มูลนิธิสืบนาคะเสถียร – เครือข่าย – พันธมิตรด้านสิ่งแวดล้อม ยื่นหนังสือ กมธ.ที่ดิน ค้านเพิกถอนที่ดินทับลาน
วันนี้ (11 ก.ค. 67) ที่อาคารรัฐสภา นายพสิษฐ์ เอี๋ยวพานิช สมาคมอุทยานแห่งชาติ พร้อมด้วย นายภานุเดช เกิดมะลิ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และเครือข่ายพันธมิตรเพื่อสิ่งแวดล้อม ยื่นหนังสือต่อ นายพูนศักดิ์ จันทร์จำปี สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอคัดค้านกรณีการปรับปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน
นายภานุเดช กล่าวว่า เนื่องจากคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อเดือนมีนาคม 2524 ให้เพิกถอนพื้นที่ป่าออกไป แต่ในช่วงรัฐบาลที่ผ่านมามีการพยายามที่จะนำประเด็นดังกล่าว ไปให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) เป็นคนดำเนินการอนุมัติเพิกถอนพื้นที่อุทยานใหม่ ซึ่งตนเองมองว่าไม่น่าจะเป็นกลไกที่เป็นธรรมชาติ จึงขอให้ กมธ.ฯ ช่วยตรวจสอบ
นายพสิษฐ์ กล่าวว่า มายื่นหนังสือคัดค้านที่จะปรับปรุงแนวเขตทับลาน เนื่องจากในปี 2524 เราได้สำรวจรังวัดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หากออกโฉนดจะขายให้นายทุนและบุกรุกที่ดินไปเรื่อยๆ รวมถึงขอให้มีการพิสูจน์สิทธิ์ ซึ่งหากทำงานจริง ไม่เห็นแก่ใคร มั่นใจว่าจะได้การพิสูจน์ที่คนได้โฉนดเป็นคนจนจริงๆ ที่สำคัญพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานก็เป็นหนึ่งในพื้นที่มรดกโลก ถ้ามีการเพิกถอนสิทธิ์ก็จะมีการออกข่าวสร้างความเสียหายให้ประเทศ แค่เรื่องเศรษฐกิจก็แย่มากพอแล้ว จึงขอสนับสนุนให้ราษฎรที่ครอบครองที่ดินสามารถครอบครองที่ดินต่อได้
นายพูนศักดิ์ กล่าวว่า ทุกคนเล็งเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเราจะรับเรื่องนี้ไว้เพื่อพิจารณาในวันที่ 17 กรกฎาคมนี้โดยจะมีการเชิญหน่วนงานเกี่ยวข้องเข้ามาชี้แจงเพื่อให้ข้อมูลกับกมธ. อาทิ สคทช. สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.), กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ซึ่งก็หวังว่าจะได้ข้อมูลข้อเท็จจริงเพื่อจำได้ข้อสรุปให้ฝ่ายบริหารได้ดำเนินการต่อไป
ด้านนายเลาฟั้ง บัณทิตเทอดสกุล สส. บัญชีรายชื่อ ในฐานะเลขานุการ กมธ. กล่าวว่าว่า กรณีนี้ มีทั้งฝ่ายที่คัดค้าน และประชาชนที่ได้ประโยชน์จากการปรับปรุงเส้นแนวเขตนี้ กมธ. จึงจะรับมาก็จะพิจารณาด้วยความระมัดระวัง เพื่อให้เกิดประโยชน์ด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย คือในแง่ของการปกป้องคุ้มครองทรัพยากรไม่ให้ถูกทำลาย และการคุ้มครองสิทธิ์ของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ ซึ่งเรื่องนี้ก็ตรงกันกับทางข้อเรียกร้องของทางภาคประชาชนที่เห็นว่าจะต้องไม่เหมาเข่ง
นายเลาฟั้ง กล่าวต่อว่า จะต้องมีการสแกน ในส่วนที่เป็นชาวบ้านที่อยู่มาก่อน ซึ่งเขาควรได้รับการคุ้มครองสิทธิ์ ตามกฎหมายที่มีอยู่ ในกรณีนี้ จะมีอยู่ 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่อยู่มาก่อน ก็ควรจะได้รับการออกเอกสารสิทธิ์ ส่วนกลุ่มที่มาอยู่ที่หลัง แต่ก่อนปี 43 ที่มีสิทธิ์ที่จะได้รับการคุ้มครองตามนโยบายของรัฐบาล ก็ควรเข้าสู่กระบวนการคุ้มครองตามนโยบายของรัฐบาล
ในส่วนของการคุ้มครองพื้นที่มีการบุกรุก ก็จำเป็นต้องมีการตรวจสอบเช่นเดียวกัน ซึ่งจะแบ่งเป็น 2 กลุ่มเหมือน คือกลุ่มนายทุนที่ครอบครองโดยมิชอบ ซึ่งรวมไปถึงการออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบ กลุ่มนี้ก็จะต้องมีการตรวจสอบ การออกเอกสารสิทธิ์ หรือสิทธิการครอบครอง ที่แม้อาจจะมีการเปลี่ยนมือ แต่ก็จะต้องเป็นการใช้เพื่อการเกษตร หาถือครองผิดเงื่อนไข จะต้องมีการดำเนินการตามกฎหมายยึดคืนมาเป็นของรัฐ อีกส่วนหนึ่งที่ละเลยไม่ได้คือ การมีข้าราชการที่รู้เห็นเป็นใจในการออกเอกสารสิทธิ์ให้แก่กลุ่มนายทุนโดยไม่ชอบ ก็จำำเป็นที่จะต้องมีการตรวจสอบด้วยด้วยเช่นเดียวกัน
นายเลาฟั้ง ย้ำว่า หากไม่ทำเช่นนี้ จะสาวไม่ถึงต้นตอของปัญหา แล้วผลกระทบก็จะตกมาถึงประชาชน เรื่องนี้มีทั้งสองด้าน เพราะฉะนั้น กมธ.จะรับมาพิจารณาด้วยความรอบคอบ นำข้อมูลจากทุกฝ่ายมารับฟัง เพื่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุด