พ.ต.อ.ทวี เปิดประชุมระดับภูมิภาค สร้างสังคมที่ยุติธรรม มุ่งยกระดับหลักนิติธรรม
พ.ต.อ.ทวี เปิดประชุมระดับภูมิภาค สร้างสังคมที่ยุติธรรม มุ่งยกระดับหลักนิติธรรม โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง
วันนี้ (11 พ.ย. 67) พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานกล่าวเปิดและต้อนรับผู้เข้าร่วมการประชุมระดับภูมิภาค เรื่อง “การสร้างสังคมที่ยุติธรรม : เส้นทางแห่งความยุติธรรมที่ครอบคลุมสำหรับผู้คนและสิ่งแวดล้อมในเอเชียและแปซิฟิก“ ซึ่งจัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) องค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (UN Women) โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) และเครือข่ายพันธมิตร
สำหรับงานดังกล่าว เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ และต้นแบบที่ดีในการยกระดับการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง รวมถึงการเข้าถึงความยุติธรรมที่คำนึงถึงกลุ่มเปราะบาง การสนับสนุนทรัพยากร และการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ
พ.ต.อ.ทวี กล่าวเน้นย้ำความสำคัญของแนวคิดความยุติธรรมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งถือเป็นหลักการพื้นฐานที่สำคัญของการอยู่ร่วมกันในสังคมภายใต้หลักประชาธิปไตย หลักสิทธิมนุษยชน และหลักนิติธรรม รวมถึงยืนยันนโยบายรัฐบาลที่จะยึดมั่นในหลักนิติธรรม และความโปร่งใส ในการบริหารราชการแผ่นดิน สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ตลอดจนสร้างการยอมรับจากนานาประเทศ
การบังคับใช้กฎหมายต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสิทธิมนุษยชน เป็นสำคัญ รวมถึงต้องไม่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน หรือสร้างภาระให้กับประชาชนมากจนเกินสมควรแก่เหตุ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวให้สำเร็จต้องอาศัยความร่วมมือและการทำงานแบบบูรณาการจากทุกฝ่าย พร้อมเสนอประเด็นที่ต้องการผลักดันให้สำเร็จ ได้แก่
1) การผลักดันและยกระดับกระบวนการยุติธรรมทางเลือก และกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ให้เป็นที่ยอมรับ
2) การเสนอกฏหมายป้องกันการฟ้องคดีปิดปาก เพิ่มพื้นที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วม ป้องกันการใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือคุกคามประชาชน
3) การพัฒนามาตรการต่อต้านสินบนระหว่างประเทศ รวมถึงการบังคับใช้มาตรการป้องกันการฟอกเงินและมาตรการเชิงภาษี
4) การกำหนดให้มีมาตรการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน เพื่อกำกับดูแลการประกอบธุรกิจ ตลอดจนป้องกันและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ
5) การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญาและการใช้โทษอาญา โดยให้ความสำคัญกับการบำบัด ฟื้นฟู และพัฒนาคน โดยเฉพาะผู้เกี่ยวข้องกับคดียาเสพติด ให้ได้รับการฟื้นฟูและพัฒนาชีวิตอย่างยั่งยืน
6) การผลักดันให้การละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นฐานความผิดและมีโทษทางอาญาในตัวเอง และสนับสนุนให้มีการจัดตั้งศาลแผนกสิทธิมนุษยชนในศาลยุติธรรม เพื่อรับรองว่าสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนจะได้รับการคุ้มครอง และกระบวนการยุติธรรมจะเป็นที่พึ่งของประชาชน