‘ยุทธพร’ เผย กมธ.ไม่มีอำนาจปัดตกร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ชี้ เป็นเอกสิทธิ์ของสภาฯ
‘ยุทธพร’ เผย กมธ.ไม่มีอำนาจปัดตกร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ชี้ เป็นเอกสิทธิ์ของสภาฯ แนะทำความเข้าใจกฎหมายฉบับนี้ ไม่ได้ช่วยใครเป็นพิเศษ
นายยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาและจำแนกการกระทำเพื่อประกอบการพิจารณาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม กล่าวก่อนการประชุม กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร ถึงความเห็นของ อนุ กมธ.ที่ต้องการให้คณะกรรมการนิรโทษกรรม ควรเป็นบทบาทของฝ่ายนิติบัญญัติว่า เคยได้เสนอเป็นตัวแบบ 2 ทางเลือก คือ
1. ให้เป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร โดยให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการฯ
2. ให้ประธานสภาฯ เป็นประธานคณะกรรมการฯ และประธานวุฒิสภาเป็นรองประธานคณะกรรมการฯ
ทั้งนี้ กมธ.วิสามัญฯ ชุดใหญ่ มีความเห็นที่หลากหลาย ท้ายที่สุดจึงปรับเปลี่ยน และให้น้ำหนักว่ายังคงเป็นของฝ่ายนิติบัญญัติเป็นหลักในการมีบทบาทนำ โดยให้ประธานสภาฯ เป็นประธานคณะกรรมการฯ และนายกฯ หรือรองนายกฯ ที่ได้รับมอบหมายเป็นรองประธานคณะกรรมการฯ โดยมีเหตุผล 3 ประการ คือ
1. ฝ่ายนิติบัญญัติ ถือว่าเป็นอำนาจที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด เพราะมาจากการเลือกตั้ง
2. อำนาจนิติบัญญัติ ประกอบด้วยพรรคการเมืองที่หลากหลายในสภาฯ จึงมีความเป็นกลางและได้รับการยอมรับจากสังคมมากกว่าฝ่ายบริหาร
3. กลไกตรวจสอบและติดตามกระบวนการทำงานของ กมธ.วิสามัญฯ
ทั้งนี้ ได้เสนอไป 2 กลไก คือ กลไกตรวจสอบเชิงประสิทธิภาพ ซึ่งเสนอให้คณะกรรมการฯ ต้องมีเป้าหมายในการทำงานทุก 6 เดือน และเสนอต่อสภาฯ เพื่อพิจารณา เมื่อมีการรายงานแล้ว ไม่บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ จะต้องจัดทำรายงานชี้แจงต่อสภาฯ และเปิดเผยต่อสาธารณะด้วย ส่วนกลไกตรวจสอบความโปร่งใส เสนอให้ สส.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 หรือประชาชน ไม่น้อยกว่า 1,000 คน สามารถเข้าชื่อได้ หากพบว่ามีความไม่โปร่งใส จะต้องจัดทำรายงานสวบข้อเท็จจริงโดยสภาฯ เพื่อเปิดเผยต่อสาธารณะ จึงต้องอาศัยกลไกของฝ่ายนิติบัญญัติในการตรวจสอบคณะกรรมการฯ ชุดนี้
ขณะเดียวกัน ในการประชุม กมธ.ชุดใหญ่วันนี้ จะสรุปข้อเสนอทั้ง 7 ข้อที่อนุ กมธ.เสนอไป แต่ใน กมธ.ชุดใหญ่ต้องพิจารณาในประเด็นต่าง ๆ ว่าจะเดินหน้าอย่างไร เนื่องจากเมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีการเห็นชอบไปเพียง 3 เรื่อง จึงคิดว่า กมธ.ชุดใหญ่จะรับทั้งหมด
ส่วนกรณีเว็บไซต์ของรัฐสภา เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับภาคประชาชน ผลปรากฏว่า มีผู้ไม่เห็นด้วยมากกว่า กมธ.จะปัดตกร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ หรือไม่ นายยุทธพร กล่าวว่า ทั้งร่างของประชาชนและร่างของพรรคการเมืองเป็นเอกสิทธิ์ของสภาฯ ดังนั้น กมธ.วิสามัญฯ ไม่มีอำนาจปัดตกร่างใดทั้งสิ้น แต่หาก กมธ.วิสามัญฯ มีข้อเสนอ จะถูกหยิบไปเสนอต่อสภาฯ ซึ่งสภาฯ ก็มีเอกสิทธิ์ที่จะฟังข้อเสนอหรือไม่ก็ได้ สภาฯ มีเอกสิทธิ์ที่จะนำร่างทั้งหมดมารวมกัน หรือจะไม่เอาร่างกฎหมายใดมาเลย แล้วยกร่างใหม่ทั้งฉบับก็ได้
นายยุทธพร ยังเห็นว่า สภาฯ ควรประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเห็นถึงความสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ และต้องทำความเข้าใจว่าไม่ได้เป็นการช่วยเหลือผู้กระทำผิด หรือยกเว้นความผิด แต่กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้เป็นเรื่องของพรรคการเมือง นักการเมือง แต่เกี่ยวกับสังคมในภาพรวมด้วย เพราะท้ายที่สุดคือเรื่องของความขัดแย้งทางการเมืองในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาของสังคมไทย