ConforAll ขอพบ ‘เศรษฐา‘ คุยหาทางออกทำประชามติก่อนสิ้นเดือนนี้ หวั่นคำถามสร้างความสับสน
วันนี้ (15 ม.ค.67) ตัวแทนจากกลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ (ConforAll) นำโดย นายรัชพงษ์ แจ่มจิรไชยกุล และนางสาวภัสราวลี ธนวิบูลย์ผล ยื่นหนังสือถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ผ่านนาย สมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล เพื่อขอเข้าหารือหาทางออกการทำประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
นายรัชพงษ์ กล่าวว่าตนเองได้รับข้อมูลว่า คณะกรรมการศึกษาแนวทางทำประชามติ แก้รัฐธรรมนูญ ได้คำถามในการทำประชามติแล้ว แต่พวกเรามีความกังวลว่าคำถามประชามตินี้อาจจะเป็นปัญหาต่อไป และหากตั้งคำถามประชามติ โดยอ้างว่าต้องไม่แก้รัฐธรรมนูญหมวด 1 และหมวด 2 ด้วย อาจก่อให้เกิดคำถามว่าหมวด 1 และหมวด 2 คืออะไร เหตุใดต้องยกเว้น และอาจจะเป็นการสร้างบทสนทนา ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยไม่จำเป็น พวกเราจึงอยากติดตามว่าหลังจากนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป ซึ่งเรามีสองประเด็นที่ต้องการสื่อสาร
1.การเขียนคำถามประชามติเพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ไม่ได้หมายความว่าจะแก้หรือไม่แก้หมวด 1 และหมวด 2 แต่เราระบุว่าใครจะแก้หรือไม่แก้มาตราใดหมวดใดให้อยู่ที่สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เราก็เลือก สสร. ที่ต้องการแก้แก้ไขหมวดหรือมาตราตามที่เราต้องการ
2.การเขียนคำถามประชามติล็อกว่าจะไม่แก้หมวด 1 และหมวด 2 ในขั้นแรก ไม่ได้หมายความว่าหมวดอื่น ๆ จะไม่ถูกล็อกโดยรัฐสภา ซึ่งเราทราบดีว่าในรัฐสภามี สว.ที่ไม่ต้องการให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ เรามองว่าการระบุลงไปเลยว่าจะเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ จะเป็นเกราะป้องกัน ทำให้การพูดคุยกันในสภาทำได้ง่ายขึ้น เพราะมีเสียงของประชาชนผ่านการทำประชามติ คอยสนับสนุนอยู่แล้ว
นางสาวภัสราวลี ฝากนายสมคิด ให้นำเรื่องนี้ไปยังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เนื่องจากอยากหารือร่วมกับนายเศรษฐา คำถามประชามติที่ดีนั้นควรเป็นอย่างไร และคำถามที่ได้จะเป็นแบบใด และอยากฝากอีกคำถามว่าที่พวกเราล่ารายชื่อประชาชนที่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมามากถึงสองแสนกว่ารายชื่อ ที่ได้มาด้วยความยากลำบาก ขณะนี้คำถามของประชาชนอยู่ในขั้นตอนใดแล้ว
นายสมคิด กล่าวว่ากรณีที่ยื่นหนังสือเรื่องคำถามการทำประชามติ เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในที่ประชุมของคณะกรรมการฯ พยายามจะบอกเงื่อนไข แต่มีเสียงสะท้อนมาว่า ทำไมต้องมีเงื่อนไข ซึ่งความจริงมีหลายกลุ่มถามเราว่า จะต้องเปิดกว้างในคำถามก่อนหรือไม่ และจะเสี่ยงหรือไม่ ซึ่งเราต้องมอง 2 มุม ดังนั้นเรื่องนี้เรายังคงถกเถียงกันอยู่ ส่วนกรณีเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ ทุกพรรคการเมืองมีความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขอยู่แล้ว ส่วนของ ครม.ยังไม่มีรายละเอียด แต่ในพรรคการเมืองต่าง ๆ มีเป้าหมายตามแต่ละพรรคอยู่แล้ว เราก็ต้องนำมารวมกันว่าต้องเป็นอย่างไรถึงจะเดินหน้าต่อได้
