POLITICS

‘พิธา’ ย้ำความสำคัญข้อมูลดาวเทียมของ GISTDA ใช้แก้ไขน้ำแล้ง-น้ำท่วม-PM2.5 วางแผน 3 ระยะ

วันนี้ (11 ก.ค. 66) นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค แถลงข่าวภายหลังเข้าพบ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA

นายพิธา กล่าวว่า องค์กร GISTDA เป็นหน่วยงานที่ใช้ข้อมูลทางดาวเทียมในการแก้ไขปัญหาของพี่น้องประชาชน สาระสำคัญที่ได้จากการหารือ คือได้เรียนกับทางพี่น้องข้าราชการของ GISTDA และผู้บริหารไว้ว่า ถ้าจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จเมื่อไหร่ต้องการที่จะส่งเสริมสนับสนุน และใช้ประโยชน์จากหน่วยงาน GISTDA ให้มากขึ้น หลังจากที่ตนเป็น ส.ส.มา 4 ปี ได้เห็นงบประมาณของ GISTDA ที่ลดลงเรื่อยๆ ในขณะเดียวกันกลับเห็นประโยชน์ของข้อมูล GISTDA มากขึ้น

หลายครั้ง เช่น กรณีน้ำท่วมโคราช น้ำท่วมที่นครศรีธรรมราช เรื่องภัยพิบัติภัยแล้ง เรื่องการเยียวยาพี่น้องเกษตรกรให้เร็วขึ้น โดยการใช้ดาวเทียม ซึ่งเป็นสิ่งที่ได้เห็นถึงศักยภาพของ GISTDA มาก่อน ตอนนี้หากตนได้เข้าไปสู่การบริหารราชการแผ่นดิน ตั้งใจจะใช้ข้อมูลและความรู้ความสามารถของข้าราชการ GISTDA ใช้ประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาให้ประชาชน โดยการวางแผน 3 ขั้นตอน ได้แก่ ระยะใกล้ ระยะกลาง และระยะไกล

ในระยะใกล้ คือการแก้ปัญหาเรื่องเกี่ยวกับ ดิน น้ำ ลม ไฟให้ประชาชน มีแอพพลิเคชั่นที่เกี่ยวกับข้อมูลของที่ดินใช้ภาพดาวเทียมมองลงมา ตรวจสอบที่ดินหรือคุณภาพของดินว่าต้องใส่ปุ๋ย หรือตรวจสอบความชื้นของหน้าดิน เรื่องเกี่ยวกับน้ำได้หารือเกี่ยวกับดัชนีความเสี่ยงภัยแล้ง ซึ่งได้ข้อมูลจากคณะทำงานของ GISTDA ที่ระบุว่าปีนี้ ภัยแล้งอาจมากกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปีที่ดาวเทียมเก็บข้อมูลมากว่า 30% ซึ่งปีที่แล้วเกิดน้ำท่วมเพราะมีปริมาณน้ำมากกว่าค่าเฉลี่ย 15% แต่ในปีนี้จะน้อยลง 30% ฉะนั้นในปีนี้อาจมีปริมาณน้ำน้อยกว่าปีที่แล้วประมาณ 45% และมีระยะเวลาที่มากขึ้น ซึ่งข้อมูลการหาดัชนีภัยแล้งนี้ เป็นไปตามหลักการสากล

ส่วนเรื่องเกี่ยวกับลม ได้มีการปรึกษาเกี่ยวกับปัญหา PM2.5 การดูข้อมูลและสามารถพยากรณ์ได้ว่าฝุ่น PM2.5 จะมาเมื่อไหร่ จากทิศทางใด ดาวเทียมสามารถทำได้รวมไปถึงการหาหรือเทียบข้อมูล กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุดมศึกษาฯ ซึ่งดาวเทียมที่ยิงมาต้องมีความแม่นยำ เพราะความแม่นยำต้องนำไปตัดสินใจเยอะเช่นในการประกาศเขตภัยพิบัติ

