดคำวินิจฉัยก่อน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในองค์ประกอบในการพิจารณาของ ป.ป.ช. ส่วนจะทำให้การพิจารณาแล้วเสร็จไวขึ้นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการฯ ตนเองไม่ขอก้าวล่วง

นายนิวัติไชย เชื่อว่า แม้นายเศรษฐา จะพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว แต่ไม่เป็นอุปสรรคยุ่งยากในการตรวจสอบ และคิดว่านายเศรษฐา พร้อมชี้แจ้งอยู่แล้วเช่นเดียวกับที่ชี้แจงกับศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนระยะเวลาของการไต่สวนขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง บางเรื่องเราสามารถไต่สวนได้ภายใน 1 ปี เพราะ ป.ป.ช.จะต้องพิจารณาคดีจริยธรรมว่าร้ายแรงหรือไม่ร้ายแรง ก่อนที่จะส่งศาลฎีกาไปตามกฎหมาย

นายนิวัติไชย ยืนยันว่า ป.ป.ช.ไม่ได้ล่าช้า มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงอยู่ตลอดเวลา แต่เนื่องจากมีการร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ การพิจารณาจึงต้องไปทีละขั้นตอน เพราะหาก ป.ป.ช.วินิจฉัยไปก่อน แล้วศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไปอีกทาง ผลก็จะตรงกันข้ามกัน ดังนั้นทุกอย่างจะต้องนำมาประกอบกันก่อนวินิจฉัย เพราะศาลถือเป็นองค์กรสุงสุด

เลขาธิการ ป.ป.ช. กล่าวอีกว่า คดีนี้ ป.ป.ช.จะต้องไปดูมาตราฐานทางจริยธรรมที่กำหนดไว้ และต้องตีความ เพราะไม่มีข้อกฎหมายใดที่เขียนไว้ชัดเจน ดังนั้นต้องดูว่าการกระทำดังกล่าวเข้าข้อใดของประมวลจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และต้องดูว่าข้อนั้นเป็นเรื่องจริยธรรมร้ายแรงหรือไม่

“อย่ามองว่าเป็นเรื่องเคราะห์ซ้ำกรรมซัด เพราะทุกอย่างต้องว่าไปตามข้อเท็จจริง เมื่อเข้ามาดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้ว โอกาสที่จะต้องถูกสาธารณชน หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ตรวจสอบ แสดงว่าทุกคนพร้อมที่จะให้ตรวจสอบเมื่อก้าวเข้ามา” นายนิวัติไชย กล่าว

ส่วนคดีอื่นของนายเศรษฐา เช่น คดีกล่าวหาเรื่องแต่งตั้ง ผบ.ตร.โดยมิชอบ นายนิวัติไชย ระบุว่า อยู่ระหว่างการตรวจสอบเพิ่มเติม หลังมีการเสนอเข้ามาเพื่อให้มีการไต่สวน แต่ที่ประชุม ป.ป.ช.เห็นว่า เนื่องจากนายกฯ เป็นตำแหน่งสูง และเป็นผู้บริหารระดับประเทศ การดำเนินการต้องรอบครอบ ชัดเจน ก่อนจะเสนอมาในชั้นของคณะกรรมการฯ ดังนั้นเมื่อยังไม่ชัดเจนก็สั่งให้ตรวจสอบเพิ่มเติมในประเด็นข้อกฎหมาย

ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่า นายเศรษฐาหลุดออกจากตำแหน่ง เมื่อมีการตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ โครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท จะต้องยุติลง ป.ป.ช. จะจับตาประเด็นนี้อย่างไร นายนิวัติไชย กล่าวว่า ตอนนี้ตนเองยังไม่ทราบข่าวว่าจะยุติหรือไม่ แต่ไม่ว่าจะเป็นโครงการอะไรที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการของฝ่ายไหนก็เป็นหน้าที่ของ ป.ป.ช. ที่จะต้องทำหน้าที่เสนอแนะให้คำแนะนำ หรือความเห็นตามกฎหมาย หากพบว่ามีพฤติการณ์ที่ส่อว่าจะมีการดำเนินการที่ไม่ถูกต้อง และนำไปสู่การทุจริตหรือคอรัปชั่น ซึ่งตรงนี้เราต้องให้ข้อแนะนำเพื่อเป็นการเฝ้าระวัง

ทั้งนี้ หากจะมีการยกเลิกนโยบายดังกล่าว จะสามารถทำได้หรือไม่ นายนิวัติไชย กล่าวว่า เป็นเรื่องของฝ่ายนโยบาย ป.ป.ช.ไม่มีอำนาจหน้าที่จะไปตัดสิน ซึ่งเป็นเรื่องของผู้บริหาร และรัฐสภา ซึ่งต้องไปถามท่านในเรื่องของนโยบายการขับเคลื่อน ป.ป.ช.เป็นหน่วยงานที่ตรวจสอบ ถ้าท่านทำเราก็ตรวจสอบแค่นั้นเอง แต่หากไม่ทำ ก็ไม่มีอะไรให้ตรวจสอบ

Related Posts

Send this to a friend