‘ถาวร เสนเนียม’ เปิดใจ สาเหตุที่ไม่สมควรลงรับเลือกตั้งนายก อบจ.สงขลา
‘ถาวร เสนเนียม’ เปิดใจ สาเหตุที่ไม่สมควรลงรับเลือกตั้งนายก อบจ.สงขลา อาจเกิดความเสียหาย หากถูกศาลฎีกาพิพากษาให้จำคุก ต้องจัดเลือกตั้งใหม่ เสียเวลา เสียงบประมาณ
วันนี้ (14 ธ.ค. 67) – นายถาวร เสนเนียม อดีต สส.สงขลา เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ‘ถาวร เสนเนียม’ ถึงสาเหตุที่ตนเองไม่สมควรลงรับสมัครเลือกตั้งนายก อบจ.สงขลา ที่กำลังจะมาถึงในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 แม้ว่าจะได้รับการสนับสนุนให้ลงสมัครจากพรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคภูมิใจไทย ทั้งยังได้รับแรงเชียร์จาก ส.อบจ.สงขลา และเพื่อนฝูงญาติมิตรมากมาย ความว่า
“ เรียนพี่น้องประชาชนที่สนใจติดตามการเลือกตั้งนายก อบจ.สงขลาและสื่อมวลชนทุกท่านครับ ตามที่ปรากฏเป็นข่าวในช่วงหลายวันที่ผ่านมาจากหลายสื่อหลายกระแสด้วยกันว่า ผมกำลังจะได้รับ การสนับสนุนจากพรรครวมไทยสร้างชาติและพรรคภูมิใจไทยและได้รับแรงเชียร์จากน้องๆ ส.อบจ.สงขลา ในการ เลือกตั้งนายก อบจ.สงขลารอบหน้า ที่กำลังจะมาถึงในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 หลังจากนั้น ผมเองก็ได้รับโทรศัพท์และได้รับการติดต่อเพื่อขอเป็นรับแรงสนับสนุนจากน้อง ๆ ที่ยังดำรงตำแหน่ง ส.อบจ.สงขลา และที่จะ เป็นผู้สมัคร ส.อบจ.สงขลา ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ซึ่งสังกัดทีมรวมพลังร่วมสร้างสุขที่รวมตัวกันก่อนหน้านี้แล้ว รวมถึงได้รับแรงสนับสนุนจากพี่น้องประชาชนในเขตเลือกตั้งของผมและจากหลาย ๆ เขต ตลอดถึงญาติมิตร พี่น้องเพื่อนฝูง เมื่อได้ทราบถึงกระแสข่าวต่างติดต่อเข้ามาเพื่อให้กำลังใจผม ประหนึ่งเสมือนผมได้ตอบตกลง ที่จะเป็นผู้สมัครลงชิงตำแหน่ง นายก อบจ.สงขลา รอบหน้าจริงแล้ว การตอบคำถามถึงกระแสข่าวข้างต้น
ผมจึง ต้องระมัดระวังถึงความรู้สึกดี ๆ ที่ทุกคนมอบให้ เพราะพี่น้องประชาชนในจังหวัดสงขลาต่างทราบดีว่า สถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันเป็นอย่างไร ตั้งแต่ระดับถ้องถิ่นถึงระดับชาติ ประชาชนต่างคาดหวังที่จะมี ผู้นำท้องถิ่น สมาชิกรัฐสภาและรัฐมนตรีที่มีความซื่อสัตย์สุจริตมาบริหารพัฒนาแก้ปัญหา คิดและทำเพื่อ ประโยชน์ให้ประชาชน ไม่ผูกขาดการเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมืองด้วยอิทธิพลหรือทุนสีเทา ดังนั้น ในการเลือกตั้งนายก อบจ.สงขลาครั้งหน้า ประชาชนชาวสงขลาจึงต้องการที่จะเห็นการเมืองใน รูปแบบที่ใสสะอาด ปราศจากการซื้อสิทธิขายเสียง และปราศจากการใช้อิทธิพลหรือทุนสีเทามาเอารัดเอาเปรียบ ผู้สมัครที่สุจริต ผมเป็นคนหนึ่งที่ต่อต้านการทุจริต และต่อต้านการเลือกตั้งที่มีการใช้อิทธิพลหรือทุนสีเทา มาตลอด และเป็นผู้ที่ไม่เกรงกลัวต่ออิทธิพลใด ในการตอบคำถามของผมจากกระแสข่าวข้างต้นไปบ้างแล้ว บางคนมองว่า ทำไมผมไม่เสียสละมาเป็นผู้สมัครนายก อบจ.สงขลาครั้งหน้า ผมจึงขอใช้พื้นที่ตรงนี้ ชี้แจงที่มา ของการตัดสินใจเข้ามาลงสนามการเมืองดังนี้
1.ในปี 2538 ผมมีอายุ 48 ปี และรับราชการเป็นอัยการจังหวัดกระบี่กับอัยการจังหวัดสงขลาต่อเนื่อง มาหลายปี และประกอบอาชีพทำธุรกิจเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์หลายโครงการ และยังมีโอกาสก้าวหน้าในอาชีพ อัยการ เพราะอายุราชการที่เหลืออีก 12 ปี ผมย่อมสามารถไต่ต้าวเข้าสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้นได้ แต่ด้วยในปี 2534 – 2538 ประเทศไทยเกิดวิกฤติทางการเมืองหลายครั้ง สืบเนื่องจากปัญหาทุจริตคอรัปชั่น และการใช้อำนาจทาง การเมืองโดยมิชอบ ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวพรรคประชาธิปัตย์ได้ยืนหยัดต่อสู้เคียงข้างพี่น้องประชาชน เพื่อต่อสู้ กับวิกฤติเหล่านี้อย่างเหนื่อยยาก ผมเองซึ่งเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์มาตั้งแต่ปี 2511 จึงได้ตัดสินใจลาออก จากตำแหน่งอัยการจังหวัดสงขลา เพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.