POLITICS

อนุ กมธ.ศึกษาฯ ผู้ลี้ภัย แถลงความคืบหน้าการศึกษาปัญหาผู้ลี้ภัยเมียนมา

เตรียมเสนอแนวทางแก้ไขให้ฝ่ายบริหารพิจารณาความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม หวังเป็นสะพานเชื่อมทุกฝ่ายพูดคุยกัน

วันนี้ (15 ก.พ. 67) คณะอนุกรรมาธิการศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยและผู้หนีภัยการสู้รบตามแนวชายแดนไทย–เมียนมา ในคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ แถลงความคืบหน้าการศึกษาปัญหา นำโดย นายมานพ คีรีภูวดล สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐฯ นายศิววงศ์ สุขทวี เลขาประจำคณะอนุกรรมธิการความมั่นคงแห่งรัฐฯ และนายประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ร่วมแถลงรายงาน ที่อาคารรัฐสภาฯ

นายมานพ กล่าวว่า จากการศึกษาพบว่ามีผู้หนีภัยความไม่สงบในประเทศเมียนมาเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น สามารถจำแนกกลุ่มผู้อพยพลี้ภัยจากประเทศเมียนมาที่เข้ามาประเทศไทย 3 กลุ่มหลัก ได้แก่

1.กลุ่มผู้หนีภัยการสู้รบในพื้นที่พักพิงชั่วคราว 9 แห่ง ซึ่งเข้ามาตั้งแต่ช่วง พ.ศ.2527 มีจำนวนประมาณ 80,000 คน อยู่อาศัยภายในพื้นที่พักพิงชั่วคราว มีสำนักงานศูนย์ดำเนินการเกี่ยวกับผู้อพยพ กระทรวงมหาดไทยรับผิดชอบ

2.กลุ่มผู้หนีภัยความไม่สงบซึ่งเดินทางเข้ามาภายหลังรัฐประหารของเมียนมาที่อยู่ในพื้นที่รัฐจัดให้มีพื้นที่ปลอดภัย และพื้นที่พักรอในพื้นที่ชายแดนตามแนวทางปฏิบัติของสภาความมั่นคงแห่งชาติ ที่ผ่านมามีจำนวนประมาณ 51,280 คน เข้ามาในหลายระลอก ปัจจุบันเดินทางกลับออกไปหมดแล้ว

3.กลุ่มผู้หนีภัยความไม่สงบซึ่งเดินทางเข้ามาภายหลังรัฐประหารของเมียนมาที่อยู่ภายนอกพื้นที่ที่รัฐจัดให้ เป็นกลุ่มที่ยังไม่มีนโยบายและแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน มีการประมาณการณ์โดยภาคประชาสังคมอาจมีจำนวนถึง 30,000-50,000 คน จำแนกประชากรได้เป็น 3 กลุ่มย่อยได้อีก คือ

กลุ่มที่ 1 กลุ่มผู้หนีภัยทางการเมือง ซึ่งเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ที่เดินทางเข้ามาในไทยภายหลังความไม่สงบ เช่น กลุ่มสมาชิกของรัฐบาล, รัฐสภาเอกภาพแห่งชาติเมียนมา, สมาชิกของขบวนการพลเรือนขัดขืน (CDM) และอื่น ๆ กลุ่มนี้เผชิญกับความเสี่ยงจากการอยู่อาศัยในประเทศโดยไม่ได้รับการอนุญาต

กลุ่มที่ 2 กลุ่มผู้อพยพที่เข้ามาเพื่อแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจ จากสถานการณ์ในเมียนมาส่งผลให้ประชาชนต้องหาทางอยู่รอดและดำรงชีพต่อไป เลยเข้ามาเป็นแรงงานต่างด้าวในประเทศ กำลังถูกเก็บภาษีเพิ่มเติม ถูกปฏิเสธการต่ออายุหนังสือเดินทางให้

กลุ่มที่ 3 กลุ่มที่ไม่ได้สัญชาติในประเทศต้นทาง หลุดออกไปจากการเป็นพลเมืองในเมียนมา แต่มีเครือข่ายสังคมข้ามชายแดนอยู่ในไทยบ้างแล้ว ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธ์ที่ได้ต่อสู้กับรัฐบาลเมียนมาอย่างยาวนาน หรือถูกรัฐบาลเมียนมาปฏิเสธการเป็นพลเมือง

ประชากรกลุ่มย่อยทั้ง 3 กลุ่มนี้ ยังไม่มีสถานะและยังไม่มีระบบรองรับ เมื่อเกิดสถานการณ์เงื่อนไขต่าง ๆ ที่ไม่สามารถดำเนินการจัดการได้ กังวลว่าจะนำไปสู่สถานการณ์ความรุนแรง หรือความไม่เข้าใจกันหรือไม่ เรื่องนี้จึงอยู่ในข้อเสนอด้วย

