POLITICS

ครม.อนุมัติงบกลาง 574 ล้านบาท ให้ “กษ.” ป้องกันโรค ASF

ระบุสร้างความเสียหายในวงจรเศรษฐกิจร้ายแรงไม่ต่ำกว่า 150,000 ล้านบาท เตรียมจ่ายค่าชดเชยย้อนหลัง มี.ค.-15 ต.ค.64 ให้เกษตรกรที่ทำลายสุกรไปแล้วกว่า 1.5 แสนตัว

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 11 ม.ค.65 มีมติอนุมัติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) และโรคระบาดร้ายแรงในสุกรหรือหมูป่าเป็นเงินทั้งสิ้น 574,111,263 บาท (กว่า 574 ล้านบาท ) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรและโรคระบาดร้ายแรงในสุกรหรือหมูป่า โดยเป็นค่าชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลาย ตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2564 ถึงวันที่ 15 ตุลาคม 2564 ตามมาตรา 13 (4) แห่งพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 ซึ่งได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการประเมินตามกฎกระทรวงกำหนดค่าชดใช้ราคาสัตว์ที่ถูกทำลายอันเนื่องจากเป็นโรคระบาดหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคระบาดหรือสัตว์หรือซากสัตว์ที่เป็นพาหะของโรคระบาด พ.ศ. 2560 แล้ว

ทั้งนี้การขออนุมัติงบกลาง 574 ล้านบาทนี้ มีขึ้นวันเดียวกับที่ กรมปศุสัตว์แถลงพบเชื้อ ASF แล้ว 1 ตัวอย่าง และในการขออนุมัติงบจำนวนนี้ เพื่อไปชดเชยสุกรที่ถูกทำลายเมื่อปี 2564 โดยระบุว่าเพื่อลดความเสี่ยงโรคระบาด โดยที่ไม่มีการตรวจสอบว่าเป็นการติดเชื้อโรคหรือไม่ ทั้งๆที่พบการตายของสุกร กว่า 3 แสนตัว จากการใช้งบกลางปี 63-64 ไปกว่า 470 ล้านบาท ทำลายสุกร กว่า 1.4 แสนตัว
                  
สาระสำคัญโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรเป็นโรคติดต่อสำคัญในสุกรที่เกิดจากเชื้อไวรัส หากมีการระบาดของโรคนี้ในประเทศแล้วจะกำจัดโรคได้ยาก เพราะในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนในการป้องกันและยาที่รักษาโรค    เชื้อไวรัสที่ก่อโรคมีความทนทานในผลิตภัณฑ์จากสุกรและสิ่งแวดล้อมสูง สุกรที่หายป่วยแล้วจะเป็นพาหะของโรคได้ตลอดชีวิตและความรุนแรงของโรคยังทำให้สุกรที่ติดเชื้อมีการตายเฉียบพลันเกือบร้อยละ 100

โรคนี้ไม่ติดต่อสู่คนและสัตว์ชนิดอื่น อีกทั้งมีการการตรวจพบการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) แพร่กระจายในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ซึ่งแตกต่างไปจากไวรัส ASF ที่เคยตรวจพบในทวีปยุโรปและเอเชียมาก่อนหน้านี้ ประกอบกับปัจจุบันยังพบการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรร่วมกับโรคระบาดร้ายแรงในสุกรอื่นที่ก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรง เช่น โรคกลุ่มอาการระบบสืบพันธุ์และทางเดินหายใจในสุกร (พีอาร์อาร์เอส, Porcine Reproductive and Respiratory Syndrome : PRRS) เป็นต้น ทำให้การวินิจฉัย ชันสูตรโรค การเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคมีความยากลำบากยิ่งขึ้น ก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างร้ายแรงจากการที่เกษตรกรต้องสูญเสียสุกรที่ป่วยตายจากโรคและไม่สามารถเลี้ยงสุกรต่อไปได้ เนื่องจากเชื้อโรคยังสะสมอยู่ในพื้นที่ และทำให้เกิดโรคซ้ำในฟาร์มจนทำให้สูญเสียอาชีพการเลี้ยงสุกรไปในที่สุด อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่น ๆ ได้แก่ โรงงานอาหารสัตว์ โรงฆ่าสัตว์ โรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์สุกร ธุรกิจการค้าเวชภัณฑ์สัตว์ รวมถึงเกษตรกรผู้เพาะปลูกพืชที่ใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง ถั่วเหลือง มีมูลค่าความเสียหายรวมไม่ต่ำกว่า 150,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังต้องมีภาระค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูอาชีพให้กับเกษตรกร ซึ่งต้องใช้เงินงบประมาณเป็นจำนวนมากและใช้เวลานานในการฟื้นฟู จะก่อให้เกิดภาวะขาดแคลนเนื้อสุกรในการบริโภคอย่างรุนแรง ส่งผลกระทบต่อภาระค่าครองชีพของประชาชนและความมั่นคงทางอาหารของประเทศอีกด้วย และทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียโอกาสในการส่งออกสุกรมีชีวิต เนื้อสุกรแช่แข็งและผลิตภัณฑ์สุกรไปจำหน่ายในต่างประเทศ ซึ่งมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 22,000 ล้านบาทต่อปี
                  
