POLITICS

กลุ่มพีมูฟ-บางกลอยคืนถิ่น ร้อง กมธ.ศาลฯ-กมธ.ที่ดิน เร่งจัดการปัญหาในพื้นที่

วันนี้ (11 ต.ค. 66) ที่อาคารรัฐสภา กลุ่มขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move) และกลุ่มบางกลอยคืนถิ่น ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการ กิจการศาล องค์กรอิสระองค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน โดยมี น.ส.เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธานกมธ.ศาลฯ และ น.ส.พนิดา มงคลสวัสดิ์ สส.สมุทรปราการ ในฐานะโฆษก กมธ.ศาลฯ เป็นตัวแทนรับหนังสือ เพื่อเร่งรัดแก้ไขปัญหาคดีความของชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี สืบเนื่องจากกรณีปัญหาของชุมชนกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย ที่ได้รับผลกระทบจากประกาศอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และได้ถูกอพยพโยกย้ายชุมชนจากบ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน ตั้งแต่ปี 2539 จนถึงยุทธการตะนาวศรีในช่วงปี 2553-2554 ซึ่งเป็นต้นเหตุของการขาดที่ดินทำกิน การสูญเสียวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ และชนเผ่าพื้นเมือง ไม่สามารถทำกินในรูปแบบไร่หมุนเวียนได้ กระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของชุมชน จนทำให้ชาวบ้านบางกลอยในนาม ‘บางกลอยคืนถิ่น’ ต้องตัดสินใจต่อสู้ด้วยการกลับขึ้นไปทำกินที่บ้านบางกลอยบนอีกครั้งเมื่อต้นปี 2564 จนถูกอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานจับกุมดำเนินคดีจนถึงปัจจุบัน

ตัวแทนกลุ่มบางกลอยคืนถิ่น กล่าวว่า ในทางคดีความนั้นพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรแก่งกระจาน ได้แจ้งขอกล่าวหา นายหน่อแอะ มีมิ กับพวก ว่ากระทำความผิดตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 64 โดยพนักงานสอบสวนได้รวบรวมสำนวนส่งฟ้องให้พนักงานอัยการจังหวัดเพชรบุรีแล้ว แต่ต่อมาพนักงานอัยการได้ส่งสำนวนกลับไปให้พนักงานสอบสวนเพื่อให้แจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 และพระราชบัญญัติป่าสงนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ซึ่งพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 24 พ.ค. 64 และได้นำส่งสำนวนต่อพนักงานอัยการในวันที่ 27 พ.ค. 64 ซึ่งภายหลังชาวบางกลอยได้ยื่นคำร้องขอความเป็นธรรมจากอัยการสูงสุดให้ชะลอคดีหรือมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องระหว่างกระบวนการแก้ไขปัญหาในกลไกคณะกรรมการอิสระ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย แต่อัยการสูงสุดได้ยกคำร้องในภายหลัง

ตัวแทนกลุ่มบางกลอยคืนถิ่น กล่าวต่ออีกว่า จากการที่พวกเราไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการดำเนินคดีดังกล่าว พวกเราจึงเห็นว่าการดำเนินการของพนักงานสอบสวนไม่ก่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่พวกเรา หากยึดตามข้อกฎหมายและระเบียบของสำนักงานอัยการ พนักงานอัยการมีอำนาจมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องในคดีนี้ได้ ซึ่งจะเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย หลักการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง ประกอบกับสิทธิในกระบวนการยุติธรรมที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยมีสิทธิได้รับการสอบสวนหรือการพิจารณาคดีที่ถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรม มีโอกาสในการต่อสู้คดีอย่างเพียงพอ และมีสิทธิที่จะให้คดีของตนได้รับการพิจารณาอย่างถูกต้องและเป็นธรรม

