POLITICS

เสวนานิติ มธ. แนะแนวทางกันล้มกระดานเลือก สว. มอง ฮั้วมีแต่ไม่ใช่ทุกที่

วันนี้ (11 มิ.ย.67) ศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนาติดตามผลและปัญหาการเลือก สว. : ข้อเสนอแนะแนวทางแก้ไขไม่ให้มีการล้มกระดาน ดำเนินรายการโดย รศ.ดร.วรรณภา ติระสังขะ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สะท้อนว่าระบบการเลือก สว.มีปัญหา กกต.ทำให้ปัญหามีมากขึ้น กลายเป็น องค์กรของผู้มีอำนาจ ระบบนี้ต้องอาศัยดวงในการเป็น สว.มีการจับสลากก่อนการเลือกไขว้ และหากคะแนนเท่ากันก็จะต้องจับสลาก ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ในระบบการเลือกตั้งของไทย แต่ระบบจับสลากต้องไม่ใช้ในการเลือกกันเอง หรือการเลือกตั้งที่มีคนน้อย

นอกจากนี้ยังมีกรณีที่ กกต.ตัดสิทธิผู้สมัครโดยมิชอบด้วยกฎหมาย 38 ราย ให้เหตุผลว่าเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ภายหลังศาลได้คืนสิทธิให้กับผู้สมัครเหล่านี้ ซึ่งถือเป็นความบกพร่องของ กกต.ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ปัญหาอยู่ที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 หาก กกต.เข้าใจบทบาทของตนเองว่าต้องส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพ ปัญหาจะไม่มากเท่านี้

เราพูดปัญหาเพื่อให้เกิดการเยียวยา สมประโยชน์อย่างแท้จริง หวังว่าการเลือกครั้งหน้าจะต้องเปิดให้มีการแนะนำตัวระหว่างผู้สมัครเพื่อให้รู้จักกัน ทำให้การเลือกมีคุณภาพ ชนะการเลือกฮั้ว อย่าให้วุฒิสภาเป็น สว.ฮั้วหรือจับสลาก ใช้หลักความโปร่งใส เพื่อให้ระบบฮั้วตอบแทนผลประโยชน์ลดลง

รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ยอมรับว่าการเลือก สว.ครั้งนี้มีการฮั้วจริง แต่ไม่ใช่ทุกพื้นที่ พื้นที่ที่ฮั้วมากคือพื้นที่ที่อยู่ภายใต้อิทธิพล คนไทยยุคสมัยนี้เป็นนักจัดตั้ง ระบบเลือก สว.เปิดโอกาสให้กลุ่มต่าง ๆ ในสังคมเข้ามาแชร์อำนาจ อาจจะดีกว่าการที่ คสช. มาจิ้มเลือก สว.แม้ระบบเลือกจะยังไม่สมบูรณ์ก็ตาม แต่ประชาชนมีสิทธิตรวจสอบการเลือก สว.เพื่อให้ กกต.ปรับปรุง ทั้งนี้มีบางกลุ่มที่พยายามอาศัยข้อบกพร่องของการเลือกเพื่อล้มการเลือก สว.ซึ่งอาจจะเป็นกลุ่มที่เป็น สว.อยู่ ณ ขณะนี้

การเลือก สว.มีคนจากหลายเครือข่าย ทั้งเครือข่ายนายใหญ่ ที่ได้วางตัวไว้ในหลายจังหวัด เช่น นนทบุรี เพราะต้องการ สว.เป็นฐานเพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับรัฐบาลและ สส. เนื่องจากในปีนี้จะมีการเลือกกรรมการองค์กรอิสระ หากสามารถกุมสภาพ สว.ได้ก็สามารถเลือกคนที่ไม่เป็นปรปักษ์เข้าไปในตำแหน่งองค์กรอิสระ ทำให้มีความมั่นคงและเสถียรภาพทางการเมืองมากขึ้น

นอกจากนี้ยังมีเครือข่ายของนักการเมืองบ้านใหญ่ที่อยากขยายฐานทางการเมือง เครือข่ายข้าราชการเกษียณ และภาคประชาสังคม ที่จัดตั้งโดย กอ.รมน. เข้าไปเพื่อสกัดเครือข่ายประชาธิปไตยในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เครือข่ายกลุ่มทุน ที่อยากมีตัวแทนเข้าไปปกป้องธุรกิจ กรณีมีกฎหมายที่อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจ โดยการเลือก สว.คราวนี้ มีกลุ่มธุรกิจทั้งหมด 5 กลุ่มย่อย ซึ่งหมายความว่าจะมีนักธุรกิจเป็น สว.อย่างน้อย 50 คน ในสภาพความเป็นจริงเราไม่สามารถจัดการได้หมด เพราะสังคมไทยเป็นระบบอุปถัมภ์จัดตั้งเพื่อเข้าไปสู่ระบบอำนาจ แต่ระวังเพราะต่อไปจะมีปฏิบัติการสอย สว.ฮั้ว

อ.ดร.ปุรวิชญ์ วัฒนสุข คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงที่มาที่ไปของระบบการเลือก สว.ก่อนจะเปิดเผยว่า กกต.ต้องให้ประชาชนเข้าไปสังเกตการณ์ได้มากที่สุด ทั้งนี้เป็นแนวปฏิบัติของ กกต.ตั้งแต่การเลือกตั้ง สส.ที่ไม่เคยทำเหมือนกันในแต่ละพื้นที่ จึงอยากให้มีมาตรฐานเดียวกันมากที่สุด

Related Posts

Send this to a friend