จากความรุนแรงของโรคทั้งสองข้างต้น หากไม่มีมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคที่เหมาะสม จะต้องมีการทำลายสุกรเพื่อการควบคุมโรคและเกิดการสูญเสีย ดังนี้
1) ประเทศไทยมีเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรจำนวน 187,272 ราย เป็นเกษตรกรรายย่อย 184,091 ราย เลี้ยงสุกรขุน 2,247,332 ตัว สุกรพันธุ์ 390,993 ตัว ลูกสุกร 689,562 ตัว เป็นเกษตรกรรายใหญ่ 3,181 ราย เลี้ยงสุกรขุน 5,746,265 ตัว สุกรพันธุ์ 683,998 ตัว และลูกสุกร 1,532,035 ตัว

1.1 กรณีเกิดโรคร้อยละ 30 ของสุกรที่เลี้ยง จะเกิดความสูญเสียสำหรับ เกษตรกรรายย่อยจำนวน 5,133,886,800 บาท เกษตรกรรายใหญ่จำนวน 11,544,610,200 บาท รวม 16,678,497,000 บาท

1.2 กรณีเกิดโรคร้อยละ 50 ของสุกรที่เลี้ยง จะเกิดความสูญเสียสำหรับ                 เกษตรกรรายย่อยจำนวน 8,556,478,000 บาท เกษตรกรรายใหญ่จำนวน 19,236,245,500 บาท รวม 27,792,723,500 บาท

1.3 กรณีเกิดโรคร้อยละ 80 ของสุกรที่เลี้ยง จะเกิดความสูญเสียสำหรับ เกษตรกรรายย่อยจำนวน 13,690,364,800 บาท เกษตรกรรายใหญ่จำนวน 30,777,992,800 บาท รวม 44,468,357,600 บาท

1.4 กรณีเกิดโรคร้อยละ 100 ของสุกรที่เลี้ยง จะเกิดความสูญเสียสำหรับ                        เกษตรกรรายย่อยจำนวน 17,112,956,000 บาท เกษตรกรรายใหญ่จำนวน 38,472,491,000 บาท รวม 55,585,447,000 บาท

2) ผลกระทบด้านเศรษฐกิจ
2.1 โดนระงับการส่งออกเนื้อสุกรชำแหละ เนื้อสุกรแปรรูป เป็นมูลค่าปีละประมาณ 6,000 ล้านบาท

2.2 สูญเสียโอกาสการส่งออกสุกรมีชีวิต เป็นมูลค่าปีละประมาณ 16,000 ล้านบาท โดยประเทศคู่ค้าที่สำคัญ ได้แก่ ราชอาณาจักรกัมพูชา มูลค่าประมาณ 10,000 ล้านบาท สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มูลค่าประมาณ 1,700 ล้านบาท สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา มูลค่าประมาณ 700 ล้านบาท และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม มูลค่าประมาณ 3,400 ล้านบาท

2.3 ด้านธุรกิจอาหารสัตว์ 66,666 ล้านบาท
2.4 ด้านธุรกิจเวชภัณฑ์ 3,500 ล้านบาท
2.5 ผลกระทบด้านราคาสุกรขุนมีชีวิตภายในประเทศ เนื่องจากผู้บริโภคเกิดความตื่นตระหนก ทำให้ราคาลดลง ดังนี้

2.5.1 ราคาลดลงกิโลกรัมละ 10 บาท ทำให้เกษตรกรสูญเสียรายได้ปีละ 22,000 ล้านบาท
2.5.2 ราคาลดลงกิโลกรัมละ 20 บาท ทำให้เกษตรกรสูญเสียรายได้ปีละ 44,000 ล้านบาท
2.5.3 ราคาลดลงกิโลกรัมละ 30 บาท ทำให้เกษตรกรสูญเสียรายได้ปีละ 66,000 ล้านบาท
                  
