POLITICS

เพื่อไทย หวังสภาผ่าน กฎหมาย ‘คู่ชีวิต-สมรสเท่าเทียม’ ทั้งสองร่างฯ

เพื่อไทย ยันกฎหมาย ‘คู่ชีวิต-สมรสเท่าเทียม’ มีศักดิ์ศรีเท่ากันในชั้น กมธ. หวังสภาฯ ผ่านทั้งสองร่างฯ เป็นตัวเลือกให้ประชาชน

วันนี้ (11 ก.ค. 65) นายชานันท์ ยอดหงษ์ กรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คู่ชีวิต พ.ศ. … ในสัดส่วนพรรคเพื่อไทย ชี้แจงความคืบหน้าของการพิจารณากฎหมายดังกล่าว และร่าง พ.ร.บ. แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือ ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ว่า หลังจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรรับหลักการผ่านมาประมาณ 1 เดือน ข้อมูลที่ถูกนำเสนอไปดูเหมือนว่า ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต จะถูกพูดถึงมากกว่า สมรสเท่าเทียม สาเหตุอาจมาจากการส่งสารที่ไม่ครบถ้วน เนื่องจากการนำเสนอข้อมูลของโฆษกบางท่านรายงานหลังการประชุมทันที และนำไปสู่ความกังวลและสับสนในหมู่ประชาชนว่าทั้ง 2 ร่างคือสิ่งเดียวกันหรือไม่

นายชานันท์ กล่าวว่า เราต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม เป็นการแก้ไข พัฒนากฎหมายเดิม คือประมวลกฎหมายแพ่งและพานิชย์ เพื่อให้บุคคลไม่ว่าเพศวิถีเพศสภาพใดก็ตาม สามารถจดทะเบียนสมรสคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย (Lawful Spouses) เพื่อสลายการผูกขาด ยุติการเลือกปฏิบัติ ที่เกิดขึ้นในกฎหมาย เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสิทธิอย่างเสมอภาค

นายชานันท์ กล่าวว่า แต่ส่วนของ ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต เป็นการออกกฎหมายขึ้นมาใหม่ ที่แบ่งแยกจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และมีการปฏิบัติที่ต่างกัน เป็นร่างที่พัฒนามาจากสมัย พ.ศ. 2556 ในบริบทสากลขณะนั้น ประเทศต่างๆ ได้ออก Civil Partnership Bill สำหรับการจดทะเบียนคู่รักเพศเดียวกัน มีการใช้คำใหม่ อย่าง “คู่ชีวิต” ขึ้นมาในร่างกฎหมาย

ความคืบหน้าของทั้ง 2 ร่างในปัจจุบัน ในชั้น กมธ. ในส่วนของร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต ได้กำหนดคำว่า บุคคลสองคนซึ่งเป็นเพศเดียวกันโดยกำเนิด ได้จดทะเบียนคู่ชีวิตตามพระราชบัญญัตินี้

ในส่วนของ ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ขณะนี้ยังอยู่ในมาตราที่ว่าด้วยการหมั้น โดยใช้คำว่าผู้หมั้น และ ผู้รับหมั้น เพื่อไม่เป็นการกำหนดเรื่องของคู่เพศตรงข้าม

“เมื่อร่างกฎหมายทั้งสองฉบับผ่านวาระแรกแล้ว ทั้งสองร่างจึงมีคุณค่าศักดิ์ศรีเสมอกันอย่างเท่าเทียมกันในชั้นของ กมธ.” นายชานันท์ กล่าว

นายชานันท์ ยังกล่าวยืนยันว่า กรรมาธิการทุกท่าน จะปฏิบัติหน้าที่ภารกิจนี้อย่างดีที่สุด เพื่อให้ทั้งร่างกฎหมายคู่ชีวิตและสมรสเท่าเทียม ออกมาสำเร็จ โดยคำนึงถึงความเสมอภาค สิทธิ และประโยชน์สูงสุดของประชาชน และสร้างความสง่างามของประเทศเราให้มีความทัดเทียมกับโลกสากล

“หวังอย่างยิ่งว่า ในวาระต่อไปของสภาฯ จะรับทั้งสองร่างเพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชน ทั้งสมรสเท่าเทียมและคู่ชีวิต ซึ่งจะถือเป็นการสร้างวิวัฒนาการของกฎหมายไทย ให้ทันตามวิวัฒนาการเพดานความคิด และชีวิตของประชาชน” นายชานันท์ กล่าวทิ้งท้าย

Related Posts

Send this to a friend