POLITICS

‘ศักดิ์สยาม’ เปิดประชุมคณะทำงานด้านการขนส่งของเอเปค ครั้งที่ 52

ศักดิ์สยาม เปิดประชุมคณะทำงานด้านการขนส่งของเอเปค ครั้งที่ 52 (the 52nd APEC Transportation Working Group: TPTWG52) “การขนส่งที่ไร้รอยต่อ อัจฉริยะ และยั่งยืน”

วันนี้ (14 ก.ย. 65) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวเปิดการประชุมคณะทำงานด้านการขนส่งของเอเปค ครั้งที่ 52 (the 52nd APEC Transportation Working Group: TPTWG52) ภายใต้เป้าหมายหลัก คือ การขนส่งที่ไร้รอยต่อ อัจฉริยะ และยั่งยืน”(Seamless, Smart and Sustainable Transportation) เพื่ออำนวยความสะดวกการค้า การลงทุน และฟื้นฟูความเชื่อมโยงด้านการเดินทางและการท่องเที่ยวในเขตเศรษฐกิจเอเปคและระดับโลก โดยมี นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วยผู้แทนหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม และสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปคเข้าร่วมการประชุมฯ ทั้งรูปแบบ Online และ Onsite ในวันที่ 14 กันยายน 2565 ณ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะทำงานด้านการขนส่งของเอเปค ครั้งที่ 52 (the 52nd APEC Transportation Working Group: TPTWG52) ระหว่างวันที่ 14 – 16 กันยายน 2565 ณ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ ภายใต้เป้าหมายหลัก “การขนส่งที่ไร้รอยต่อ อัจฉริยะ และยั่งยืน”(Seamless, Smart and Sustainable Transportation) ซึ่งการประชุมด้านการขนส่งของเอเปค ครั้งที่ 52 มีสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปคเข้าร่วมประชุมทั้งรูปแบบ Online และ Onsite

การประชุมด้านการขนส่งของเอเปคครั้งนี้ ถือเป็นเป็นเวทีสำคัญในการหารือและแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิดเห็นร่วมกันระหว่างกลุ่มผู้เชี่ยวชาญทั้ง 4 สาขา คือ กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการขนส่งทางอากาศ กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบและระบบขนส่งอัจฉริยะ กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการขนส่งทางบก และกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการขนส่งทางน้ำ เพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐานทั้งในมิติบก น้ำ ราง และอากาศ เสริมสร้างความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทานและโอกาสในการเติบโตและฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในยุคหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเน้นการขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามแนวคิด BCG Economy และการใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะเพื่อการขนส่งที่ยั่งยืนในภูมิภาค ซึ่งที่ประชุมได้มีการหารือและรับรองแผนยุทธศาสตร์ด้านการขนส่งของเอเปค ปี 2565 – 2568 (TPTWG Strategic Action Plan 2022 – 2025) ซึ่งจะเป็นกรอบการทำงานและแนวทางในการพัฒนาแผนงานประจำปีและกิจกรรมของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญใน 4 สาขา รวมถึงโครงการต่าง ๆ ในกรอบเอเปคด้านการขนส่ง เพื่อบรรลุตามวิสัยทัศน์ปุตราจายาภายใต้กรอบเอเปค ปี ค.ศ. 2040 ที่มุ่งสร้างเขตเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิกที่เปิดกว้าง มีพลวัต ยืดหยุ่น และสันติสุข เพื่อความรุ่งเรืองของประชาชนและคนรุ่นหลัง

นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมได้จัดแสดงนิทรรศการเพื่อนำเสนอโครงการสำคัญของกระทรวงคมนาคมที่มีส่วนช่วยเสริมสร้างความเชื่อมโยงในเขตเศรษฐกิจเอเปคด้วยตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ที่เชื่อมต่อการเดินทางทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศได้อย่างสะดวก ไทยจึงมีความพร้อมและศักยภาพที่จะเป็นจุดเชื่อมต่อที่สำคัญระหว่างเขตเศรษฐกิจในการเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมขนส่งของภูมิภาค ผ่านการเชื่อมโยงโครงข่ายทางหลวงสายเอเชียที่สามารถเชื่อมโยงไปสู่เพื่อนบ้านบนพื้นทวีปเอเชียได้อย่างสะดวกผ่านการเชื่อมต่อโครงข่ายทางรถไฟในภูมิภาคผ่านเส้นทางรถไฟ ไทย – ลาว – จีน และสามารถเชื่อมต่อไปถึงรัสเซียและยุโรป

การเชื่อมต่อทางอากาศผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของท่าอากาศยานนานาชาติของไทยเพื่อรองรับผู้โดยสารและเที่ยวบินจากทั่วโลก ส่งเสริมให้การเดินทางทางอากาศระหว่างไทยกับสมาชิกเอเปค มีประสิทธิภาพและความหลากหลายมากยิ่งขึ้น รวมถึงการเชื่อมต่อทางน้ำ ซึ่งไทยมีท่าเรือแหลมฉบัง ที่เป็นท่าเรืออันเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการขนส่งสินค้าระดับภูมิภาค และยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับความต้องการในการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศที่เพิ่มมากขึ้น

ในการนี้ กระทรวงคมนาคมได้จัดงานเลี้ยงอาหารค่ำเพื่อรับรองผู้เข้าร่วมการประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญทั้ง 4 สาขา ซึ่งภายในงานมีการสร้างบรรยากาศการบรรเลงเพลงด้วยเครื่องดนตรีไทย การโชว์งานจักสานที่แสดงศิลปะวัฒนธรรมไทยสอดคล้องกับตราสัญลักษณ์การเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย ปี 2565 รวมถึงการแสดงโขนรามเกียรติ์เพื่อสื่อสารถึงความร่วมมือระหว่างกันของเขตเศรษฐกิจเอเปคที่มีความแข็งแกร่งและแน่นแฟ้น

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้กล่าวเปิดตัวและนำเสนอวีดิทัศน์โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย – อันดามัน (Southern Landbridge) ซึ่งจะเป็นเส้นทางเดินเรือใหม่ของโลก เป็นจุดเชื่อมต่อการขนส่งและเศรษฐกิจใหม่ทางทะเลที่เป็น Transshipment การขนส่งสินค้าของภูมิภาค โดยสามารถเชื่อมการขนส่งกับเส้นทางมอเตอร์เวย์ และทางรถไฟ คู่ขนานแนวเส้นทางร่วมกันตามแผนบูรณาการมอเตอร์เวย์เชื่อมต่อแนวเส้นทางรถไฟทางคู่ (MR-MAP) สร้างความเชื่อมโยงระหว่างเขตเศรษฐกิจใน APEC อย่างไร้รอยต่อเพื่อการเปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล (OPEN. CONNECT. BALANCE.)

Related Posts

Send this to a friend