POLITICS

‘เพนกวิน’ ชูม็อบเป็นมาตรวัดชีพจรประชาธิปไตย

‘เพนกวิน’ ชูม็อบเป็นมาตรวัดชีพจรประชาธิปไตย ปลุกเยาวชนเป็นกระบอกเสียงสู่การเปลี่ยนแปลง ซัดผู้มีอำนาจย่ามใจใช้ความรุนแรงเพราะนิรโทษกรรมได้ ลั่น “46 ปีแล้วยังไม่รู้ใครสั่งการ”

วันนี้ (12 ต.ค. 65) พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน นักกิจกรรม ร่วมเสวนาหัวข้อ “46 ปี 6 ตุลา” จัดโดยองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) ณ ลานจักรพงษ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พริษฐ์ มองว่า การชุมนุมของนิสิตนักศึกษาในช่วงเหตุการณ์ตุลาล้วนนำโดยนิสิตนักศึกษาเป็นหลัก แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ทำให้ขบวนการนักศึกษาถูกทลายลงไปพอสมควร การชุมนุมหลังจากนั้นจึงมักเป็นการชุมนุมของผู้ใหญ่มากขึ้น

“6 ตุลา ผ่านมาปีนี้ปีที่ 46 เรายังไม่ลงตัวเลยว่าใครเป็นผู้สั่งการ ยังไม่ต้องพูดถึงเลยว่ารู้แล้วแล้วจะดำเนินการอย่างไรต่อ จะขึ้นโรงขึ้นศาลอย่างไร ก็มีการนิรโทษกรรมในปี 21 จนเป็นบรรทัดฐานในการใช้ความรุนแรงทางการเมือง ผู้มีอำนาจจึงย่ามใจสั่งการได้เรื่อย ๆ”

ขณะเดียวกัน พริษฐ์ เทียบเคียงการชุมนุมในเดือนตุลากับปัจจุบันว่า พื้นฐานสังคมในยุคเดือนตุลากับปัจจุบันแตกต่างกัน ความเชื่อมโยงระหว่างนักศึกษากับมวลชนก็น้อยลงไป การต่อสู้ในปัจจุบันจึงมักจะเป็นการต่อสู้ในเรื่องปัจเจกและอัตลักษณ์มากขึ้น โดยปราศจากขบวนการจัดตั้งทางความคิดเฉกเช่นอย่างที่เคยมีในรูปแบบของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

“การมีการชุมนุมอย่างสม่ำเสมอเป็นมาตรวัดชีพจรประชาธิปไตย เพราะเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงความเห็นนอกระบบ แต่การชุมนุมในประเทศไทยกลับไม่ค่อยปกติ มักมีผู้มีบารมีเหนือรัฐธรรมนูญเข้ามาแทรกแซงอยู่เสมอ หรือจงใจไม่อยากให้ประชาธิปไตยเป็นทางออก”

พริษฐ์ ยกถึงความสำคัญของบทบาทนิสิตนักศึกษาต่อขบวนการชุมนุมได้ว่า นักเรียน นิสิต นักศึกษา สามารถเป็นกระบอกเสียงได้อย่างการตั้งเวทีปราศรัยในการชุมนุมเมื่อปี 63 ซึ่งจะพบว่าเนื้อหาล้วนเกี่ยวข้องกับความไม่เป็นธรรมในสังคม ตลอดจนเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาต่อไปตามจังหวะและสถานการณ์

Related Posts

Send this to a friend