POLITICS

สว.เทวฤทธิ์’ กระทุ้งรัฐบาลเร่งร่างรัฐธรรมนูญใหม่

สว.เทวฤทธิ์’ กระทุ้งรัฐบาลเร่งร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ย้อนปมการเมืองเป็นปัญหาเร่งด่วน-ไร้ประชาชนในสมการ เรียกร้องรัฐบาลรับฟังการแก้รัฐธรรมนูญจากภาคประชาชน

วันนี้ (12 ก.ย. 67) ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณาการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา นายเทวฤทธิ์ มณีฉาย สมาชิกวุฒิสภา (สว.) กลุ่มสื่อสารมวลชน อภิปรายนโยบายการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลว่า นโยบายการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนของรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตรไม่ใช่นโยบายเร่งด่วน แต่ขณะที่รัฐบาลก่อนหน้าของ นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ได้บรรจุเป็นนโยบายเร่งด่วน จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด จึงเกิดคำถามว่ารัฐบาลของ นางสาวแพทองธารจะเริ่มจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่กี่โมง และจะจัดทำแบบใด

นโยบายของรัฐบาลแพทองธารที่ระบุว่า “ประเทศไทยเผชิญกับความไร้เสถียรภาพทางการเมืองมาอย่างยาวนานอันเป็นผลจากการรัฐประหาร ความขัดแย้งแบ่งขั้วที่รุนแรง รวมถึงการถอดถอนรัฐบาลออกจากอำนาจในแบบที่คาดเดาไม่ได้” สะท้อนผ่านการถอดถอนนายเศรษฐา ฐานผิดจริยธรรมที่เป็นผลมาจากประมวลจริยธรรมที่ถูกกำหนดโดยองค์กรอิสระและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่ทั้งกำหนดมาตรฐานจริยธรรมเองและวินิจฉัยเอง จนมาถึงช่วงเวลาหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ที่การจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้คำนึงตามความต้องการของประชาชนและนโยบายที่หาเสียงไว้ แต่กลับต้องมาคัดกรองบุคคลว่าจะถูกร้อง หรือจะผ่านมาตรฐานศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ ทั้งหมดนี้สะท้อนว่าประชาชนหายไปจากสมการในการจัดตั้งรัฐบาล

เมื่อย้อนกลับไปยังมีการยุบพรรคการเมืองแกนนำฝ่ายค้านที่ได้รับเลือกมาเป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งพรรคดังกล่าวก็มีสมาชิกพรรค มีประชาชนสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง ทั้งนี้ การหาเสียงในประเด็นการแก้ไขกฎหมายเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมในระบอบประชาธิปไตยอย่างชัดเจน ตนเองไม่ได้จะบอกว่าจะปกป้องพรรคการเมืองหรือนักการเมือง แต่โทษยุบพรรคควรปรับเปลี่ยนเป็นแนวทางอื่น

ตลอดช่วงปีที่ผ่านมาประชาชนหายไปจากสมการ ซึ่งเมื่อพิจารณาผลการเลือกตั้ง สส. บัญชีรายชื่อ เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ตนเห็นความหวังและความฝันของประชาชนว่าต้องการรัฐบาลแบบใด โดยทั้งหมดที่กล่าวมานี้ เป็นปัญหาของรัฐธรรมนูญซึ่งเป็น “ปัญหาเร่งด่วน” ตนเองจึงขอฝากคำถามถึงรัฐบาลว่าจะแก้รัฐธรรมนูญเมื่อใด และหากจะแก้ด้วยการลงประชามติ คำถามประชามติจะเป็นคำถามเชิงซ้อนหรือไม่ เป็นไปได้หรือไม่ที่จะแยกคำถามย่อยเพื่อให้ตรงตามความต้องการของประชาชนมากที่สุด และจะมีองค์กรที่จัดทำรัฐธรรมนูญแบบใด

ทั้งนี้ตนเองต้องการ Road map ในการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ของรัฐบาล และเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณารับฟังข้อเรียกร้องเรื่องรัฐธรรมนูญของภาคประชาชน และท้ายที่สุดจะเป็นไปได้หรือไม่ที่สภาฯ จะริเริ่มแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราไปพลางคู่ขนานไปก่อนระหว่างรอการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่

Related Posts

Send this to a friend