หวังได้เข้าไปต่อสู้ในสภาร่วมกับ พรรคประชาธิปัตย์ การลาออกจากราชการของผมครั้งนั้น ผมยอมรับความเสี่ยงที่จะตามมาในผลการเลือกตั้งใน ครั้งนั้น แต่พี่น้องประชาชนให้ความไว้วางใจเลือกผมเข้าไปทำหน้าที่ ส.ส. และเลือกผมตลอดมา 7 สมัย โดยที ผมไม่ต้องใช้อิทธิพลหรือใช้เงินซื้อเสียงเพื่อเอาเปรียบคู่ต่อสู้ทางการเมือง ผมเล่นการเมืองโดยวิถีสุจริตตลอดมา พี่น้องประชาชนในเขตเลือกตั้งย่อมทราบดี
2.ในระหว่างที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้าน ผมได้ทำหน้าที่อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีที่มีพฤติกรรม ส่อทุจริต 5 คนทุกสมัยการประชุมสภาผู้แทนราษฎรคืออภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเหล่านี้
1.นายบรรหาร ศิลปะอาชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น
2.นายสุรเกียรติ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในขณะนั้น
3.นายวัน มู หะหมัด นอร์ มะทา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในขณะนั้น
4.นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในขณะนั้น
5.พลตำรวจโท ชัจจ์ กุลดิลก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมในขณะนั้น
และผมเคยเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่ดำเนินการเลือกตั้งไม่สุจริตและไม่เที่ยงธรรม เพื่อเอื้อ ประโยชน์ในการจัดการเลือกตั้งให้พรรคไทยรักไทย ซึ่งเป็นข่าวที่ทุกท่านทราบดีอยู่แล้ว
3.ในระหว่างที่ผมดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยและรัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงคมนาคม ผมได้ทำหน้าที่ฝ่ายบริหารพัฒนาแก้ปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน ตามนโยบายรัฐบาล มีผลงานตามที่ปรากฎ ผมได้ทำการ กำกับบริหารจัดการดำเนินการหน่วยงานภายใต้ภารกิจทั้งหมดด้วยความ สุจริต โดยไม่เคยถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจหรือถูกร้องเรียนถึงพฤติกรรมทุจริตแต่อย่างใด
4.ด้วยประวัติทางการเมืองโดยสังเขปของผมดังกล่าวมา ประกอบกับประชาชนชาวจังหวัดสงขลาและ น้องๆ ส.อบจ.สงขลาจำนวนหนึ่ง อยากให้ นายก อบจ.จังหวัดสงขลาคนต่อไป มาจากผู้มีประวัติทางการเมือง สุจริต มีประวัติการทางานที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทุจริตคอรัปชั่น จึงเป็นที่มาของกระแสข่าวว่า ผมได้รับแรงหนุนให้ ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น นายก อบจ.ครั้งหน้า เพราะที่ผ่านมาประชาชนชาวสงขลาและ ส.อบจ.สงขลา ทุกคน ทราบดีว่า นายก อบจ.สงขลา มีปัญหาถูกตรวจสอบเรื่องการทุจริตคอรัปชั่นต่อเนื่องตลอดมา บางรายถึงขนาด ขัดแย้งกันจนต้องมีการจ้างวานฆ่าฝ่ายผู้เห็นต่าง บางรายก็กำลังรับโทษอยู่ในเรือนจำจากกรณีทุจริตคอรัปชั่น บางรายก็กำลังต่อสู้คดีอยู่ในศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ
