‘โรม’ แถลงหลังประชุม กมธ.มั่นคงฯ ชี้ ท่าข้าม 59 แห่งคือจุดสำคัญในการปราบคอลเซ็นเตอร์

‘โรม’ แถลงหลังประชุม กมธ.มั่นคงฯ ชี้ ท่าข้าม 59 แห่งคือจุดสำคัญในการปราบคอลเซ็นเตอร์ ขณะที่ สมช. เห็นพ้อง อาจเป็นจุดที่กระทบความมั่นคง จ่อลงพื้นที่ 16 ก.พ.นี้ เร่งหน่วยงานจังหวัด แจงที่มาของท่าข้าม
วันนี้ (13 ก.พ. 68) ที่อาคารรัฐสภา นายรังสิมันต์ โรม สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร แถลงภายหลังประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับแก้ไขปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ว่า ประเด็นปัญหาที่เน้นย้ำในวันนี้ ไม่ใช่แค่การตัดไฟฟ้า อินเทอร์เน็ต และน้ำมัน แต่ตนพบว่าสิ่งหนึ่งที่มีการเอื้ออำนวยให้กับเหล่าแก๊งคอลเซ็นเตอร์ คือท่าข้าม 59 แห่ง ซึ่งจังหวัดตาก มีมากที่สุดในประเทศประเทศไทย เพราะในภาคใต้ มี 6 แห่ง ซึ่งประเทศมาเลเซียสั่งการปิดไปเรียบร้อยแล้ว
นายรังสิมันต์ กล่าวต่อว่า การที่เราให้ความสำคัญในเรื่องท่าข้าม แม้ว่าจะมีสิ่งที่ถูกกฎหมายข้ามไป แต่ก็มีสิ่งผิดกฎหมายต่างๆ รวมไปด้วย จากข้อมูลที่ตนได้รับมา มีการส่งสินค้าจากจังหวัดตากไปฝั่งเมียวดี ผ่านทางท่าข้ามกว่า 60% รวมถึงสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้ให้ข้อมูลกับตนว่า การเปิดท่าข้าม ต้องมีความจำเป็น และเปิดแค่ชั่วคราว แต่ทั้ง 59 ท่า เปิดกันมาเป็นระยะเวลานาน และเปิดเพิ่ม 9 ท่า ตั้งแต่โควิด และไม่มีข้อมูลว่ามีท่าใดเคยถูกปิดมาก่อนเลย ตนเห็นว่าท่าข้ามเหล่านี้เป็นปัญหาที่สำคัญ การเปิดมีความถูกต้องตามกฏหมายมากน้อยเพียงใด ซึ่งในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ คณะกรรมาธิการฯ สมช. และให้ทางจังหวัดเตรียมข้อมูล และจะมีการพื้นที่ตรวจสอบวัตถุประสงค์ในการเปิด แล้วตั้งใจเปิดนานแค่ไหน ซึ่งตนได้รับความเห็นจาก สมช. ว่า การค้าขายระหว่างชายแดนอยากให้มีการดำเนินการผ่านจุดผ่านแดนถาวร แต่ถ้าเป็นท่าข้ามก็จะมีช่องโหว่ของกฎหมาย
นอกจากนี้ ยังพบข้อเท็จจริงว่า เจ้าหน้าที่กรมศุลกากร ต้องรับผิดชอบดูแลความมั่นคง การป้องกันการลักลอบ 3-5 ท่าต่อคน ซึ่งนอกจากนี้ตนเข้าใจมาตลอดว่าท่าข้ามรับผิดชอบโดยกระทรวงมหาดไทยมา แต่วันนี้ทราบว่าอำนาจในการรับผิดชอบเปิด ปิด คืออธิบดีกรมศุลกากร โดยศูนย์สั่งการจังหวัดและหน่วยความมั่นคงเป็นเพียงผู้ให้ข้อมูลเท่านั้น ซึ่งสภาพความมั่นคงแห่งชาติ ก็ให้ความเห็นอย่างชัดเจน ว่า ท่าข้ามเหล่านี้จะกระทบกระเทือนต่อความมั่นคง เพราะอาจจะใช้ส่งเสริมเกี่ยวกับการทำคอลเซ็นเตอร์
อย่างไรก็ตาม ซึ่งวันที่ 16-17 กุมภาพันธ์ 2568 คณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ จะเชิญสภาความมั่นคงแห่งชาติ ไปร่วมลงพื้นที่เพื่อหาแนวทางยั่งยืนในการปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เบื้องต้นวันที่ 16 ลงที่จังหวัดตาก วันที่ 17 ลงพื้นที่พิษณุโลก และพูดคุยกับกองทัพภาคที่ 3 ในแนวนโยบายต่อไป