‘สรวงศ์’ ยัน ‘อิ๊ง’ คุย ’วัน‘ ไม่มีคำพูดให้เจ็บช้ำ
‘สรวงศ์’ ยัน ‘อิ๊ง’ คุย ’วัน‘ ไม่มีคำพูดให้เจ็บช้ำ มองการเมืองอะไรก็เกิดขึ้นได้ หลังเจ้าตัวประกาศไม่กลับเพื่อไทย
วันนี้ (15 ก.ค. 67) นายสรวงศ์ เทียนทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการลาออกจากสมาชิกพรรคเพื่อไทย ของ นายวัน อยู่บำรุง ซึ่งมีการพาดพิงไปถึงวันที่ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เรียกนายวันเข้าไปพูดคุย จนมีประเด็นที่ทำให้ต้องตัดสินใจลาออก โดยนายสรวงศ์ยืนยันว่า เรื่องนี้ไม่มีประเด็นอะไร เป็นไปตามที่เคยให้สัมภาษณ์ไว้ เมื่อนายวันเข้าไปพบนางนางสาวแพรทองธารแล้ว นายวันก็ได้ขอโทษต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมระบุว่าคิดน้อยไปหน่อย
ขณะที่ นางสาวแพทองธารระบุว่าเรื่องที่เกิดขึ้นผู้ใหญ่ภายในพรรคไม่สบายใจ จึงต้องมีการเชิญมาพูดคุยกัน และมีการกำหนดบทลงโทษเรื่องของตำแหน่งทางการเมือง ทำให้นายวันตัดสินใจขอลาออกเอง ซึ่งเรื่องนี้ทำให้ นางสาวแพทองธารลำบากใจ และอยากให้ นายวัน อธิบายปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้น
ผู้สื่อข่าวสอบถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่ นายวัน อาจเจ็บช้ำน้ำใจกับบางประโยคที่เรียกเข้าไปพูดคุย นายสรวงศ์ กล่าวว่า เท่าที่ตนเองฟังก็ไม่มี แต่ความรู้สึกของคนก็ต่างกัน
ส่วนที่ผ่านมาเคยมีปัญหาความขัดแย้งหรือสะสมมาหรือไม่ เพราะเมื่อเกิดเรื่องนี้ก็ทำให้ ร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ถึงกับประกาศให้พรรคขับออก นายสรวงศ์ ยืนยันว่า ไม่มีปัญหาความขัดแย้งสะสม เพราะจากการทำงานที่ผ่านมา นายวัน ก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มาตั้งแต่สมัยนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว อดีตรัฐมนตรี จึงมั่นใจว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร และการทำงานของตนเองกับ นายวัน ก็เป็นปกติ ส่วนประเด็นทางการเมืองก็ว่ากันไป และอยากให้เรื่องนี้จบ ส่วนในอนาคต ด้วยความสนิทสนมส่วนตัวและความผูกพัน เชื่อว่าสามารถพูดคุยกันได้
สำหรับกรณีที่นายวัน ประกาศจะไม่กลับมาพรรคเพื่อไทยแล้วนั้น นายสรวงศ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องการเมือง ขณะนี้อาจจะยังร้อนอยู่และมีอารมณ์ความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ ก็ขอเวลาค่อยเป็นค่อยไป
ผู้สื่อข่าวสอบถามเพิ่มเตอมว่าในส่วนของพรรคเพื่อไทยได้มีการพูดคุยปัญหาที่เกิดขึ้นกับ ร้อยตำรวจเอกเฉลิม หรือไม่ นายสรวงศ์ กล่าวว่า ร้อยตำรวจเอกเฉลิม ได้โทรศัพท์มาหาตน และยังได้มีโอกาสพูดคุยกันที่สภาด้วย
“ผมตอบไปว่า ขออนุญาตไม่ทำตามคำสั่งอานะ เพราะด้วยความเป็นพรรคมันมีกระบวนการอยู่ การจะขับท่านใดออกจากพรรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และเป็นสมาชิกพรรคด้วย การขับออกจากพรรคมันต้องมีความผิดร้ายแรง ซึ่งก็มีคณะจริยธรรมที่จะต้องเสนอต่อคณะกรรมการบริหารพรรค ไม่ใช่ว่าอยู่ดี ๆ จะขับได้” เลขาธิการพรรคเพื่อไทยกล่าว