จึงมีข้อเรียกร้องมายังคณะกรรมาธิการศาลฯ ดังนี้
1.ให้คณะกรรมาธิการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน ได้เร่งรัดพิจารณาจัดทำความเห็นเพิ่มเติมไปยังอัยการสูงสุดเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยที่ถูกดำเนินคดีทั้ง 29 คน เพื่อให้มีความเห็นสั่งไม่ฟ้องคดีที่สร้างผลกระทบต่อประชาชนและไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน ทั้งนี้เพื่อขจัดภาระทางคดีของประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากกฎหมายและนโยบายด้านป่าไม้-ที่ดิน และเปิดทางสู่การแก้ไขปัญหาด้านที่ดินทำกินของชาวบางกลอยต่อไป

2.ให้คณะกรรมาธิการศาลฯ ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันกฎหมายว่าด้วยการนิรโทษกรรมแก่ราษฎร ซึ่งได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตามนโยบายของรัฐ ให้มีผลบังคับใช้โดยเร็วที่สุด

ต่อมา ในเวลา 13.30 น. กลุ่มบางกลอยคืนถิ่น ได้ยื่นหนังสือ ต่อนายอภิชาติ ศิริสุนทร เลขาธิการพรรคก้าวไกล ในฐานะประธานกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้เร่งรัดแก้ไขปัญหาชุมชนกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย ตามมติคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง และแก้ไขปัญหาชุมชนกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย

ตัวแทนกลุ่มบางกลอยคืนถิ่น กล่าวว่า สืบเนื่องจากกรณีที่กลุ่มบางกลอยคืนถิ่นได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายภาคประชาชนขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่ รวมถึงปัญหาเชิงนโยบายและโครงสร้าง จนเกิดเป็นการแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาชุมชนกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย ซึ่งลงนามแต่งตั้งโดยพล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 65 ซึ่งได้มีการประชุมไปแล้ว 3 ครั้ง เห็นชอบให้ชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย-ใจแผ่นดิน เป็นชุมชนดั้งเดิม ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 ส.ค. 53 ว่าด้วยแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง จนเมื่อวันที่ 19 เม.ย. 66 พล.อ.ประยุทธ์ ได้ลงนามเห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาตามข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระฯ ชุดดังกล่าว ที่มอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่งตั้งคณะทำงานร่วม 3 ฝ่าย ประกอบด้วย (1) ผู้แทนกลุ่มชาติพันธุ์ชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยประสงค์จะกลับไปดำรงวิถีชีวิตด้วยระบบเกษตรแบบไร่หมุนเวียน (2) กรรมการอิสระ และ (3) ผู้แทนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นข้อเสนอที่เป็นแนวทางที่ดีที่สามารถรับรองข้อเรียกร้องในการกลับขึ้นไปทำกินในรูปแบบไร่หมุนเวียนที่บ้านบางกลอยบนได้

ตัวแทนกลุ่มบางกลอยคืนถิ่น กล่าวต่อว่า จากการที่เจ้าหน้าที่พยายามบ่ายเบี่ยงให้การแก้ไขปัญหาบ้านบางกลอยจำกัดอยู่เพียงบ้านโป่งลึก-บางกลอย กล่าวอ้างว่าไม่จำเป็นต้องผลักดันแนวทางพื้นที่คุ้มครองทางวัฒนธรรมของชาวกะเหรี่ยงตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 สิงหาคม 2553 ตลอดจนการไม่ยอมรับแนวทางการผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองและฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองด้วย ซึ่งถือเป็นการละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่แก้ไขปัญหาประชาชนตามที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี ทำให้ชาวบ้านบางกลอยกำลังได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักจากการดำเนินงานของหน่วยงานภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นต้นว่าการขาดความมั่นคงทางอาหารเนื่องจากความล่าช้าในการปฏิบัติตามมติคณะกรรมการอิสระฯ และขณะนี้ชุมชนกำลังได้รับผลกระทบจากด่านแม่มะเร็วที่กีดขวางเส้นทางสัญจรของชาวบ้าน ทำให้ไม่สามารถเดินทางเข้า-ออกในสถานการณ์เร่งด่วนได้ รวมถึงการดำเนินการสำรวจพื้นที่การใช้ประโยชน์จากฐานทรัพยากรในพื้นที่ป่าที่สามารถเกิดใหม่ทดแทนได้ตามมาตรา 65 ของพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ก็ไม่มีความชัดเจน และยังปรากฏว่ามีการบีบบังคับให้ชาวบ้านต้องทำหนังสือขออนุญาตเข้าพื้นที่ป่าจากผู้ใหญ่บ้านและหน่วยงานอุทยานแห่งชาติในพื้นที่ กระทบต่อวิถีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรตามปรกติธุระ และยังปรากฏว่ามีผลกระทบไปถึงการนำเข้าวัสดุถาวรเข้าไปในพื้นที่บ้านเพื่อสร้างหรือซ่อมแซมบ้าน ที่ต้องมีการขออนุญาตและตรวจสอบอย่างเคร่งครัดจากอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

รวมถึงในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาที่กลุ่มบางกลอยคืนถิ่นได้ร่วมการเคลื่อนไหวกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ พีมูฟ ได้มีสื่อมวลชนลงพื้นที่บ้านบางกลอยเพื่อสัมภาษณ์ชาวบ้านถึงปัญหาความเดือดร้อน แต่ปรากฏว่าหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานได้ให้เจ้าหน้าที่ติดตามเก็บภาพสื่อมวลชนและชาวบ้านในระหว่างการพูดคุย รวมถึงไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนพักค้างแรมที่ชุมชน แต่กลับให้ไปพักที่หน่วยของอุทยานแห่งชาติ แสดงถึงความลุแก่อำนาจของหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและเจ้าหน้าที่ในระดับพื้นที่จนกระทบต่อสิทธิ เสรีภาพ ของประชาชนกลุ่มชาติพันธุ์ที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ จึงมีข้อเรียกร้องแก่ กมธ.การที่ดินฯ ดังนี้

1.ให้ประสานงานกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เร่งปฏิบัติตามข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาชุมชนกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย หมู่ที่ 1 ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี โดยเร่งด่วน และให้ชี้แจงความคืบหน้าการดำเนินการต่อกลุ่มบางกลอยคืนถิ่นเป็นลายลักษณ์อักษร

2.ให้ประสานงานกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเข้าชี้แจงว่าการส่งเจ้าหน้าที่เข้าติดตามถ่ายภาพสื่อมวลชนและชาวบ้าน รวมถึงไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนพักค้างแรมในบ้านของชาวบ้านกลอยนั้น อาศัยอำนาจตามกฎหมายใด และตรวจสอบว่าการใช้อำนาจนั้นชอบธรรมหรือไม่ รวมถึงสร้างหลักประกันร่วมกันว่าเหตุการณ์การจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนในระดับพื้นที่จะไม่เกิดขึ้นอีก

3.ให้ประสานงานให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ชี้แจงผลการดำเนินการสำรวจตามมาตรา 65 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ทั้งเรื่องแนวเขต ทรัพยากรที่อาจเก็บหาได้ รวมถึงรูปแบบการอนุญาตเก็บหาของป่า ซึ่งเรายืนยันว่าต้องไม่กระทบต่อวิถีการทำกินตามปรกติธุระของประชาชน โดยให้กรมอุทยานฯ ทำหนังสือชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรมาให้กลุ่มบางกลอยคืนถิ่น พร้อมทั้งเข้าไปชี้แจงกับกลุ่มบางกลอยคืนถิ่นชาวบ้านบางกลอยให้รับทราบโดยทั่วกัน

4.ให้กรรมาธิการฯ ลงพื้นที่ชุมชนบ้านบางกลอย หมู่ที่ 1 ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี เพื่อรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานตามข้อ 1-3 ร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงภาคประชาชน

Related Posts

Send this to a friend