‘จาตุรนต์-พริษฐ์‘ เตือน สว.หมดวาระ อย่าทำอะไรช่วงรักษาการ อย่าทวนเข็มนาฬิกาตีรวนทำเลือกตั้งล่าช้า
วันนี้ (11 พ.ค.67) สถาบันปรีดี พนมยงค์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานวันปรีดี พนมยงค์ เพื่อเป็นการรำลึกถึงคุณูปการของศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยช่วงหนึ่งของเสวนาทางวิชาการ “เก่าไปใหม่มา : สว. ชุดใหม่ อนาคตประชาธิปไตย อนาคตประเทศไทย“ นายจาตุรนต์ ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และอดีตรองนายกรัฐมนตรี ไม่ได้มองว่า สว.เป็นคนดีหรือคนไม่ดี แต่มองว่าเป็นเรื่องของระบบ เราถกเถียงกันมานานเกี่ยวกับการให้ สว.เป็นสภาฯ พี่เลี้ยง 5 ปีของ สว.ชุดนี้หนักหนามาก เพราะให้ สว.มีอำนาจรับรององค์กรอิสระ ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. เลือกนายกฯ กำกับยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ ให้อำนาจ สว.มากกว่าที่เคยมีมาในอดีตถือเป็นระบบที่ก้าวหน้าอย่างมาก
สว.ชุดดังกล่าวทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์เพื่อให้องค์กรและคณะบุคคลที่มาจากการแต่งตั้ง มีอำนาจเหนือกว่าผู้ที่มาจากการเลือกตั้ง หรือ สส. ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างยิ่ง หวังช่วงที่ สว.รักษาการ ซึ่งไม่มีกติกาเหมือนรัฐบาลรักษาการ อะไรที่ไม่จำเป็นก็ไม่ต้องทำดีกว่า
วุฒิสภาชุดใหม่ ถูกออกแบบมาไม่ให้อำนาจประชาธิปไตยเป็นของประชาชน ข้อถกเถียงควรมีสภาฯ เดียวหรือสองสภาฯ ไม่ใช่ประเด็นในขณะนี้ เพราะเรามีรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย การแก้รัฐธรรมนูญจึงต้องอาศัย สว.
สว.ชุดใหม่ไม่ใช่ตัวแทนกลุ่มอาชีพ และไม่ได้ยึดโยงประชาชน สิ่งที่น่ากลัวที่สุดในการจัดการเลือกตั้ง สว.คือฝ่ายการเมือง และนายทุนโดยเฉพาะการเกณฑ์คนมาสมัคร ขณะที่ กกต.ก็ออกระเบียบจำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชน และสื่อมวลชน ห้ามผู้สมัครให้สัมภาษณ์สื่อ ห้ามจูงใจให้คนมาเลือกหรือไม่เลือก เราลดความเสียหายได้ โดยการเรียกร้องให้ กกต.อนุญาตให้แสดงความเห็น สัมภาษณ์ผู้สมัคร สว.ได้ กกต.ควรเคารพและเข้าใจหลักเสรีภาพ
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน กล่าวว่า สว.ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ในการมีอยู่ของ สว.ชุดบทเฉพาะกาลคือ การแช่แข็งประชาธิปไตย สืบทอดอำนาจของกลุ่มคนที่เชื่อมโยงกับกลุ่มรัฐประหาร
สว.250 คนมาจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ทั้งหมดถูกเลือกจาก คสช.โดยเบ็ดเสร็จ แต่มีอำนาจสูงมาก ซึ่งไม่ชอบตามประชาธิปไตย มีการขยายอำนาจสถาบันทางการเมืองและกลไกทางการเมืองที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เราเห็นผลงานสำคัญของ สว.ที่เรียกว่า 3 กลไกแช่แข็งประชาธิปไตย ประกอบด้วย
1.การเลือกนายกฯ แทรกแซงการจัดตั้งรัฐบาลให้ได้รัฐบาลที่มีแนวโน้มน้อยที่สุดในการเปลี่ยนแปลงสังคม ยกตัวอย่างการเลือกนายกฯ เมื่อปี 2562 และล่าสุดคือการเลือกนายกฯ ในปี 2566 ที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ไม่ได้รับเลือกเป็นนายกฯ มี สว.เพียง 13 คน จาก 250 คนที่เห็นชอบ
2.ยับยั้งการแก้รัฐธรรมนูญ ที่ผ่านมามีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 26 ร่างเข้าสู่สภาฯ แต่ผ่านความเห็นชอบแค่หนึ่งร่าง เรื่องแก้ระบบเลือกตั้ง 3.อำนาจในการรับรองตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง และองค์กรอิสระ
“สิ่งสำคัญที่สุดคือ เวลาของพวกท่านหมดแล้ว ขออย่าพยายามทวนเข็มนาฬิกา อย่าพยายามตีความว่าอำนาจยังมีอยู่ อย่าตีรวนให้การเลือก สว.ล่าช้า”
โครงสร้างอำนาจ สว.ชุดใหม่ยังห่างไกลกับสิ่งที่ควรจะเป็น แต่มีสมดุลกว่าชุดก่อน ไม่ได้มีอำนาจล้นฟ้าในการเลือกนายกฯ แต่ก็ยังมีอำนาจสูงมากอยู่ เราจะทำอย่างไรในการเรียกร้องให้การเปลี่ยนผ่าน สว.ชุดเก่าไปชุดใหม่ราบรื่นที่สุด โดยไม่มีการยื้อ ทำให้กระบวนการคัดเลือก สว.มีความเหมาะสม เราอยากเห็นประชาชนแม้ไม่มีสิทธิเลือก แต่ก็มีเสรีภาพในการแสดงความเห็นและสังเกตการณ์ได้
นายพริษฐ์ ยังเรียกร้องให้ กกต.ออกมายืนยันชัดเจนว่า จะประกาศผลการเลือก สว.ภายในกี่วัน พร้อมกับทบทวนระเบียบว่าด้วยการแนะนำตัว