‘รศ.ดร.มุนินทร์’ ชี้ มองในแง่กฎหมาย ‘เศรษฐา’ ต้องรอด เหตุไม่เข้าองค์ประกอบความผิด-ไม่เจตนา

‘รศ.ดร.มุนินทร์’ มองแง่มุมทางกฏหมาย ‘เศรษฐา’ ต้องรอด ไม่พ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เหตุไม่เข้าองค์ประกอบความผิด-ไม่เจตนา และการยื่นคำร้องเป็นเรื่องไร้สาระเหมือนคดียุบพรรคก้าวไกล เห็นปัญหามาจากรัฐธรรมนูญ
วันนี้ (14 ส.ค. 67) ที่ศาลรัฐธรรมนูญ นัดอ่านคำวินิจฉัย กรณีประธานวุฒิสภาส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ นายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่ ในเวลา 15.00 น. ที่ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ
The Reporters คุยกับ รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เห็นว่าถ้าเปรียบเทียบกับคดียุบพรรคก้าวไกล คดีวินิจฉัยให้นายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องไร้สาระทั้ง 2 คดี และไม่ควรเป็นเหตุ หรือเป็นเรื่องตั้งแต่แรก แต่ในกรณียุบพรรคก้าวไกลอาจมีความรู้สึกร่วมที่ไม่ชอบพรรคเพราะมีการกระทำที่ไปกระทบความรู้สึกของคนที่ไม่เห็นด้วย ทำให้ความรู้สึกรุนแรงมาก
ส่วนคดีนายเศรษฐา ทวีสิน ไม่ได้เกี่ยวกับนายกรัฐมนตรีโดยตรง เพราะเกี่ยวกับนายพิชิต ชื่นบาน อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ลาออกไปแล้ว ซึ่งเป็นหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี ที่ต้องตรวจสอบเพราะเป็นผู้เสนอชื่อแต่งตั้งนำขึ้นทูลเกล้าฯ
“ไม่ได้หมายความว่านายกรัฐมนตรีไม่มีความรับผิดชอบใด ๆ ทั้งสิ้น แต่หมายความว่าถ้ามีความผิดพลาด คำถามว่าคำผิดพลาดแบบนี้จะร้ายแรงเพียงพอที่จะทำให้ขาดคุณสมบัติ หรือมีการกระทำที่เป็นข้อห้ามตามรัฐธรรมนูญ ที่ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่ง ซึ่งเมื่อดูที่เหตุว่านายกรัฐมนตรีทำผิดข้อห้ามตามรัฐธรรมนูญ จากมาตรา 170 ว่าความเป็นนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดไป ตามมาตรา 160 (4) และ (5) ซึ่ง (4) เขียนไว้ว่า ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และ (5) ที่ระบุว่าไม่มีการกระทำที่เป็นการฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างเปิดเผย น่าจะเป็นเรื่องใหญ่ในการเล่นงานนายเศรษฐา ในการยื่นไปศาลรัฐธรรมนูญ เพราะการเสนอชื่อ นายพิชิต ชื่นบาน ที่ฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรง ไม่มีการกำหนดไว้ว่ามีเงื่อนไขการกระทำที่เห็นเป็นรูปธรรมได้ชัดเจน ต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความหรือวินิจฉัยเองว่าอะไร เป็นการฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรง ซึ่งการเขียนรัฐธรรมนูญคลุมเคลือ จนต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ”
รศ.ดร.มุนิทนทร์ เห็นว่าการให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการกระทำในลักษณะนี้ จึงไม่ Make Sense เพราะศาลรัฐธรรมนูญต้องวินิจฉัยเองว่าอะไรฝ่าฝืนจริยธรรม โดยให้ศาลรัฐธรรมนูญ 9 คน พิจารณา ซึ่งหากบอกว่าผิด ผู้ถูกกล่าวหาก็ไม่มีสิทธิอุทธรณ์หรือฎีกา เช่นมีคนกล่าวหาว่านายกรัฐมนตรีสั่งย้ายปลัดกระทรวงโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ก็ฟ้องนายกรัฐมตรีตาม ม.157 กฎหมายอาญาไปที่ศาลอาญา ถ้าผิดจำคุกก็มีสิทธิอุทธรณ์และฎีกา