ทั้งนี้ ข้อ 2.3 และ 2.4 ประมาณการความเสียหายจากการระบาดของโรคที่ร้อยละ 50

3) ค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูอาชีพและความเป็นอยู่ของเกษตรกรเป็นจำนวนมาก และใช้ระยะเวลาในการฟื้นฟูเป็นเวลานานซึ่งกรมปศุสัตว์ได้มีระบบการเฝ้าระวังและประเมินความเสี่ยงของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรอย่างต่อเนื่องทั้งจากต่างประเทศและภายในประเทศ และได้กำหนดมาตรการต่าง ๆ ในการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคอย่างเข้มงวด รวมทั้งยังคงดำเนินการตามแผนรับมือโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรโดยดำเนินการลดความเสี่ยงต่อโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรอย่างต่อเนื่อง ด้วยการทำลายสุกรและชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลาย อาศัยอำนาจตามมาตรา 13 (4) แห่งพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 ซึ่งได้ดำเนินการลดความเสี่ยงต่อโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2562 ถึงวันที่ 22 มีนาคม 2564 ในพื้นที่ 39 จังหวัด ได้แก่ อ่างทอง จันทบุรี ชลบุรี สระแก้ว ตราด ฉะเชิงเทรา สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี นครราชสีมา ชัยภูมิ นครพนม หนองคาย มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ขอนแก่น อำนาจเจริญ บึงกาฬ ร้อยเอ็ด เชียงใหม่ พะเยา เชียงราย แพร่ ลำพูน แม่ฮ่องสอน ลำปาง น่าน อุทัยธานี อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก เพชรบุรี นครปฐม กาญจนบุรี สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต และนครศรีธรรมราช จำนวนเกษตรกร 4,855 ราย จำนวนสุกร 142,079 ตัว เป็นเงินทั้งสิ้น 559,657,408 บาท โดยดำเนินการดังนี้

  1. การลดความเสี่ยงโดยใช้งบประมาณจากสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติในเกษตรกรจำนวน 1,617 ราย จำนวนสุกร 29,312 ตัว เป็นเงินทั้งสิ้น 89,458,319 บาท
  2. การลดความเสี่ยงโดยใช้งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 – 2564 ในเกษตรกรจำนวน 3,238 ราย 112,767 ตัว เป็นเงินทั้งสิ้น 470,199,089 บาท
                        
    ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการลดความเสี่ยงต่อโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรอย่างต่อเนื่องในปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ถึงปีงบประมาณ พ.ศ.2565 (23 มีนาคม 2564 ถึง 15 ตุลาคม 2564) ไปแล้วในพื้นที่ 56 จังหวัด ได้แก่ ปทุมธานี อ่างทอง ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี หวัดสระแก้ว นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ชัยภูมิ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี เลย หนองบัวลำภู มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ขอนแก่น อำนาจเจริญ หนองคาย บึงกาฬ ร้อยเอ็ด นครพนม อุดรธานี มุกดาหาร สกลนคร ยโสธร เชียงใหม่ ลำปาง แม่ฮ่องสอน น่าน พะเยา แพร่ อุทัยธานี อุตรดิตถ์ นครสวรรค์ สุโขทัย พิษณุโลก ตาก กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ เพชรบุรี กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต ตรัง กระบี่ ระนอง นครศรีธรรมราช ชุมพร พัทลุง พังงา และสงขลา จำนวนเกษตรกร 4,941 ราย จำนวนสุกร 159,453 ตัว เป็นเงินทั้งสิ้น 574,111,263 บาท ทั้งนี้ เกษตรกรยังไม่ได้รับเงินค่าชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลาย รวมทั้งได้กำหนดแผนการดำเนินการลดความเสี่ยงต่อโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรและโรคระบาดร้ายแรงในสุกรหรือหมูป่าในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เพื่อประสิทธิภาพในการดำเนินงานตามแผนงานที่กำหนดรวมทั้งไม่เป็นการสร้างภาระด้านความจำเป็นในการครองชีพต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรที่ถูกทำลายสุกรมากเกินไป จึงมีความจำเป็นต้องมีงบประมาณสำรองสำหรับการดำเนินงานตามแผนงานที่กำหนดไว้ที่กรมปศุสัตว์

