‘รอมฎอน’ จี้ สภาฯ ส่ง ‘พิศาล วัฒนวงษ์คีรี’ ขึ้นศาลสอบคดีตากใบ เหตุอายุความใกล้หมด
‘รอมฎอน’ จี้ สภาฯ ส่ง ‘พิศาล วัฒนวงษ์คีรี’ ขึ้นศาลสอบคดีตากใบ เหตุอายุความใกล้หมด ด้าน ‘วันนอร์’ ยกเอกสิทธิ์คุ้มครอง มาตรา 125 แจงศาลยังไม่ได้ส่งหนังสือขอตัวมา อยู่ที่สภาฯ จะอนุญาตหรือไม่ ด้าน ‘อดิศร’ ลุกทันควันต้องไม่ให้ไปเด็ดขาด อ้างประเพณี
วันนี้ (11 ก.ย. 67) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้อทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานในการประชุม ช่วงวาระการหารือ นายรอมฎอน ปันจอร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ได้ขอหารือต่อประธานว่าถ้าเรานับจากวันนี้ไปถึง 25 ต.ค.67 จะครบรอบเหตุการณ์ตากใบ ซึ่งจะสิ้นสุดอายุความคดีอาญาด้วย เหลืออีก 44 วันเท่านั้น จำเลยหนึ่งในนั้นคือ พลเอกพิศาล วัฒนวงษ์คีรี สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ตนเองทราบว่าภรรยาของผู้เสียชีวิต ได้ทำหนังสือถึงประธานสภาฯ ผ่านนายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ สส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย สภาผู้แทนราษฎรแล้ว ไม่ทราบว่าท่านประธานได้รับหนังสือแล้วหรือไม่ วันพรุ่งนี้จะมีการเปิดคำให้การจำเลยครั้งแรก โดยญาติของผู้เสียชีวิตอยากให้ประธานให้ความยุติธรรม และให้พิสูจน์ความบริสุทธิ์ของผู้ที่เกี่ยวข้อง จึงขออนุญาตให้พลเอกพิศาลเดินทางไปศาล
นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวต่อว่า เรามีรัฐธรรมนูญมาตรา 125 ระหว่างสมัยประชุม ห้ามให้จับคุมขังหรือหมายเรียกตัวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภา ไปทำการสอบสวนได้เพราะฉะนั้น ถือเป็นเอกสิทธิ์ที่สมาชิกรัฐสภาได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ แต่วิธีปฏิบัติที่เราทำกันมาคือ กรณีที่ศาลมีความจำเป็นขอสอบสวนหรือตำรวจขอดำเนินคดีในสมัยประชุมก็ขอมาที่ประธาน ซึ่งประธานไม่ได้มีอำนาจ สภาฯ จะเป็นผู้พิจารณาว่าจะสมควรอนุญาตหรือไม่ หรือเจ้าตัวเป็นคนขอเข้าสู่กระบวนการเพื่อไม่ให้คดียืดเยื้อ ก็มาขอที่สภาฯ ทุกครั้ง แต่ที่ผ่านมาสภาฯ มักจะให้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 125 คือจะลงมติไม่อนุญาต
ขอเรียนนายรอมฎอนและประชาชนว่า มิได้หมายความว่าสภาฯ ของเรา จะไม่เห็นใจเจ้าหน้าที่ดำเนินคดี แต่สภาฯ ต้องพิทักษ์เอกสิทธิ์ของสมาชิก เราเกรงว่าสมาชิกฝ่ายค้านหรือไม่ได้อยู่กับฝ่ายรัฐบาล จะถูกกลั่นแกล้งไปพร้อมกับคดีอาญา แล้วให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเรียกไปสอบสวน จนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ โดยเฉพาะดาวสภาฯ ทั้งหลาย แต่ยังไม่เคยเกิดขึ้น เพราะรัฐบาลมีอำนาจที่จะให้ตำรวจเรียกไปไต่สวนหรือคุมขังได้ ยิ่งตอนนี้ยิ่งยุ่งใหญ่เลย ถ้าไปคุมขังนี่ เพราะถ้าพลาดจะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สภาฯ ก็มองในแง่นี้
มีหลายคดีที่เจ้าตัวขอไปดำเนินคดีเองแต่สภาฯ ก็ไม่ให้ เพราะถ้าให้กรณีนี้แล้ว กรณีอื่นก็จะต้องให้ เท่าที่ตนเองจำได้ 40 กว่าปีในสภาฯ ก็เป็นอย่างนี้ สมัยก่อนการเมืองมันดุเดือดกว่านี้ ซึ่งหากตำรวจระบุว่าคดีจะหมดอายุความก็จะนำมาพิจารณา ย้ำว่าประธานไม่มีสิทธิ์ อยู่ที่สภาฯ จะอนุญาต
นายรอมฎอน จึงอ่านรัฐธรรมนูญ มาตรา 125 รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ไม่ทราบว่าที่ประธานชี้แจงเป็นของฉบับไหน ก่อนที่นายวันมูหะมัดนอร์จะชี้แจงอีกรอบ ย้ำว่าเป็นข้อเท็จจริง ศาลยังไม่มีหนังสือขอไปดำเนินคดี รวมถึงเจ้าตัว ถ้าจะขอต้องมาขอที่สภา แต่ตอนนี้ยังไม่มีมาทั้ง 2 ฉบับ
ทำให้นายอดิศร เพียงเกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นกล่าวว่า วันนี้ศาลอาญามีนัดพิจารณาเรื่องตนเอง ซึ่งเป็นจำเลยกรณีเป็นผู้บงการให้เกิดเหตุการณ์ที่พัทยา กฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับนี้ในวรรคสุดท้ายที่โต้กัน ศาลจะพิจารณาคดีนั้นในสมัยประชุมก็ได้ วันนี้ตนเองก็ไม่ได้ไป ส่งทนายไปแทน แต่หากศาลขอมาโดยประเพณีแล้วสภาเราไม่ให้โดยกรณีใด ๆ ทั้งสิ้น
นายกมลศักดิ์ จึงลุกกล่าวว่าเข้าใจตามที่ประธานชี้แจงและเข้าใจนายรอมฎอน ตามรัฐธรรมนูญทุกคนเป็นห่วง เรื่องนี้ประเด็นไม่ต่างจากคดีอื่น ๆ ซึ่งจะครบกำหนดอายุความในวันที่ 25 ต.ค.นี้ ประเด็นอยู่ที่ว่าคดีนี้การนับอายุความต้องนับ 20 ปีจากการได้ตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยไปศาล หมายความว่าถ้าพรุ่งนี้ ผู้ที่เป็น สส. ใช้เอกสิทธิ์ไม่ไปศาลก็เป็นเรื่องของสภาฯ ตนเองเข้าใจว่าประธานสภาฯ ไม่มีอำนาจ เพราะเป็นเรื่องของสภาฯ ตนเองว่าเรื่องนี้ ขึ้นอยู่กับสามัญสำนึกของผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าปิดสมัยสามารถเดินทางไปศาลได้ อยากทำความเข้าใจกับเพื่อนสมาชิกว่าเรื่องนี้จะขาดอายุความในวันที่ 25 ต.ค.นี้ และไม่ได้เป็นอำนาจของประธานสภาฯ ท่านเดียว แต่เป็นเรื่องของทั้งสภาฯ
ท้ายที่สุดนายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่าเรื่องนี้ให้ประธานบรรจุ แต่กรณีนี้เรื่องมาไม่ถึงประธาน และขอขอบคุณทุกฝ่ายที่ห่วงใยเรื่องสิทธิของพี่น้องประชาชน