ส่วนเรื่องไฟนั้น GISTDA มีแอพพลิเคชั่นเกี่ยวกับการตรวจสอบจุดความร้อน (Burn Chack) ซึ่งนายพิธาเผยว่าตนเข้าใจว่าในบางครั้งอาจต้องมีการเผาบ้างเพื่อบริหารจัดการไฟป่า แต่หากเราสามารถตรวจสอบ และจองคิวกัน ก็จะสามารถบริหารจัดการเรื่องฝุ่นได้ระดับหนึ่ง

ส่วนระยะกลางมีอยู่สองเรื่องคือการทำเรื่องคาร์บอนเครดิตให้สามารถวัดค่าได้อย่างแม่นยำ เพราะทุกวันนี้มีแต่คนพูดถึงเรื่องคาร์บอนเครดิตทั้งเรื่องการปลูกป่า เปลี่ยนการจัดการขยะจากฝั่งกลบเป็นการจัดการในโรงงาน ซึ่งที่ผ่านมา ยังไม่มีความแม่นยำ แต่ข้อมูลจากดาวเทียมจะช่วยให้เราตรวจสอบเรื่องพวกนี้ได้อย่างแม่นยำและง่ายขึ้น

ส่วนเรื่องระยะไกลเป็นเรื่องเกี่ยวกับเศรษฐกิจอวกาศ (Space Economy) เห็นศักยภาพและโอกาสในการประกอบดาวเทียมของคนไทยเอง การเติบโตของวิศวกรรมอวกาศ ในประเทศไทยที่จะมีการปล่อย ดาวเทียมอีกสองตัว ที่เป็นฝีมือของวิศวกรคนไทย 22 ท่าน ซึ่งพร้อมจะผลักดันสนับสนุนงบประมาณให้กับหน่วยงานอย่างแน่นอน การหาโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ๆ รวมถึงความมั่นคงด้วย การใช้ดาวเทียมเพื่อความมั่นคงและการสร้างฐานปล่อยดาวเทียมในประเทศไทย (Space Port)

เมื่อสื่อมวลชนถามว่า ประเทศไทยมีโอกาสที่จะแก้เรื่องภัยแล้ง หรือน้ำท่วมได้อย่างถาวรหรือไม่ อย่างไร ซึ่งเป็นปัญหามานานมากและยังไม่มีรัฐบาลชุดไหนแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างถาวร นายพิธา กล่าวว่า “ได้ครับ” แต่จะยากขึ้นเรื่อยๆ จริงๆถ้าแก้เรื่องนี้ตั้งแต่ก่อนโลกร้อน สมัยก่อน 10 ปีแล้ง 3 ปี ยกตัวอย่างกรณีพิษณุโลกแล้งซ้ำซาก ท่วมซ้ำซาก แต่ถามว่ายังเป็นไปได้อยู่มั้ย ก็ยังเป็นไปได้ แต่มีวิธีการจัดการบริหารหลายเรื่อง มีทั้งเรื่องของการกระจายอำนาจในการแก้ปัญหา เรื่องของการวางแผนงบประมาณที่เหมาะสมและจะบริหารจัดการได้โดยเร็ว ซึ่งมีอีกหลายเรื่องที่ต้องแก้แล้ง เพราะ การประหยัดน้ำประปาใช้ในภาคครัวเรือน อุตสาหกรรม ท่องเที่ยว เกษตรกรรม ซึ่งต้องแยกออกมาบริหารจัดการไปทีละเรื่อง

นอกจากนี้ นายพิธา ได้ยกตัวอย่างหลายๆ ประเทศ เช่น ประเทศอิสราเอล ที่มีปัญหาเรื่องน้ำแล้งตลอดเวลา แต่เกษตรกรเป็นอันดับ 1 หรือ ประเทศเนเธอแลนด์ ที่น้ำท่วมตลอด ก็สามารถจัดการได้ ซึ่งการบริหารจัดการต้องมีเวลาและมีการบริหารงบที่เหมาะสม

Related Posts

Send this to a friend