ปลัด มท. ย้ำเป้าหมายขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน 15 จังหวัดนำร่อง
ปลัด มท. ย้ำเป้าหมายขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนในพื้นที่ 15 จังหวัดนำร่อง พร้อมขยายผลไปยังทุกภาคส่วนทั่วประเทศ หวังทำให้โลกเกิดความยั่งยืนภายใต้ความร่วมมือกับ UNDP และ EU
วันนี้ (13 มิ.ย. 67) ที่ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปาฐกถาเรื่อง “ความสำเร็จของการนำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ไปปฏิบัติในเชิงพื้นที่ตามโครงการ SDG Localization ใน 15 จังหวัด” ในงานสัมมนา “มุมมองท้องถิ่น : การเสริมสร้างการบริหารจัดการท้องถิ่นและการนำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ไปปฏิบัติในท้องถิ่นของภูมิภาคเอเซียแปซิฟิก” จัดโดยโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ประจำภูมิภาคเอเซียแฟซิฟิก
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยมีเป้าหมายเร่งผลักดันขยายผลการขับเคลื่อน SDGs ทั้ง 17 เป้าหมาย ไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอีก 61 จังหวัด โดยร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด นายอำเภอทั้ง 878 อำเภอ นำ SDGs สู่ประชาชนทั้ง 7,255 ตำบล มากกว่า 75,000 หมู่บ้าน ใน 7,849 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ครอบคลุมทั่วประเทศ และทำงานร่วมกับกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษในกำกับของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
“กระทรวงมหาดไทยและภาคีเครือข่ายมุ่งมั่นจับมือร่วมกันในการทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 ข้อ บรรลุความสำเร็จอย่างยั่งยืน 100% ครบทุกพื้นที่ของประเทศ เพราะเราเห็นว่า SDGs เป็นเรื่องที่สำคัญ โดยต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”
นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่อว่า แม้ทำงานร่วมกับ UNDP และ EU จะมีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณและบุคลากร จึงต้องกำหนดพื้นที่เป้าหมาย 15 จังหวัด แต่กลไกของมหาดไทยในระดับพื้นที่จะทำงานแบบบูรณาการภาคีเครือข่ายเพื่อทำให้ประชาชนทั้ง 76 จังหวัด ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนตามเป้าหมาย SDGs
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า การขับเคลื่อน SDGs ครอบคลุมทั่วประเทศ เกิดจากพิธีลงนามประกาศเจตนารมณ์ “76 จังหวัด 76 คำมั่นสัญญา เพื่อการพัฒนา เพื่อความเท่าเทียม เพื่อความยั่งยืน โลกนี้เพื่อเรา” โดยผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2565 ณ สำนักงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างสิ่งที่ดีให้โลกมีอายุยืนยาว ด้วยรูปแบบวิธีการทำงานที่สำคัญ 4 ประการ ได้แก่
1.การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เริ่มจากผู้ว่าราชการจังหวัด ไปจนข้าราชการและกลไกมหาดไทยในระดับพื้นที่ด้วยการสร้างความตระหนักรู้ ความตื่นตัว หนุนเสริมให้ประชาชนมีความตระหนักรู้ถึงภัยคุกคามด้านต่าง ๆ ทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภัยสงครามประเทศต่าง ๆ และผลกระทบทางเศรษฐกิจ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับชีวิต สร้างภูมิคุ้มกันทางสังคม ทำให้ประชาชนสามารถเผชิญกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ในทุกโอกาส
2. การสร้างเครือข่ายการทำงานระดับหน่วยงาน ด้วยการสร้างทีม 7 ภาคีเครือข่าย เข้าร่วมฝึกอบรมและใช้ชีวิตร่วมกันภายใต้หลักสูตรผู้นำนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูง ทีมจังหวัด ทีมอำเภอ ทีมตำบล และทีมหมู่บ้าน รวมกว่า 300,000 คน เป็นกำลังของสังคมไทยในการพัฒนาทุกมิติ เพื่อเสริมสร้างกระบวนการทำงานร่วมกัน โดยมี War Room เป็นศูนย์อำนวยการและประสานงานกลางการขับเคลื่อนการพัฒนา
3.การสร้างระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ โดยพัฒนาแพลตฟอร์ม ThaiQM มาใข้เป็นเครื่องมือในการบันทึกฐานข้อมูลประชาชน 15 ล้านครัวเรือน จาก 23 ล้านเลขที่บ้านตามทะเบียนบ้าน โดยจำนวนนี้ประมาณ 7-8 ล้านเลขที่บ้านเป็นเลขของสถานที่ราชการ วัด สถานีอนามัย มัสยิด และอีกส่วนเป็นสังคมเมืองในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งจาก 15 ล้านครัวเรือนในแพลตฟอร์ม พบความเดือดร้อนของประชาชนจาก 35 ตัวชี้วัด โดยกระทรวงมหาดไทยจะรับข้อมูลและกำหนดเป้าการพัฒนาอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม
4.การถ่ายทอดส่งต่อแนวทางการพัฒนาไปยังคนรุ่นต่อไป ด้วยการนำตัวอย่างความสำเร็จจากการขับเคลื่อนเป้าหมาย SDGs ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการทำงาน ขั้นตอน วิธีการ รูปแบบ ตลอดจน Best Practice ถ่ายทอดไปสู่ข้าราชการ พนักงาน บุคลากร ตลอดจนนักเรียน นิสิต นักศึกษา และคนรุ่นใหม่ เพื่อเป็นกำลังสำคัญ เป็นพลเมืองที่ดีขับเคลื่อนต่อไปให้เกิดความยั่งยืน
ทั้งนี้ ในระยะเวลาอันใกล้ UN จะนำเอา 165 ตัวชี้วัด (KPIs) ของ SDGs มาเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลของกระทรวงมหาดไทยเพื่อขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมต่อเนื่องร่วมกับทุกภาคีเครือข่ายทุกพื้นที่ของประเทศ และกระทรวงมหาดไทยจะแลกเปลี่ยนตัวอย่างไปยัง UN Thailand เพื่อขยายผลถ่ายทอดความสำเร็จไปยังทุกภาคส่วนทั่วประเทศ ภายใต้ความร่วมมือของกระทรวงมหาดไทย UNDP และ EU
Mr.Christophe Bahuet กล่าวว่า UNDP ศึกษาประสบการณ์ทำงานด้วย Local Lens ทำให้เห็นความมุ่งมั่นตั้งใจของกระทรวงมหาดไทยซึ่งเป็นภาคีเครือข่ายที่สำคัญ และจากการทำงานร่วมกับ 15 จังหวัดนำร่อง SDG Localization สะท้อนให้เห็นความพร้อมของ อปท. และประชาชน ที่สามารถเผชิญการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสถานการณ์อื่น ๆ ที่เราไม่สามารถคาดการณ์ได้ และยังพบว่าการสร้างความเข้มแข็งของความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและประชาชนมีความสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน