นายกฯ ต้อนรับผู้สำเร็จราชการแห่งเครือรัฐออสเตรเลีย
ย้ำ มิตรภาพไทย – ออสเตรเลีย ที่ใกล้ชิดในทุกระดับ หารือเพื่อผลักดันความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน แลกเปลี่ยนระดับประชาชน และกลาโหม
วันนี้ (14 ก.พ. 67) ภายหลัง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้การต้อนรับกับ พลเอก เดวิด เฮอร์ลีย์ (His Excellency General the Honourable David Hurley AC DSC (Retd)) ผู้สำเร็จราชการแห่งเครือรัฐออสเตรเลีย ในโอกาสเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล
นายกรัฐมนตรี รู้สึกเป็นเกียรติยิ่งที่ได้ต้อนรับผู้สำเร็จราชการแห่งเครือรัฐออสเตรเลียในโอกาสเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ซึ่งถือเป็นการเยือนในระดับผู้สำเร็จราชการฯ ครั้งแรกในรอบ 7 ปี สะท้อนมิตรภาพที่แข็งแกร่งระหว่างไทยกับออสเตรเลีย ทั้งสองประเทศมีการแลกเปลี่ยนการเยือนที่ใกล้ชิดกันในทุกระดับ ซึ่งนายกรัฐมนตรีมีกำหนดการเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน – ออสเตรเลีย สมัยพิเศษ (ASEAN – Australia Special Summit) ที่เมืองเมลเบิร์นในช่วงต้นเดือนมีนาคมนี้ พร้อมทั้งจะได้พบปะภาคเอกชนของออสเตรเลีย เพื่อหารือเกี่ยวกับโอกาสทางธุรกิจระหว่างทั้งสองประเทศ
ผู้สำเร็จราชการฯ ขอบคุณการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากรัฐบาลและประชาชนชาวไทย ยินดีที่ได้เดินทางมายังประเทศไทยอีกครั้ง ชื่นชมความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับออสเตรเลียที่ใกล้ชิดมายาวนานในทุกระดับ โดยเฉพาะในโอกาสพิเศษที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงเจริญพระชนมายุครบ 6 รอบ (72 พรรษา) ซึ่งตรงกับวาระครบรอบ 72 ปี ของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย – ออสเตรเลียเช่นกัน เชื่อว่าความสัมพันธ์ไทย-ออสเตรเลียที่ใกล้ชิดยาวนาน แข็งแกร่งมาก เป็นรากฐานที่สำคัญของความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกัน
โอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือประเด็นความสัมพันธ์และความร่วมมือในภาพรวม ดังนี้
ด้านเศรษฐกิจ นายกรัฐมนตรียินดีต่อรายงานยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สู่ปี ค.ศ. 2040 (Invested: Australia’s Southeast Asia Economic Strategy to 2040) ของออสเตรเลีย ซึ่งมุ่งเน้นเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจระหว่างออสเตรเลียกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงไทย โดยทั้งสองฝ่ายเชื่อมั่นว่า ยุทธศาสตร์นี้จะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญ สนับสนุนการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจระหว่างกัน นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีเห็นว่า ไทยและออสเตรเลียควรเพิ่มพูนความร่วมมือด้านความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งเป็นสาขาที่ทั้งสองฝ่ายต่างมีศักยภาพ ประกอบกับบริบททางภูมิรัฐศาสตร์ในปัจจุบัน โดยนายกรัฐมนตรีประสงค์ให้มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ แนวปฏิบัติ และเทคโนโลยีจากออสเตรเลีย โดยเฉพาะเทคโนโลยีด้านเกษตรกรรม ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรมีความรู้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งผู้สำเร็จราชการฯ เห็นว่า ออสเตรเลียมีความพร้อม และมีมหาวิทยาลัยหลายแห่งที่มีศักยภาพในด้านนี้ จึงยินดีสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน
ด้านการค้าและการลงทุน นายกรัฐมนตรีเห็นว่า ไทยและออสเตรเลียควรร่วมมือกันเพิ่มศักยภาพของความตกลงการค้าเสรีไทย – ออสเตรเลีย (TAFTA) ซึ่งจะสนับสนุนมูลค่าและปริมาณการค้าระหว่างกันให้เพิ่มขึ้นในอนาคตอันใกล้ และในด้านการลงทุน นายกรัฐมนตรีได้เชิญชวนให้นักลงทุนชาวออสเตรเลียพิจารณาเพิ่มพูนการลงทุนในไทย โดยเฉพาะในสาขาเทคโนโลยีอัจฉริยะ และพลังงานสีเขียว ซึ่งรัฐบาลได้สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเติบโต และสนับสนุนด้านนวัตกรรม รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไว้อย่างครอบคลุม โดยเฉพาะในโครงการ Landbridge ซึ่งผู้สำเร็จราชการฯ เห็นว่า การเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน – ออสเตรเลีย สมัยพิเศษ ของนายกรัฐมนตรีพร้อมด้วยภาคเอกชนไทย จะเป็นโอกาสอันดีในการสนับสนุนการลงทุนระหว่างภาคเอกชนของทั้งสองประเทศ
ด้านความร่วมมือด้านการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นสาขาที่ทั้งสองฝ่ายต่างให้ความสำคัญและเห็นพ้องเพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างกันมากขึ้น โดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีระหว่างกัน และกลยุทธ์การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ตลอดจนความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด ยานยนต์ไฟฟ้า ถือเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม และเป็นการสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
ด้านความร่วมมือด้านกลาโหม เป็นเสาหลักสำคัญในความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกัน ทั้งสองฝ่ายยินดีที่ไทยและออสเตรเลียมีส่วนร่วมด้านการทหารที่ใกล้ชิด ทั้งการฝึกร่วม การแลกเปลี่ยนบุคลากร และการฝึกอบรม โดยนายกรัฐมนตรีต้องการเพิ่มพูนความร่วมมือกับออสเตรเลียมากขึ้น โดยเฉพาะความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีด้านการทหารกับออสเตรเลีย ซึ่งทั้งสองฝ่ายเชื่อมั่นว่า ความร่วมมือดังกล่าวจะเป็นรากฐานสำคัญในการเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน ตลอดจนสนับสนุนความพร้อมด้านการทหารของทั้งสองประเทศในการตอบสนองและรับมือกับความท้าทายในอนาคต
ด้านความสัมพันธ์ในระดับประชาชน
- การศึกษา นายกรัฐมนตรีเห็นว่า ไทยและออสเตรเลียยังมีศักยภาพที่จะเพิ่มพูนความสัมพันธ์ในระดับประชาชนระหว่างกันได้อีกมากขึ้น โดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนด้านการศึกษา ซึ่งออสเตรเลียถือเป็นจุดหมายปลายทางอันดับต้น ๆ ที่นักเรียน/นักศึกษาไทยเลือกไปศึกษาต่อ ขณะเดียวกัน ไทยมีโรงเรียนและมหาวิทยาลัยที่มีศักยภาพ ซึ่งทั้งสองฝ่ายพร้อมร่วมกันส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างกันมากขึ้น
- การท่องเที่ยว ทั้งสองฝ่ายยินดีที่กับจำนวนนักท่องเที่ยวระหว่างกัน โดยนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า รัฐบาลให้ความสำคัญต่อการดำเนินมาตรการเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว โดยเฉพาะมาตรการด้านความปลอดภัย และการอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยว นายกรัฐมนตรีหวังว่า ไทยและออสเตรเลียจะร่วมกันพิจารณาความเป็นไปได้ในการเจรจาเพื่อยกเว้นวีซ่าระหว่างกัน ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยนการเดินทางและธุรกิจระหว่างทั้งสองประเทศ พร้อมเชิญชวนนักท่องเที่ยวออสเตรเลียเดินทางมาท่องเที่ยวเชิงสุขภาพยังประเทศไทย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสาขาที่ไทยมีความเชี่ยวชาญ
ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ นายกรัฐมนตรีและภริยาเชิญผู้สำเร็จราชการแห่งเครือรัฐออสเตรเลียและภริยาไปยังโถงกลางตึกสันติไมตรีเพื่อชมการแสดงศิลปะมวยไทย และเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวันเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้สำเร็จราชการแห่งเครือรัฐออสเตรเลียและภริยา ณ ตึกสันติไมตรีหลังนอก