ส่วนเรื่องรายชื่อที่ภาคประชาชนได้ยื่นมาให้กับ ครม. นั้น ตนเองทราบแต่ยังไม่เห็นเรื่อง ซึ่งจะมอบหมายให้เลขานายกรัฐมนตรีตามเรื่องให้ ขณะที่การแก้รัฐธรรมนูญ ตนเองอยากให้ทุกส่วนมั่นใจว่าเราจะแก้ไขรัฐธรรมนูญแน่ แต่ประเด็นยิบย่อย จะเป็นอย่างไรอีกเรื่องหนึ่ง เราจะอยู่กับรัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่ได้ ใครมาเป็นรัฐบาลก็ทำงานยากเพราะติดขัดที่ระบบ ไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาลหรือเป็นฝ่ายค้าน เราต้องร่วมกันแก้ เชื่อว่าฝ่ายค้านและรัฐบาลคงเห็นตรงกันมากขึ้นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่อาจต้องตกลงเรื่องรายละเอียดกันอีกรอบ อยากให้มั่นใจว่าเราแก้แน่นอน
นางสาวภัสราวลี ยังแสดงความกังวลถึงการจัดทำประชามติที่จะใช้คำถามว่า “ ท่านเห็นชอบหรือไม่ให้มีการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยไม่แก้ไข หมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์” ซึ่งเป็นคำถามที่ประชาชนต้องตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง เราจึงห่วงว่าประชาชนที่ไปลงประชามติจะแสดงเจตจำนงในการแก้ไขรัฐธรรมนูญจริงหรือไม่ ก่อนหน้านี้คณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 เชิญภาคประชาชนไปพูดคุย เราเสนอว่าคำถามประชามติต้องเป็นคำถามที่กว้าง และเป็นพื้นฐานที่สุด เช่น ท่านเห็นด้วยหรือไม่ ให้มีการแก้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็เพียงพอแล้ว
หากรัฐบาลตั้งคำถามที่เกิดความสับสน หรือทำให้ประชาชนต้องชั่งใจในจุดยืนทางการเมืองกับการอยากแก้รัฐธรรมนูญ มองว่าจะก่อให้เกิดปัญหามากกว่าการแก้ไขปัญหา การล็อกหมวด 1 หมวด 2 ไว้เช่นนี้ อาจทำให้ประชาชนตั้งคำถามมากขึ้น เหตุใดถึงต้องล็อกหมวด 1 หมวด 2 เอาไว้
“ คาดหวังอย่างยิ่งจะได้เจอนายกเศรษฐา ทวีสิน ในเมื่อนายกไปหลายที่ได้ ขอแค่เพียง 1 คิว เจียดเวลามาเจอ ConforAll เพื่อพูดคุยกันเรื่องคำถามประชามติ รัฐบาลต้องถามความเห็นของคนทุกกลุ่ม ไม่ใช่จะเอาแต่คำถามที่รัฐบาลรู้สึกว่ามีแรงเสียดทานน้อยที่สุด”
นางสาวภัสราวลี กล่าวต่อว่าเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องทำให้ประชามติเกิดขึ้น พวกเราขอเพียงว่ากระบวนการต้องเริ่มได้แล้ว แม้ยังมีข้อถกเถียงอยู่ว่าจะทำประชามติ 2 หรือ 3 ครั้ง แต่เราขอให้คำถามประชามติในขั้นเริ่มต้นไม่ซับซ้อน และเปิดกว้างที่สุด ทั้งนี้นายภูมิธรรม เวชชัย รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่าจะทำประชามติปีละครั้ง รวมทั้งสิ้น 3 ครั้ง เรากังวลว่าประชามติจะเสร็จไม่ทันในรัฐบาลนี้
ส่วนเรื่องงบประมาณปี 2567 ที่ฝ่ายค้านชี้ว่าอาจไม่เพียงพอกับการทำประชามติทั้ง 3 ครั้งนั้น ไม่ใช่ข้ออ้างที่รัฐบาลจะบอกว่าไม่สามารถจัดทำประชามติ และเดินหน้าไปสู่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ เนื่องจากเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลแถลง จำเป็นต้องเร่งแก้ปัญหาอย่างเร็วที่สุด
นายรัชพงษ์ หวังว่าจะได้พูดคุยกับนายเศรษฐา ภายในสิ้นเดือนนี้ หรือก่อนที่ ครม.จะเคาะคำถามประมติ โดยระบุว่าหัวใจเดียวในการทำประชามติคือประชาชน เพราะปากกาอยู่ในมือประชาชน อย่าเพิ่งนึกถึงท่าทีของสภา หรือ สว.ที่กำลังจะจะหมดอายุ เราคาดหวังว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะรับฟังเสียงของประชาชน