‘เท้ง’ ลุกขอหารือก่อนนัดคุย ‘วันนอร์’ ยื่นเงื่อนไขลบชื่อ ‘ทักษิณ’ พ้นญัตติซักฟอก แต่ขออภิปรายพาดพิง
‘เท้ง’ ลุกขอหารือก่อนนัดคุย ‘วันนอร์’ บ่ายนี้ ยื่นเงื่อนไขลบชื่อ ‘ทักษิณ’ พ้นญัตติซักฟอก แต่ขออภิปรายพาดพิง ด้าน ‘วิโรจน์’ แนะประธานสภาฯ ให้นายกฯ พาบิดามานั่งชี้แจง วันอภิปรายด้วย
วันนี้ (13 มี.ค. 68) ในประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 23 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) ที่มี นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานในที่ประชุม นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน ลุกขึ้นหารือเรื่อง การบรรจุญัตติการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ว่า วันนี้ถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสุดท้าย จึงอยากให้มีการหารือในที่ประชุมมากกว่าตอบโต้ผ่านหน้าสื่อเพื่อให้ได้ข้อสรุป และเดินหน้ากระบวนการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ
การหารือในครั้งนี้ไม่ได้ต้องการถกเถียงเรื่องของข้อกฎหมาย แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การใช้อำนาจของทุกคน ต้องมีความรับผิดชอบต่อประชาชน ยืนยันว่ามีการประสานกับประธานสภาฯ ว่าจะหารือร่วมกันในเวลา 13.00 น.ของวันนี้ เพื่อให้เป็นประเด็นที่โปร่งใสและไม่อยากมีข้อครหาต่อประชาชนที่ติดตามการเมืองอยู่
นายณัฐพงษ์ กล่าวถึงหนังสือด่วนที่ประธานสภาฯ ได้ตอบกลับมา โต้แย้งเรื่องความเห็นไม่ตรงกัน และการตีความบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ แต่หนังสือฉบับนี้ได้ลงนามโดยเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จึงอยากขอความชัดเจนต่อประธานสภาฯ ตนเองพร้อมรับผิดรับชอบต่อทุกข้อสงสัยในหนังสือฉบับนี้ นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ตนเองต้องมีความรับผิดชอบทุกอย่างที่เกิดขึ้น ยืนยันว่าเลขาธิการสภาฯ ได้ตอบตามหนังสือที่มีการโต้แย้งมา
นายณัฐพงษ์ จึงถามว่าข้อบกพร่องที่ประธานสภาฯ ได้วินิจฉัยแล้วว่ามีอำนาจในการชี้ข้อบกพร่องในเชิงเนื้อหา ขณะเดียวกันคำตอบของประธานสภาฯ ก็ยินดีให้แก้ไขคำในญัตติ เนื่องจากไม่กระทบกับสาระสำคัญในญัตติ หากฝ่ายค้านยอมปรับตามที่ประธานสภาฯ นำเสนอ จะมีสิทธิเต็มที่ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ โดยไม่ถูกเบรกใช่หรือไม่
นายวันมูหะมัดนอร์ ยืนยันว่า หากอภิปรายตามญัตติ ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ และข้อบังคับก็สามารถอภิปรายได้เต็มที่ ไม่มีใครขัดขวางได้ ยกเว้นการอภิปรายผิดข้อบังคับ อาจมีผู้โต้แย้ง ซึ่งประธานในที่ประชุมต้องให้ความเป็นธรรม อยากให้ที่ประชุมสภาฯ ดำเนินไปได้ด้วยดี เพราะประชาชนทั่วประเทศ อยากรับฟังด้วย ไม่ได้อยากฟังการประท้วงจนสารัตถะของการประชุมมันขรุขระ ความปราถนาสุดยอดคือ การประชุมที่มีเหตุมีผล ไม่มีใครคอยประท้วงทำให้การประชุมดำเนินไม่ดี
นายณัฐพงษ์ กล่าวตอบว่าตามข้อบังคับระบุไว้ชัดเจนว่าฝ่ายค้านสามารถอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยกล่าวถึงชื่อบุคคลภายนอกได้ หากไม่ได้สร้างความเสียหาย แต่หากสร้างความเสียหาย ผู้อภิปรายต้องรับผิดชอบเอง แต่ที่ผ่านมาประธานสภาฯ ระบุว่า ไม่ให้ใส่ชื่อนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีในญัตติ เพราะประธานสภาฯ เสี่ยงถูกฟ้องร้องเอง ดังนั้นหากฝ่ายค้านยอมปรับ หมายความว่าสามารถพูดชื่อใครก็ได้ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยที่ฝ่ายค้านเป็นผู้รับผิดชอบเอง ประธานสภาฯ ยืนยันตามนี้ใช่หรือไม่
นายวันมูหะมัดนอร์ โต้กลับว่า ประเด็นของที่ประชุมนี้ไม่ได้หมายความว่า ผู้พูดจะต้องรับผิดชอบผู้เดียวเท่านั้น แต่ผู้ที่เป็นประธานในที่ประชุมหากไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับ ก็จะถูกตำหนิและเดินหน้าต่อไปไม่ได้ ตนเองยินดีหากไม่เอ่ยชื่อบุคคลภายนอก พูดตรง ๆ บุคคลภายนอกไม่ได้หมายถึงนายทักษิณ อาจเป็นคนอื่น ก็ไม่สามารถอภิปรายได้ ทั้งนี้การอภิปรายไม่ไว้วางใจตาม มาตรา 151 เป็นการอภิปรายคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ หรือรัฐมนตรีรายบุคคล หากในญัตติบรรจุชื่อคนภายนอก จะดำเนินการประชุมไม่ได้ แต่ในการอภิปรายบุคคลดังกล่าวเกี่ยวโยงอย่างไร หากเป็นเช่นนี้พูดได้ บางครั้งอาจไม่ต้องพูดชื่อก็รู้ได้ ประท้วงไม่ได้ ตนเองไม่ได้แนะนำ แต่อยากให้การประชุมเป็นไปด้วยดี
