วราวุธ เล่า ประสบการณ์ รักต้องห้าม ที่พ่อบรรหารไม่อนุมัติ รับวาเลนไทน์ หนุนสมรสเท่าเทียม
วันนี้ (14 ก.พ. 65) นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เล่าเส้นทางความรักระหว่างภรรยา คุณสุวรรณา ศิลปอาชา ทางคลิปวีดีโอ ยูทูปชื่อ “Valentine day เส้นทางรัก 28 ปี ที่เกือบไม่ได้แต่งงานกัน พร้อมสนับสนุนสมรสเท่าเทียม”
นายวราวุธ เล่าว่าเหตุที่พ่อบรรหารไม่ด้วยเรื่องแต่งงาน เพราะอยากให้ทำงานการเมืองก่อน อยากให้มีอาชีพที่มั่นคง พร้อมทั้งอยากให้มีคู่ครองที่เป็นคนมีชื่อเสียง ด้านครอบครัวภรรยาก็อยากให้ลูกสาวช่วยธุรกิจที่บ้านก่อน ทำให้คนรอบข้างยิ่งไม่เห็นด้วย แต่ทั้งคู่ก็พยายามพิสูจน์ตัวเองมาโดยตลอด จนมาถึงด่านขออนุญาตพ่อบรรหารแต่งงาน แต่พ่อก็ยังไม่เห็นด้วย พร้อมประกาศไม่ซัพพอร์ทค่าสินสอดใดๆ ถ้าจะแต่งก็แต่งเลย
นายวราวุธ กล่าวว่าไม่ฟังคำคัดค้าน เหมือนยิ่งยุ ยิ่งไม่ฟัง เดินหน้าจัดงานแต่งภายใน1เดือน แหวนเพชรหมั้นก็ยืมเขามา จบงานก็รีบเอาไปคืน มีเพียงเงินก้อนเดียวที่ใช้เป็นค่าใช้จ่ายในงาน โดยในงานมีทั้ง ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านมาร่วมแสดงความยินดี มีอดีตนายกทักษิณ ชินวัตร มาเป็นประธานพิธี มีคนร่วมเป็นสักขีพยานกว่า 4,000 คน แต่ไร้เงาพ่อบรรหาร ซึ่งในช่วงนั้นเกิดเป็นกระแสข่าวใหญ่ลงหนังสือพิมพ์หลายสำนัก ว่านายบรรหารไม่ปลื้มลูกสะใภ้ เมินงานแต่ง มีแต่คุณหญิงแจ่มใส (คุณแม่) เท่านั้นที่เดินทางมาร่วมงานลูกชายและลูกสะใภ้
ทั้งนี้หลังงานแต่งก็ใช้ชีวิตเป็นหัวหน้าครอบครัว ทำงานในตำแหน่งเลขานายกรัฐมนตรี เลี้ยงดูครอบครัวแบบมนุษย์เงินเดือนทั่วไป ไม่มีแม่บ้าน ไม่มีพี่เลี้ยงลูก จนกระทั่ง 3 ปีผ่านไป เข้าไปเจอพ่อบรรหารอีกครั้ง เริ่มสานสัมพันธ์กันใหม่ เข้าหาด้วยเรื่องงาน จนสุดท้ายก็ปรับความเข้าใจกันได้ เพราะพ่อก็รอให้ลูกมาง้อ ต่างฝ่ายต่างถือทิฐิ และพ่อบรรหารก็เห็นแล้วว่าทั้งคู่รักกันจริง อดทนฝ่าฟันพิสูจน์ตัวเองมาหลายบททดสอบ
ทั้งนี้ นายวราวุธกล่าวว่า เหตุที่มาแชร์เรื่องราวความรักในวันนี้เนื่องในโอกาสวันวาเลนไทน์ วันแห่งความรัก ซึ่งก็มีคู่รักหลายคู่ที่สุขสมหวังในการแต่งงาน แต่ก็มีพี่น้องคนไทยคู่รัก LGBTQ กว่า 3,600,000 กว่าชีวิต ที่ยังไม่สามารถจดทะเบียนสมรสได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งนี้ตนและภรรยาพร้อมทั้งพรรคชาติไทยพัฒนา ขอเป็นแรงสนับสนุนการสมรสเท่าเทียม โดยการแก้ไขร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ปพพ. 1448 เพื่อให้คนทุกคนได้ใช้สิทธิที่เท่าเทียมกันอย่างแท้จริง