POLITICS

กมธ.ปปง. สรุปผลศึกษาคดีฉ้อโกงหุ้นสตาร์ค มูลค่าเสียหาย 7.5 หมื่นล้าน

ตั้ง 16 ข้อสังเกต จี้ ก.ล.ต. – ดีเอสไอ เหตุอัยการไม่สั่งฟ้อง 1 ราย หลังถูกกันเป็นพยาน ส่อเส้นทางการเงินทุจริต ใช้นอร์มินีซื้อหุ้นผ่านนักร้องดัง

นายเลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล ประธานคณะกรรมาธิการการป้องกันปราบปรามการฟอกเงินและยาเสพติด สภาผู้แทนราษฎร และคณะอนุกรรมาธิการติดตามและศึกษาคดีฉ้อโกง บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) แถลงผลการพิจารณาศึกษาคดีฉ้อโกง โดยระบุว่า คณะกรรมาธิการติดตามผลได้ทำงานเสร็จสิ้นแล้ว และส่งรายงานฉบับสมบูรณ์ โดยผลสรุปทางตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ร้องไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ส่งเรื่องให้อัยการสั่งฟ้อง 11 ราย โดยตั้งข้อสังเกตไว้ 16 ข้อ

คณะกรรมาธิการฯ มีข้อสังเกตว่า ต้องส่งสัญญาณไปยังดีเอสไอ และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ซึ่งมี 1 รายสำคัญ นายชินวัตร อัศวโภคี ที่ถูกกันไว้เป็นพยานและไม่ถูกสั่งฟ้องเด็ดขาด ซึ่งภายหลังมีการซื้อหุ้นบริษัทหนึ่งมูลค่า 650 ล้าน ผ่านนักร้อง จึงอยากตั้งคำถามว่าเหตุใด ปปง.หรือดีเอสไอ ยังไม่ได้ตรวจสอบว่าเงิน 650 ล้าน ที่มีการอ้างว่าเป็นเงินกู้จากสิงคโปร์และเงินส่วนตัว เกี่ยวข้องกับการทุจริตของผู้บริหารหรือไม่

นอกจากนี้ ยังมีการตั้งข้อสังเกตกรณีการไม่ดำเนินคดีกรรมการในฐานะส่วนตัว ทั้ง ๆ ที่มีการดำเนินคดีกับบริษัทดังกล่าวในฐานะนิติบุคคล ผู้แทนกรมสอบสวนคดีพิเศษชี้แจงว่า กรรมการบางคนของบริษัทถูกดำเนินคดีในคดีหลักแล้ว จึงไม่ต้องดำเนินคดีในกรณีดังกล่าวอีก ซึ่งไม่น่าจะถูกต้องเพราะเป็นเรื่องของการกระทำที่อาจเป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระกัน จึงเป็นข้อพิจารณาที่กรมสอบสวนคดีพิเศษไม่ได้ให้ความสำคัญในการมีความเห็นทางคดีในลักษณะเช่นนี้

นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการมองว่าการเสนอให้มีหุ้นกู้ก็ดี เป็นที่เข้าใจได้ว่าการซื้อหุ้นกู้จะไม่มีหลักประกัน แม้ว่าหุ้นกู้เป็นการกู้ยืมเงินที่ชอบด้วยกฎหมายก็ตาม หากพิจารณาถึงลักษณะของการขายหุ้นกู้โดยให้ดอกเบี้ยอัตราที่สูงมีลักษณะเสมือนเป็นการกู้ยืมเงินจากประชาชน หากบริษัทที่ขายหุ้นกู้ไม่ใช่บริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ก็อาจเป็นการกระทำความผิดฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ดังนั้น สำนักงาน ก.ล.ต. จึงควรมีมาตรการแก้ไขปัญหาเพื่อไม่ให้เป็นการสร้างความน่าเชื่อถือโดยไม่มีหลักประกัน และในบางกรณีอาจเป็นการสร้างความเสียหายให้กับประชาชนเป็นจำนวนมาก

สำหรับผู้เสียหายกรณีหุ้นสตาร์คมีประมาณ 20,000 ราย มูลค่า 75,000 ล้านบาท โดยคณะกรรมาธิการหวังว่ารายงานนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการสืบคดีต่อกระบวนการยุติธรรมต่อไป

Related Posts

Send this to a friend