นายณัฐพงษ์ กล่าวต่อว่าการประท้วงเป็นสิทธิของ สส.หากเอ่ยชื่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่อีกฝ่ายไม่เห็นด้วย ก็มีสิทธิที่จะประท้วงอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ฝ่ายค้านไม่อยากเห็น คือการประชุมที่ประธานสภาฯ วางตัวไม่เป็นกลาง โดยหนังสือที่ได้ตอบกลับมา ระบุชัดเจนว่า การอภิปรายของ สส.ที่เป็นเหตุให้บุคคลอื่นได้รับความเสียหาย สมาชิกผู้นั้นต้องเป็นผู้รับผิดชอบผลแห่งการกระทำนั้นเอง
สำหรับการไม่บรรจุญัตตินั้น อยู่ที่ถ้อยคำในญัตติเป็นอำนาจของประธานสภาฯ แต่เราตีความต่างกัน ฝ่ายค้านเห็นว่าประธานสภาฯ ไม่มีอำนาจวินิจฉัย เนื้อหาสาระของญัตติ จึงยังบรรจุไม่ได้ หากฝ่ายค้านยอมปรับเนื้อหา ประธานสภาฯ จะต้องยึดตามข้อบังคับ การอภิปรายบุคคลภายนอกสามารถทำได้ ฝ่ายค้านจะเป็นผู้รับผิดรับชอบการกระทำนั้นเอง โดยที่ประธานสภาฯ ต้องไม่ใช้อำนาจขัดขวางการอภิปราย
นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวโต้ว่า ตนเองก็เคยใช้วาจาแบบนี้ในสภาฯ สด ๆ เลยในสมัยการประชุมที่แล้ว แต่ขณะนั้นประธานในที่ประชุมบอกว่า การเอ่ยชื่อบุคคลภายนอก ประธานสภาฯ ต้องรับผิดชอบด้วย โดยเฉพาะเรื่องกติกา หากไม่มีผู้ประท้วงก็ปล่อยได้ แต่หากมีผู้ประท้วงก็ต้องวินิจฉัยในข้อบังคับ จะมาบอกว่าให้ประธานสภาฯ รักษาสัญญาว่าไม่ให้ห้าม ฝ่ายค้านจะรับผิดชอบเอง ถ้าเป็นเรื่องส่วนตัวทำได้ แต่ในห้องประชุมประธานสามารถทักท้วงได้ หากสมาชิกคนอื่นทำผิดกติกาตนเองก็ท้วง หากนายกรัฐมนตรีทำ ตนเองก็จะทักท้วง ขอเรียนด้วยความสุจริตใจ เราจะพูดล่วงหน้าไม่ได้ เพราะกติกามีหลายข้อ ถ้ายินดีจะแก้ญัตติก็ขอให้แก้อยู่ในกติกา
นายวันมูหะมัดนอร์ ยืนยันว่าตนเองไม่ใช่ประธานสภาฯิคนแรกที่ให้แก้ไขคำในญัตติ ตนเองอยู่ในสภาฯ มา 40 ปี สมัยนายชวน หลีกภัย เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ปี 2545 ก็มีการขอให้กลับไปแก้ไขคำในญัตติ ซึ่งนายชวนไม่ได้เห็นว่าญัตติของตนเองบกพร่อง แต่ได้แก้ไขบางส่วนเพื่อให้การประชุมดำเนินไปได้ มีหนังสือยืนยันและตัวของนายชวน เองก็ยังอยู่
“ผมยืนยันว่าไม่มีอคติเลย เราเคยคุยกัน แต่หากจะแก้คำในญัตติ ผมก็ยินดี ท่านอาจไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของผม แต่ผมอยากใช้วิธีของผู้อาวุโสในการร่วมมือ ไม่มีใครแพ้หรือชนะ ผู้ชนะคือประชาชน” นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าว
ด้าน นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน กล่าวว่าตนเองเข้าใจความกังวลเรื่องนี้ ซึ่งก็ควรจะให้ความร่วมมือกันเพื่อให้การประชุมดำเนินไปได้อย่างเรียบร้อย ตนเองก็คิดว่าคงจะต้องมีการหารือกัน ตนเองเข้าใจความกังวลของประธานสภาฯ ว่าการอภิปรายถึงบุคคลภายนอก ก็อาจจะต้องเปิดพื้นที่ให้กับคนภายนอกได้เข้ามาชี้แจงด้วย
นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ มาตรา 151 ต้องเป็นเรื่องของฝ่ายค้าน สมาชิกกับคณะรัฐมนตรี (ครม.) เท่านั้น จะเอาบุคคลภายนอกเข้ามา มองว่าไม่มีข้อบังคับตรงไหนให้นำเข้ามา นายวิโรจน์ กล่าวต่อว่าตนเองก็อยากจะเสนอแนะเพื่อที่จะให้ประธานสภาฯ สบายใจว่าตามข้อบังคับข้อที่ 76 สามารถอนุญาตให้นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีเอาบุคคลภายนอกเข้ามาชี้แจงได้เพื่อความสบายใจ เพื่อความเป็นธรรมของนายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งประธานสภาฯ เพียงแค่ต้องทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีว่าท่านอนุญาตให้นายกรัฐมนตรีพาบิดาเข้ามานั่งชี้แจงร่วมด้วย ก็จะเป็นธรรมทั้งนายกรัฐมนตรีและนายทักษิณ และคลายความกลัว ความระแวงของประธานสภาฯ ลง