จากการประเมินความเสี่ยงของฟาร์มสุกรต่อการเกิดโรคระบาดที่สำคัญในสุกรในระดับสูง – สูงมากทั่วประเทศไทย ในปี 2564 พบฟาร์มสุกรที่มีระดับความเสี่ยงสูง – สูงมากจำนวนทั้งสิ้น 33,333 ราย มีจำนวนสุกรทั้งหมด 770,276 ตัว และกรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการลดความเสี่ยงของฟาร์มเลี้ยงสุกรที่มีความเสี่ยงสูง – สูงมากไปแล้ว 9,796 ราย มีจำนวนสุกร 301,532 ตัว จึงมีฟาร์มสุกรที่มีความเสี่ยงสูง – สูงมากอีกจำนวน 23,537 ราย มีจำนวนสุกร 468,744 ตัว การดำเนินการลดความเสี่ยงกำหนดเป้าหมายที่ร้อยละ 15 ของฟาร์มที่พบความเสี่ยงสูง – สูงมากของฟาร์มที่ยังคงเหลืออยู่ คิดเป็นฟาร์มที่ต้องลดความเสี่ยงที่ 3,531 ฟาร์ม มีจำนวนสุกรทั้งสิ้น 70,312 ตัว จะต้องใช้งบประมาณในการจ่ายค่าชดใช้ราคาสัตว์ที่ถูกทำลายเพิ่มเติมอีก 409,215,840 บาท (คำนวณที่สุกรขุน 1 ตัว น้ำหนักตัวละ 100 กิโลกรัมๆละ 77.60 บาท) และค่าชดใช้ราคาสิ่งของที่ถูกทำลาย (อาหารสัตว์) เป็นเงิน 118,124,160 บาท (คำนวนที่สุกรขุน 1 ตัว กินอาหารวันละประมาณ 3 กิโลกรัม/ตัว/วัน ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 20 บาท สำรองอาหารไว้ 28 วัน)
                    
การดำเนินการลดความเสี่ยงต่อโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรข้างต้นของประเทศไทย ส่งผลให้ประเทศไทยยังคงสถานะปลอดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรเพียงประเทศเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้านของประเทศไทยในการนำเข้าสุกรมีชีวิตและซากสุกรสำหรับการบริโภคภายในประเทศและส่งออกไปยังประเทศอื่น ซึ่งปี พ.ศ.2573 การส่งออกสุกรมีชีวิตและซากสุกรทั้งหมดของประเทศไทยสามารถส่งออกเป็นมูลค่ากว่า 22,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 300 เมื่อเทียบกับปี 2562 และแนวโน้มการส่งออกยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรมีแนวโน้มขยายเป็นวงกว้างขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2561 เป็นต้นมา ซึ่งมีรายงานการระบาดของโรคครั้งแรกของทวีปเอเชียที่สาธารณรัฐประชาชนจีน ปัจจุบันพบการระบาดไปแล้ว 38 ประเทศทั่วโลก เป็นประเทศในทวีปยุโรปจำนวน 13 ประเทศ ทวีปแอฟริกาจำนวน 8 ประเทศ ทวีปเอเชียจำนวน 15 ประเทศ ทวีปอเมริกา 1 ประเทศ และประเทศแถบโอเชียเนียจำนวน 1 ประเทศ ซึ่งประเทศล่าสุดในทวีปเอเชียที่พบการระบาดของโรค คือ ราชอาณาจักรภูฏาน เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2564 รวมทั้งยังพบการระบาดในประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกับประเทศไทย

ได้แก่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาและสหพันธรัฐมาเลเซีย ซึ่งได้ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรของแต่ละประเทศ อีกทั้งยังคงพบการระบาดของโรคในประเทศดังกล่าวซ้ำ แม้ประเทศไทยมีการเตรียมความพร้อมที่ดีแต่จากปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้ประเทศไทยพบความเสี่ยงสูงถึงสูงมากต่อโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรในพื้นที่ 244 อำเภอ ใน 56 จังหวัด
                  
ซึ่งเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยที่มีระบบการป้องกัน โรคทางชีวภาพที่ไม่มีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตามจากการดำเนินการมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคที่มีประสิทธิภาพ ทำให้สามารถควบคุมโรคให้อยู่ในวงจำกัด ยังไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อภาพรวมของอุตสาหกรรมการผลิตสุกรโดยรวมของทั้งประเทศ ซึ่งการดำเนินการตามแผนเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนและต่อเนื่อง หากล่าช้าจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อเศรษฐกิจโดยรวมไม่ต่ำกว่า 150,000 ล้านบาทดังกล่าวข้างต้น

Related Posts

Send this to a friend