จุฬาฯ จัดเสวนา Chula The Impact ให้ความรู้ด้านกฎหมาย พร้อมแนวทางการดูแลเด็กอย่างเหมาะสม
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาวิชาการ Chula the Impact ครั้งที่ 20 เรื่อง “รู้ลึกกฎหมายและการดำเนินคดีเพื่อดูแลเด็กและเยาวชน” เพื่อป้องกันการก่อเหตุความรุนแรงในสังคม รวมถึงแนวทางการดูแลเด็กอย่างเหมาะสม โดยมี ณัฏฐพร รอดเจริญ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ และ ผศ.ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาฯ ร่วมเป็นวิทยากรเสวนาให้ความรู้ และมี ผศ.ดร.เจษฎา ศาลาทอง ภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ เป็นผู้ดำเนินรายการ เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 66 ณ ห้อง 202 อาคารจามจุรี 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ณัฏฐพร รอดเจริญ กล่าวถึงกระบวนการยุติธรรมทางอาญาสำหรับเด็กและเยาวชนว่า ประเทศไทยอยู่ในสมาชิกภาคีอนุสนธิสัญญาสิทธิเด็ก จึงต้องให้ความปกป้องคุ้มครองต่อเด็ก กระบวนการดำเนินคดีทางอาญาจึงต้องมีการใช้กฎหมายและกระบวนการที่เป็นลักษณะเฉพาะขึ้นมา โดยต้องปิดทุกอย่างให้เป็นความลับ เพื่อให้เด็กไม่ถูกตีตรา สามารถกลับตัวมาเป็นคนดีของสังคม และไม่หวนไปกระทำความผิดซ้ำอีก
สำหรับเด็กหรือเยาวชนเมื่อทำผิดจะถูกดำเนินคดีภายใต้ศาลเยาวชนและครอบครัว จะมีขั้นตอนการดำเนินคดีแตกต่างไปจากผู้ใหญ่ โดย พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ มีเจตนารมณ์และบทบัญญัติมุ่งฟื้นฟูเด็กหรือเยาวชนที่ทำความผิดทางอาญามากกว่ามุ่งลงโทษ และเป็นไปตามหลักการสากล โดยมองว่าเด็กมีความพึ่งพิงกับครอบครัวและปัจจัยหลายด้านของสังคม กระบวนการตัดสินใจมีปัจจัยหลายอย่างประกอบ กระบวนการยุติธรรมจึงต้องแยกจากผู้ใหญ่
นอกจากนี้ คดีเด็กและเยาวชนจะใช้หลักการไม่ควบคุมโดยไม่จำเป็น การควบคุมตัวมีระยะเวลาที่เพียง 24 ชม. การจับกุมต้องแจ้งสถานพินิจ จากนั้นนำตัวไปศาลเยาวชนและครอบครัวเพื่อตรวจสอบว่าเด็กได้รับการปฏิบัติที่ถูกต้องหรือไม่ และระหว่าง 30 วันในการควบคุมตัว ศาลฯ จะกำหนดมาตรการที่เหมาะสม เช่น บำบัดรักษา ตรวจสภาพร่างกายและจิตใจ โดยมีหลักการที่สำคัญคือเบี่ยงเบนคดีไม่ให้เด็กเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมโดยไม่จำเป็น
ผศ.ดร.ณัฐสุดา กล่าวว่า กระบวนการทางกฎหมาย ระบุชัดว่าจะต้องมีสหวิชาชีพเข้ามาดูแลร่วมด้วย อยากให้มองแยกระหว่างการเยียวยารักษาปัญหาทางจิตใจของผู้ต้องหาที่ต้องเกิดขึ้น ควบคู่ไปกับกระบวนการทางคดีความ ซึ่งการที่จะได้คำตอบว่าเด็กมีอาการทางพยาธิสภาพ เป็นโรคอะไร หรือแกล้งทำหรือไม่ เชื่อว่าผู้ที่จะมาทำการวินิจฉัยจะมีความเชี่ยวชาญจริง ๆ ดังนั้นการแกล้งทำจึงเชื่อว่าไม่สามารถทำได้
“ความรุนแรงไม่ได้อยู่ดี ๆ ก็เกิดขึ้น มันต้องมีที่มาที่ไป ตอนนี้หลายคนพยายามอธิบายถึงสาเหตุที่มาที่ไปเพื่อหา 1 คำตอบ กับ 1 พฤติกรรมนี้ ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่มีคำตอบเดียว การที่เราไปบอกว่าเป็นเพราะเกม เพราะการเลี้ยงดู หรือเพราะสาเหตุอื่น ๆ ขอตอบว่าเป็นเพราะทุกเหตุปัจจัยรวมกัน สิ่งที่เราช่วยกันได้คือการเริ่มสังเกตพฤติกรรมการใช้ความรุนแรงของเด็ก ๆ ทั้งทางร่างกาย วาจา และความรุนแรงที่กระทำต่อตัวเอง การทำร้ายตัวเองไม่ว่าจะเล็กน้อยแค่ไหน ถ้าเราไม่อยากให้ความรุนแรงยกระดับ เราต้องเริ่มฝึกสังเกตและยับยั้งความรุนแรงกันตั้งแต่แรก ถ้าเราสามารถช่วยเด็ก ๆ ให้สามารถตระหนักรู้ถึงอารมณ์ที่มีอยู่ข้างใน สื่อสารได้ออกมาอย่างเหมาะสม มีคนคอยรับฟัง ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจะก็ไม่มีการยกระดับจนนำไปสู่เหตุน่าสะเทือนใจ” ผศ.ดร.ณัฐสุดา กล่าว