นายศิววงศ์ รายงานข้อเสนอที่จะเสนอต่อฝ่ายบริหาร คือ ให้สภาความมั่งคงแห่งชาติ เร่งดำเนินการกระบวนการการตั้งถิ่นฐานใหม่ยังประเทศที่สามของกลุ่มผู้หนีการสู้รบ (ผภร.) ที่อยู่ในพื้นที่พักพิงชั่วคราวให้ได้ปีละ 10,000 คน และเตรียมแผนการรองรับกรณีที่การดำเนินการมีความล่าช้า หรือไม่สามารถดำเนินกระบวนการตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่สาม จัดทำแผนการรับมือตามสถานการณ์จากเล็กไปใหญ่ ประสานให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมระหว่างภาครัฐและหน่วยงานอื่นให้มีชัดเจนขึ้น

นอกจากนี้ ยังเสนอให้หลักประกันถึงความอิสระของหน่วยงานด้านมนุษยธรรมในการเข้าถึงกลุ่มผู้หนีภัยที่เข้ามา และการจัดทำข้อมูล สัมภาษณ์จัดทำประวัติ กำหนดสถานะรายบุคคล โดยแยกกลุ่มผู้หนีภัยการสู้รบชั่วคราวที่ระยะเวลาเข้ามา เพื่อป้องการพลัดหลง เตรียมพร้อมด้านการพยาบาลและสาธารณสุขในกรณีเหตุการณ์ฉุกเฉิน การประเมินความปลอดภัยก่อนการส่งกลับผู้หนีภัยความสงบชาวเมียนมา เพื่อให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 และหลักการห้ามผลักดันกลับ (Non-refoulement) และกติการะหว่างประเทศอื่น ที่ไทยเข้าเป็นภาคี

ทั้งนี้ ยังให้กระทรวงมหาดไทย พิจารณาทบทวนแนวทางการดำเนินการและแนวปฏิบัติการบริหารจัดการพื้นที่พักพิงผู้หนีภัยการสู้รบ 9 แห่ง จำนวน 80,000 คน ให้สอดคล้องและเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน จัดทำประวัติและเอกสารประจำตัวของบุคคลผู้หนีภัยความไม่สงบภายในประเทศเมียนมาที่เข้ามาในประเทศเข้ามาภายหลังปี พ.ศ.2564

ให้กระทรวงการต่างประเทศเร่งสร้างกลไกความร่วมมือหลายฝ่ายทั้งรัฐบาลของชาติที่เกี่ยวข้อง รัฐบาลเมียนมา รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติเมียนมา กลุ่มชาติพันธุ์ กองกำลังที่ปฏิบัติการอยู่ในพื้นที่ชายแดนและตัวแทนประชาสังคมในพื้นที่ ในการจัดทำพื้นที่ปลอดภัยทั้งสองฝั่งชายแดนไทย เพื่อประสานงานความช่วยเหลือมนุษยธรรมตามแนวชายแดน (Cross border humanitarian assistance) อย่างน้อย 4 จังหวัดพื้นที่ชายแดน

ให้กระทรวงแรงงาน พิจารณาดำเนินการผ่อนผันให้ผู้หนีภัยการสู้รบไม่สามารถเดินทางกลับได้ ให้อยู่อาศัยและทำงานได้เป็นกรณีพิเศษ พร้อมกับการขยายระยะเวลาการอนุญาตทำงานของแรงงานแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมาไปอีก 4 ปี โดยไม่ต้องกลับประเทศ

ให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พิจารณาขยายการดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการคัดกรองคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรและไม่สามารถเดินทางกลับประเทศอันเป็นภูมิลำเนาได้

ให้รัฐบาลเร่งรัดการปรับปรุง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการคนเข้าเมืองให้สอดคล้องความต้องการในตลาดแรงงานของประเทศ และการจัดการประชากรในอนาคตของสังคมไทย

นายมานพ กล่าวทิ้งท้ายว่า เรื่องที่เสนอให้ฝ่ายบริหาร และรัฐบาล คิดว่าเพื่อบทบาทของประเทศไทยในฐานะสมาชิกของกลุ่มประเทศอาเซียนที่มีชายแดนติดกันทำให้เราต้องมีบทบาทเชิงมนุษยธรรม และเป็นสะพานให้ทุกฝ่ายพูดคุยกัน ทั้งหมดนี้จะนำไปสู่การหารือในชั้น กมธ.ชุดใหญ่ รวมทั้งเรื่องที่รัฐบาลเมียนมาเรียกเก็บภาษีแรงงานในไทยเพิ่มขึ้นด้วย

Related Posts

Send this to a friend