‘ชัยธวัช’ เผย มีกระแสกดดัน ส.ว. ไม่ให้โหวต ‘พิธา’ เป็นนายกฯ ระบุชัด ส.ว. ที่ติดต่อไป มีสัญญาณบวก
วันนี้ (11 ก.ค. 66) ที่อาคารรัฐสภา ภายหลังการประชุมระหว่างตัวแทนพรรคการเมือง และตัวแทนสมาชิกวุฒิสภา นายชัยธวัช ตุลาธน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ว่า ผลการประชุมวันนี้ เป็นการประชุมหารือกันระหว่าง 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล และอีกวงเป็นการประชุมร่วมกันระหว่าง ส.ส. และ ส.ว. มีการตกลงเรื่องระยะเวลาในการโหวตนายกรัฐมนตรี โดยวันที่ 13 ก.ค. จะมีการเริ่มประชุมกันภายในเวลา 09.30 น. หลังจากที่มีการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีแล้ว นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ ได้เสนอว่าให้สมาชิกอภิปรายซักถามอย่างเต็มที่ ก่อนที่จะมีการโหวต ซึ่งคาดว่าจะได้โหวตนายกรัฐมนตรีในเวลาช่วงเย็น
นายชัยธวัช กล่าวต่อว่า เป็นเรื่องปกติที่หากมีการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ประธานสภาฯ จะเปิดโอกาสให้ตอบคำถาม แสดงวิสัยทัศน์ไปในตัว
ส่วนเสียง ส.ว. ที่จะโหวตให้นายพิธานั้น นายชัยธวัช เปิดเผยว่า มีการกดดันในกลุ่ม ส.ว.ค่อนข้างมาก ทำให้ ส.ว.ส่วนใหญ่ไม่แสดงออกชัดเจน ต้องรอวันที่ 13 ก.ค. นี้ และจากการที่ได้ประสานไป ก็มีสัญญาณบวก ซึ่งต้องยอมรับอย่างที่เรียนในวันนี้มีกระแสข่าวกดดัน ส.ว.ที่อาจจะถูกคาดหมายว่าจะโหวตให้นายพิธาอย่างมาก
“ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรไม่ทราบ แต่กระแสข่าวมีเช่นนี้ ไม่ว่าจะเป็นการส่งข้อความ ส่งคนไปพูดคุยกดดัน บางกระแสข่าวมีการพูดถึงขั้นแบล็กเมล์ด้วยซ้ำ หรือเสนอผลประโยชน์ต่างๆ ให้ซึ่งหวังว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นจริง ๆ” นายชัยธวัช กล่าว
นายชัยธวัช ระบุว่า จะมีข้อกล่าวหาอะไรก็ตามต่อนายพิธา เมื่อเข้าสู่กระบวนการแล้ว ไม่ว่าจะเป็นศาล หรือองค์กรอิสระ ก็ยังไม่มีข้อยุติถึงที่สุด ต้องถือว่านายพิธา ยังไม่มีอะไรผิด และเป็นการแยกการทำหน้าที่อยู่แล้วระหว่างการตรวจสอบเรื่องคุณสมบัติกับการโหวตนายกรัฐมนตรีของ ส.ว. ส่วนจะทำให้ ส.ส. ไม่กล้าโหวตให้หรือไม่นั้น นายชัยธวัช ระบุว่า ตนเองเชื่อว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแยกออก สิ่งที่กังวลมากกว่าคือความพยายามยกเรื่องความจงรักภักดีมาเป็นเกณฑ์ในการให้โหวตหรือไม่โหวต คิดว่าเป็นเรื่องไม่เหมาะสม มองว่าเป็นการหมิ่นเหม่ที่จะเอาสถาบันมาปะทะกับการเลือกตั้ง ซึ่งไม่ส่งผลดีต่อสถาบันในระบอบประชาธิปไตย
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีแผนสำรองไว้หรือไม่ หากโหวตครั้งแรกไม่ผ่าน นายชัยธวัช ระบุว่า ยังไม่ได้คุยกันใน 8 พรรคร่วม โดยยังไม่ถึงวาระที่จะประชุม และยังไม่ได้มีการพูดคุยถึงจำนวนครั้งที่จะโหวต ซึ่งในที่ประชุม 8 พรรคร่วมฯ ในช่วงเช้าก็มีผู้เสนอว่าเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะให้ ส.ส. โหวตก่อนแล้ว ส.ว. โหวตตาม แต่ในที่ประชุมเห็นว่าไม่ควรยกเว้นข้อบังคับ ยืนยันว่าทั้ง 8 พรรคร่วมฯ จะเสนอชื่อนายพิธา และเสียงส่วนมากย้ำว่าการพูดคุยกับ ส.ว.จะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด
ผู้สื่อข่าวถามว่ามีความกังวลเรื่องการพิจารณาหุ้นสื่อของนายพิธาหรือไม่ นายชัยธวัช กล่าวว่า เป็นไปตามที่นายพิธาทำหนังสือไปถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่มีการแจ้งข้อเท็จจริงตามข้อกฎหมาย ที่กล่าวหานายพิธา โดยได้เปิดโอกาสให้นายพิธา ได้ชี้แจงตามกระบวนการที่ควรจะเป็น ตอนนี้เกิดคำถามว่า ทำไมจึงลุกลี้ลุกลนจนมีกระแสข่าวว่าจะรวบรัดให้ กกต. มีธงที่จะส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุติการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ของนายพิธษก่อนที่จะมีการโหวตนายกรัฐมนตรี ตนเองคิดว่า กกต. ต้องอธิบายให้ได้ว่า ทำไมจึงไม่มีกระบวนการเรียกนายพิธา จะอ้างว่าไม่จำเป็น ไม่ได้ เพราะตามระเบียบปกติควรจะมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนไต่สวน จะมีเช่นนั้นไปทำไม หาก กกต. จะส่งทุกเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย พร้อมย้ำว่าผล กกต. จะออกมาอย่างไรในวันพรุ่งนี้ (12 ก.ค. 66) ก็ไม่มีผลต่อการโหวตนายกรัฐมนตรี
ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า สถานการณ์ที่นายพิธาจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี เป็น 50:50 ใช่หรือไม่ นายชัยธวัช กล่าวว่า ไม่ต้องการ 50 แต่ต้องการ 70:30