ซึ่งมีสิทธิต่อสู้ และมีหลักเกณฑ์ระยะเวลาในการต่อสู้พอสมควร ระบบศาลอาญา และศาลยุติธรรมดีอยู่แล้ว เพื่อให้กล่าวหานายกรัฐมนตรีได้อย่างเต็มที่ ทำให้การเมืองไม่ถูกกระทบมากเกินไป เพราะถ้าร้องกันง่าย แล้ววันนี้ไม่สำเร็จ ก็มีคนไปยื่นเรื่องใหม่ เมื่อเป็นกรณีฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรงไปที่ศาลรัฐธรรมนูญเพียงศาลเดียว จึงเป็นปัญหาของรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (4) และ (5) เป็นการเขียนกฎหมายที่ขุดหลุมไว้ เพื่อจัดการกับนักการเมือง
“หลักการนี้ไม่ควรมี บนฐานที่นักกฎหมายเห็นร่วมกันว่ามีในประเทศไทยเท่านั้น ที่เอาเรื่องจริยธรรมอย่างร้ายแรง มาพิจารณาในศาลรัฐธรรมนูญ โดยไม่ใช่ในศาลยุติธรรม ซึ่งต้องรอให้ศาลพิพากษาถึงที่สุดว่าเขากระทำผิดจริง ซึ่งจะยังไม่พ้นจากตำแหน่ง และทุกเรื่องที่ทำให้นายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งต้องเป็นเรื่องที่พิสูจน์ในศาลยุติธรรมก่อน การเขียนเรื่องนี้ในรัฐธรรมนูญ จึงกลายเป็นสิ่งที่ไม่ปกติ ศาลรัฐธรรมนูญ จึงต้องตีความอย่างแคบที่สุดเพื่อไม่ให้กระทบต่อสิทธิของผู้ถูกกล่าวหาด้วย ไม่ควรก้าวล่วงการวินิจฉัยเสียเอง
ด้วยเหตุนี้เวลาที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การที่นายเศรษฐา เสนอชื่อนายพิชิต จะต้องเป็นเรื่องฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรง ทั้ง ๆ ที่เป็นเรื่องความผิดเล็กน้อยทางเอกสาร และต้องมีองค์ประกอบเรื่องเจตนาด้วย และมีศาลไหนที่ตัดสินแล้วว่านายพิชิต เป็นผู้ขาดคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรี มิเช่นนั้นหน่วยงานคงไม่เสนอชื่อเป็นรัฐมนตรี และผมเชื่อว่านายกรัฐมนตรีคงไม่มีใครอยากถูกถอดถอนจากตำแหน่งเพราะเสนอชื่อไป ส่วนตัวจึงมองว่าไม่เจตนา”
รศ.ดร.มุนินทร์ กล่าวย้ำว่า ถ้าถามในแง่มุมทางกฎหมายล้วน ๆ นายกรัฐมนตรีต้องรอด เพราะไม่เข้าองค์ประกอบการฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรง ไม่เข้าองค์ประกอบไม่ซื่อสัตย์สุจริต ไม่มีเจตนา และอะไรคือการฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรง ผมคิดว่าไม่เข้าองค์ประกอบมาตรา 160 (5) และ (4) เป็นเรื่องที่ต้องใช้กับนายพิชิต มากกว่า และหากการเมืองสามารถให้นายกรัฐมนตรี พ้นจากตำแหน่งได้ง่ายแบบนี้ การเมืองไทยก็เละเทะยิ่งกว่าคดียุบพรรคก้าวไกลเสียอีก
“ถ้ามองในมิติการเมือง ศาลไม่ควรให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นเพราะกระทบเสถียรภาพทางการเมือง ใครอยากมาลงทุนในประเทศที่หัวหน้ารัฐบาล ถูกคนไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งทำให้การบริหารราชการแผ่นดินหยุดชะงัก ส่วนความเป็นไปได้ที่ศาลยกคำร้อง ในทางกฎหมายตามหลักการเชื่อว่าไปไม่ถึงที่จะเอาผิดได้ แต่เหตุผลในทางการเมือง ก็ต้องยอมรับว่ามีเหตุปัจจัยประกอบด้วยว่าจะส่งผลอย่างไร”
รศ.ดร.มุนินทร์ กล่าวทิ้งท้ายว่า แน่นอนว่าคดีของนายเศรษฐา หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกนำไป เปรียบเทียบกับคดียุบพรรคก้าวไกล ว่าจะกลายเป็น 2 มาตรฐานหรือไม่ ซึ่งศาลต้องยอมรับที่จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ ถ้าคำวินิจฉัยไม่ดีเหตุผลไม่หนักแน่น เลี่ยงไม่ได้ ที่จะถูกเปรียบเทียบ