5.จากกระแสข่าวที่ผ่านมา ผมจึงขอขอบคุณทุกแรงเชียร์ขอบคุณทุกกำลังใจที่ประสงค์จะให้ผมลง สมัครรับเลือกตั้งเป็น นายก อบจ.สงขลาในครั้งหน้า แต่ผมขอเรียนให้ทราบว่า ด้วยความตั้งใจในทางการเมือง ของผมที่ต้องการเห็นการเมืองใสสะอาดปราศจากการทุจริตคอรัปชั่นนั้น หมายความรวมถึง การละเว้นการ กระทำการที่อาจจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ราชการด้วย ซึ่งทุกท่านทราบดีว่า ช่วงวิกฤติทางการเมืองในปี 2556 – 2557 ผมกับมวลมหาประชาชนทั่วประเทศ ได้ออกมาร่วมชุมนุมต่อต้านการออกกฎหมายล้างผิดคนโกง หรือกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับสุดซอย ออกมาต่อต้านรัฐบาลที่โกงชาติทำร้ายแผ่นดิน จนท้ายสุดผมต้องคำ พิพากษาศาลชั้นต้นให้จำคุก 5 ปี และถูกขังไว้โดยหมายของศาลในระหว่างการขอปล่อยตัวชั่วคราว ทำให้ผม ต้องพ้นจากคุณสมบัติการเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ พ้นจากสถานะความเป็น ส.ส. และพ้นจากตำแหน่ง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ต่อมา ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาลงโทษจำคุกผม 1 ปี และปัจจุบันยังอยู่ ระหว่างการยื่นฎีกาคำพิพากษาในศาลฎีกา
6.แม้ว่าผมจะมีคุณสมบัติการเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นนายก อบจ.สงขลา ตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้ง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 มาตรา 49 , มาตรา 50 และตาม พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วน จังหวัด พ.ศ. 2540 มาตรา 35/1 ก็ตาม แต่ผมเห็นว่า หากผมเป็นผู้สมัคร นายก อบจ.สงขลา ที่ได้รับความ ไว้วางใจจากพี่น้องประชาชนชาวสงขลาต่อไป แต่ถ้าระหว่างการดำรงตำแหน่ง นายก อบจ.สงขลา หากศาลฎีกามีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกในลักษณะเดียวกับศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ ความเสียหายย่อมเกิดกับทางราชการเพราะต้องจัดการเลือกตั้ง นายก อบจ.สงขลาใหม่ อีก
ครั้ง สิ้นเปลือง งบประมาณของ อบจ.สงขลา ประมาณเจ็ดสิบกว่าล้านบาท และทำให้พี่น้องประชาชนต้อง เดือดร้อนออกมาใช้สิทธิกันใหม่ ประกอบกับทีมทนายความที่รับผิดชอบว่าความให้ผม มีความเห็นว่า มีแนวโน้มสูงที่ศาลฎีกาจะพิพากษาว่า ผมกระทำผิดและอาจจะถูกลงโทษตามที่อัยการฟ้อง ผมจึงตัดสินใจไม่สมควรรับเลือกตั้งนายก อบจ.สงขลาครับ
7.ดังนั้น การตัดสินใจของผมไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายก อบจ.สงขลาครั้งหน้าตามที่มีกระแสข่าว จึงไม่ได้เกิดจากความไม่เสียสละ ไม่ได้เกิดจากความกลัวที่จะแพ้การเลือกตั้ง ไม่ได้เกิดจากความกลัวหรือ สมยอมให้กับการทุจริตคอรัปชั่นหรือทุนสีเทา ที่พี่น้องประชาชนหวาดระแวง แต่ผมมองถึงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาผมปฏิบัติตนในแนวทางนี้มาโดยตลอด จะเห็นได้ว่าในการเลือกตั้งใหญ่ที่ผ่านมา ผมสังกัด พรรคไทยภักดี ผมสามารถลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งได้ แต่ผมมีหลักคิดเช่นเดียวกันว่า หากประชาชนให้ความไว้วางใจแล้ว ต่อมาผมต้องถูก
คำพิพากษาให้จำคุก ผมก็ต้องพ้นจากตำแหน่ง ส.ส.แบบ แบ่งเขตเลือกตั้ง ในการเลือกตั้งครั้งนั้น ผมจึงตัดสินใจลงสมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ เพราะหากพ้นจาก ตำแหน่งไปก็สามารถเลื่อนลำดับถัดไปขึ้นแทน โดยไม่ต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ให้สิ้นเปลืองงบประมาณของทาง ราชการ
8.ในการเลือกตั้งนายก อบจ.สงขลา ครั้งหน้า ผมหวังว่าประชาชนชาวจังหวัดสงขลาจะตื่นรู้ว่า ผู้สมัคร รายใดตั้งใจจริงเพื่อพี่น้องประชาชนหรือ ผู้สมัครรายใดอาศัยอิทธิพลหรือทุนสีเทาในการเข้าสู่ตำแหน่ง สำหรับ ผมเองก็จะคอยให้กำลังใจและสนับสนุนผู้สมัครที่มีประวัติดี มีที่มาดี และมีความตั้งใจเข้ามาทำงานเพื่อรับใช้ พี่น้องประชาชน และผมขอเสนอให้ผู้ที่กำลังจะสมัครนายก อบจ.สงขลาทุกคน ให้แข่งขันกันโดยสุจริตเที่ยงธรรม จัดทำนโยบายที่ดีมีประโยชน์มาเสนอให้ประชาชนได้รับทราบ และขอให้สู้กันในกติกาโดยชอบด้วยกฎหมาย ต่อไป
ผมขอขอบพระคุณพี่น้องประชาชนที่ปรารถนาดีต่อผม ต่อการพัฒนา จังหวัดสงขลาให้เจริญก้าวหน้า