POLITICS

อาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬาฯ เผยข้อมูล-ข้อแนะนำที่ควรทราบก่อนเข้าคูหา 14 พ.ค. 66

ดร.ปกรณ์ ศิริประกอบ คณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงความสำคัญของการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรปี 2566 ซึ่งหลายคนรู้สึกถึงห้วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงและความหวังว่า บริบทโลกในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงฉับไวและซับซ้อน เราต้องการตัวแทนที่เข้ามาแก้ไขและจัดการปัญหาที่ไม่เคยเจอมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเศรษฐกิจ การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังไม่หมดไป การก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภัยธรรมชาติ ฝุ่น PM 2.5 จึงต้องการคนที่มีภาวะผู้นำและศักยภาพในการฟันฝ่าหาทางออกอย่างสร้างสรรค์

ดร.ปกรณ์ ให้ความเห็นไว้อย่างน่าสนใจว่า จากข้อมูลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปี 2562 พบผู้มาใช้สิทธิ 38 ล้านคนจากจำนวนผู้มีสิทธิ 51 ล้านคน (คิดเป็นร้อยละ 74.87 ของผู้มีสิทธิทั้งหมด) ในขณะที่ปีนี้จะมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีจำนวน 52 ล้านคน อีกทั้งปีนี้คาดว่าจะมีผู้มาใช้สิทธิมากขึ้น ซึ่งนอกจากเพราะจำนวนผู้มีสิทธิเพิ่มขึ้นแล้ว ยังมาจากปัจจัยสำคัญ 3 ประการ ประกอบไปด้วย

1.คนไทยมีความเข้าใจและตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น และเห็นว่าการเลือกตั้งเป็นเครื่องมือสำคัญในการได้มาซึ่งคนที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาและพัฒนาประเทศ

2.รูปแบบการหาเสียงทุกวันนี้แตกต่างจากแต่ก่อน โดยเฉพาะการหาเสียงออนไลน์ ทำให้ผู้มีสิทธิเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น ทำให้ผู้สมัคร ส.ส. สามารถเข้าถึงผู้มีสิทธิได้ง่ายกว่าในอดีต

3.การเลือกตั้งครั้งนี้มีการบริหารจัดการให้กลุ่มผู้พิการและผู้สูงอายุ ทำให้สะดวกมากกว่าครั้งที่ผ่านมา มีการเปิดหน่วยเลือกตั้งพิเศษสำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการเพิ่มขึ้นรวม 28 แห่ง ใน 23 จังหวัด

ดร.ปกรณ์ ยังตั้งข้อสังเกตว่า ในอดีตรูปแบบการหาเสียงเลือกตั้งจะเน้นตัวผู้สมัครหรือพรรคการเมือง น้อยคนจะสนใจนโยบายของพรรคการเมืองอย่างจริงจัง แต่ในขณะนี้ผู้คนจะสนใจนโยบายต่าง ๆ ของพรรคการเมืองมากขึ้น

“ในการหาเสียง แต่ละพรรคเน้นชูนโยบายที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น เห็นได้จากป้ายหาเสียงที่นำเสนอนโยบายที่เข้าใจง่าย จับต้องได้ มากกว่าการเน้นที่ตัวผู้สมัครหรือพรรคการเมืองเหมือนในอดีต สิ่งนี้สะท้อนว่าคนมองปัญหาและสนใจการแก้ไขของแต่ละพรรคมากขึ้น เข้าใจว่าเป็นการเลือกตั้งเป็นการหาผู้นำและตัวแทนเข้าไปแก้ปัญหาสังคม มากกว่าการเลือกแค่คน หรือพรรคการเมืองที่ชอบเหมือนครั้งอดีตที่ผ่านๆ มา” ดร.ปกรณ์ กล่าว

