POLITICS

‘ชลน่าน’ เผย ที่ประชุม 8 พรรคร่วมมีมติ ให้ ‘เพื่อไทย’ เสนอชื่อ ‘พิธา’ เป็นนายกฯ

‘ชลน่าน’ เผย ที่ประชุม 8 พรรคร่วมมีมติ ให้ ‘เพื่อไทย’ เสนอชื่อ ‘พิธา’ เป็นนายกฯ ย้ำชัด ไม่มีแผนสำรอง

วันนี้ (11 ก.ค. 66) ที่อาคารรัฐสภา นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนภายหลังประชุมคณะเจรจา 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล

นพ.ชลน่าน ระบุว่าวาระการประชุมวันนี้ เป็นเรื่องการประชุมรัฐสภาในวันที่ 12-13 ก.ค.นี้ โดยมีการกำหนดสมัยประชุมสมัยที่ 2 ทั้ง 8 พรรคร่วมฯ ก็มีความเห็นไป ซึ่งต้องเสนอในที่ประชุมว่าเห็นด้วยหรือไม่ และต่อมาคือการเสนอเพิ่มวันประชุมสภา จากเดิมที่เป็นวันพุธ วันพฤหัสบดีของทุกสัปดาห์ จะขอเพิ่มวันอังคารเข้าไปด้วย ซึ่งจะเริ่มประชุมในช่วง 13:00 น. เนื่องจากตอนเช้าติดประชุมของคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยจะเน้นไปที่การเสนอกฎหมายจากภาคประชาชน ส่วนวันพุธเน้นไปที่กฎหมายของ ครม. และวันพฤหัสบดี เน้นไปที่กระทู้ และญัตติต่าง ๆ

นพ.ชลน่าน ระบุอีกว่า ในการประชุมมีการพูดถึง มติการเสนอชื่อนายกฯ ในวันที่ 13 ก.ค. 66 และมติ 8 พรรคเห็นชอบเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกล โดยที่ประชุมได้ให้พรรคเพื่อไทยเป็นผู้เสนอ ซึ่งตนเองจะเป็นผู้เสนอชื่อผู้สมควรได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี จากนั้นจะเปิดให้สมาชิกได้ซักถาม

ผู้สื่อข่าวถามว่าในที่ประชุมมีการพูดคุยเรื่องการรวบรวมเสียงสนับสนุนจาก ส.ว. หรือไม่ นพ.ชลน่าน ระบุว่า มีการสอบถามกัน ซึ่งนายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการฯ พรรคตอบว่าอยู่บนความพยายามที่จะประสานให้มากที่สุด แต่ไม่รู้ว่ามากเท่าไหร่ ส่วนเสียงจะครบหรือไม่นั้น ตนเองก็ยังไม่รู้

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากพรรคก้าวไกลไม่ได้รับเสียงสนับสนุนเพียงพอกับการเป็นนายกรัฐมนตรีได้ จะมีการปรับแผนกันอย่างไร นพ.ชลน่าน ระบุว่า ไม่ได้หารือกันในเรื่องนี้ เอาข้อเท็จจริงในเหตุการณ์วันที่ 13 เป็นตัวหลัก และคิดแค่ว่าต้องผ่านเสียง ส.ว. ให้ได้ พร้อมทำหน้าที่ให้ดีที่สุดทั้งก่อน และหลังลงมติ

เมื่อถามว่าในวันที่ 13 ก.ค. นี้จะมีประชาชนมาติดตามการโหวตเลือกนายกฯ ด้วย แล้วหากนายพิธา ได้คะแนนเสียงไม่ถึง จะมีความกังวลในส่วนนี้หรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ในที่ประชุมยังไม่ได้หยิบยกมาพูดคุย แต่ในวันนั้น รัฐสภาจะเปิดโอกาสให้ประชาชนมาร่วมฟัง โดยจัดสถานที่ให้ และหากมีความจำเป็นอาจขออนุญาตปิดถนน โดยมวลชนที่มาก็เป็นสิทธิเสรีภาพอยู่แล้ว ซึ่งอยู่ในกรอบของกฎหมาย

ผู้สื่อข่าวถามต่อถึงการโหวตเลือกนายกฯ จะใช้วิธีโหวตโดยเรียงตามตัวอักษรหรือไม่ นพ.ชลน่าน ระบุว่า วิธีการโหวตต้องคำนึงถึงรัฐธรรมนูญ และข้อบังคับเป็นหลัก เมื่อเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาเรื่องนี้ อาจทำให้บรรยากาศการประชุม ติดขัด สร้างความระแวงสงสัยต่อกัน จึงได้ข้อสรุปว่าจะไม่เสนอเรื่องนี้

Related Posts

Send this to a friend