ดร.ปกรณ์ ให้หลักคิดในการเลือกผู้แทนและพรรคการเมืองว่า ให้หาข้อมูลว่าใคร พรรคการเมืองใด สนใจแก้ไขปัญหา หรือจะพัฒนาเรื่องที่ตรงกับใจเรา ข้อเสนอที่จะแก้ไขและพัฒนานั้นทำให้เกิดขึ้นจริงได้หรือไม่ในระยะเวลา 4 ปี และที่สำคัญสุดคือ คนนั้น พรรคนั้น เคยลงมือทำ หรือได้แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการผลักดันให้เกิดขึ้นจริง หรือมีผลงานความสำเร็จหรือไม่ในอดีตที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ในการเลือกตั้ง ส.ส. ปี 2566 นี้ มี 3 เรื่องใหม่ที่ผู้มิสิทธิเลือกตั้งควรต้องใส่ใจ โดบ ดร.ปกรณ์ แจกแจง ดังนี้

1.การแบ่งเขตเลือกตั้งแบบใหม่
แม้จำนวน ส.ส. ในสภายังคงจำนวน 500 คน เท่าเดิม แต่การแบ่งเขตแบบใหม่ ทำให้จำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขตมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากเดิมในปี 2562 มีจำนวน ส.ส.เขต 350 คน เป็น 400 คน ส่วน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อลดลงเหลือเพียง 100 คน

2.บัตรเลือกตั้งมี 2 ใบ เลือกคนกับเลือกพรรค
หมายเลขผู้สมัครรับเลือกตั้งกับหมายเลขพรรคการเมือง ไม่ใช่เบอร์เดียวกันที่ผ่านมา ต้องจำหมายเลขผู้สมัครรับเลือกตั้งและหมายเลขพรรคการเมืองให้แม่นยำ เพราะเมื่อเข้าคูหาไปแล้วไม่สามารถออกมาดูได้อีก

3.การเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตที่มีสิทธิ
แต่เดิมทำได้เฉพาะนอกเขตที่อยู่อาศัยของตนเท่านั้น แต่ครั้งนี้ สามารถเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตที่ตัวเองมีสิทธิได้

อย่างไรก็ตาม ในทัศนะของ ดร.ปกรณ์ มองว่าการนับคะแนนรูปแบบใหม่นี้ ช่วยให้ประชาชนตัดสินใจเลือกได้ง่ายกว่าการเลือกตั้งปี 2562 ที่มีบัตรเลือกตั้งเพียงใบเดียว สามารถเลือกคนในพื้นที่ที่ทำงานในพื้นที่จริง ๆ ได้ ส่วนหลักการนับคะแนนนั้น ของปี 2562 ที่มีบัตรใบเดียว เน้นให้ค่ากับทุกคะแนน หรือที่เรียกว่าคะแนนเสียงไม่ “ตกน้ำ” เนื่องจากถ้าคนที่ 1 เป็นผู้ชนะ คะแนนของคนที่เหลื่อ จะถูกนับเป็นคะแนนรวมไปในคะแนนของพรรคด้วย แต่การเลือกตั้งในปีนี้ คะแนนของคนที่ได้อันดับ 2 ลงไปจะไม่ถูกนำมานับรวมอีก

ในการนับคะแนนของ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อมีการปรับสูตรการคำนวณใหม่ โดยจะนำจำนวนคะแนนบัตรเลือกพรรคการเมืองมาหาร 100 ที่นั่ง จะได้คะแนนเฉลี่ยของ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ 1 คน เช่น มีคนมาลงคะแนนบัตรเลือกตั้งพรรคการเมืองทั้งหมด 40 ล้านคน หารด้วย 100 ได้เท่ากับ 400,000 หมายความว่าจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน จากทุก ๆ 400,000 คะแนนที่ได้ และถ้ายังไม่ครบ 100 ที่นั่ง จะย้อนมาดูที่จุดทศนิยม ถ้าพรรคใดมีจุดทศนิยมสูงสุดจะได้ที่เพิ่ม 1 ที่นั่งก่อน เช่น พรรค A ได้คะแนน 10.8 พรรค B ได้ 8.5 พรรค C ได้ 0.7 ตามคะแนนนี้ พรรค A จะได้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อเพิ่มมา 1 คน ต่อด้วยพรรค C ได้เพิ่มมาอีก 1 คน แล้วจึงตามด้วยพรรค B ตามลำดับ

สำหรับการเตรียมตัวในการเลือกตั้งปี 2566 ดร.ปกรณ์ ได้แนะนำให้ผู้สิทธิ์เลือกตั้งเตรียมบัตรอะไรก็ได้ที่ออกโดยหน่วยงานภาครัฐที่มีรูปถ่ายและเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักปรากฏ เช่น บัตรประชาชน ใบขับขี่ หนังสือเดินทาง หรือบัตรประจำตัวคนพิการ จากนั้นวางแผนให้มีเวลา 1 ชั่วโมงในวันเลือกตั้ง ระหว่างช่วงเวลา 8.00 น. ถึง 17.00 น. โดยการเลือกตั้งทุกวันนี้สะดวกมากขึ้น หน่วยเลือกตั้งอยู่ใกล้บ้านของผู้มีสิทธิมากกว่าเดิม ศึกษากติกาการเลือกตั้งให้ดี จำหมายเลขแม่น เพราะเราเข้า-ออกคูหาเลือกตั้งได้แค่ครั้งเดียว

ทั้งนี้ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 ข้อ 174 ระบุไว้ชัดเจนว่าบัตรเสียเป็นอย่างไร และการกระทำใดที่ก่อให้เกิดบัตรเสีย ได้แก่ บัตรปลอม บัตรเปล่า กากบาทที่ออกมานอกกรอบสี่เหลี่ยม ทำเครื่องหมายอื่นนอกจากกากบาท กากบาทช่องที่ไม่มีผู้สมัคร กากบาทมากกว่าที่กำหนด ขีดเขียนบัตร บัตรเลือกตั้งที่ไม่ได้มาจากหน่วยเลือกตั้ง ขีดฆ่าเครื่องหมายแล้วกากบาทใหม่

การทำบัตรเสียในบางกรณียังถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย ซึ่งลักษณะที่เข้าข่ายต้องระวังแล้วห้ามปฎิบัติ ประกอบไปด้วย

1.ห้ามโชว์บัตรเลือกตั้งว่าเราเลือกตั้งเบอร์อะไร

2.ห้ามถ่ายรูปบัตรเลือกตั้งที่มีการทำเครื่องหมายแล้วโพสต์ลงสื่อสังคมออนไลน์

3.ห้ามทำลายบัตรเลือกตั้งในทุกกรณี หรือหากเกิดความผิดพลาดใด ๆ ไม่สามารถขอบัตรใบใหม่ได้

4.การทำเครื่องหมายและสัญลักษณ์อื่นใดที่ไม่ใช่กากบาทลงบนบัตรเลือกตั้ง

5.การใช้บัตรเลือกตั้งอื่นที่ไม่ได้มาจากหน่วยเลือกตั้งที่ไปใช้สิทธิ

สำหรับการนอนหลับทับสิทธิ หรือการไม่ไปใช้สิทธิของตนในการเลือกตั้งตามหน้าที่พลเมือง จะเสียสิทธิทางการเมืองตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 35 ประกอบด้วย

1.ไม่มีสิทธิร่วมลงชื่อยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

2.ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา

3.ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกเป็นกำนันและผู้ใหญ่บ้านตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่

นอกจากนั้นยังส่งผลให้ขาดคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งอันประกอบไปด้วย ข้าราชการการเมือง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) ประธานที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น คณะที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น และทุกตำแหน่งที่ผ่านการลงคะแนนเลือกตั้ง

การจำกัดสิทธิทางการเมืองมีกำหนดเวลาครั้งละ 2 ปี นับแต่วันเลือกตั้งที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งเท่านั้น หากมีการเลือกตั้งและไปใช้สิทธิในครั้งต่อไป สิทธิทางการเมืองย่อมกลับคืนมา

Related Posts

Send this to a friend

Thailand Web Stat