POLITICS

กรมประมง เดินแผนเพาะขยายพันธุ์ ‘ปลาบู่’ ทดแทนการจับจากธรรมชาติ

นายประพันธ์ ลีปายะคุณ รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า กรมประมงให้ความสำคัญกับการศึกษา วิจัย และพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เพื่อฟื้นฟูและทดแทนการจับจากธรรมชาติ เนื่องจากบางชนิดมีปริมาณลดลง โดยเฉพาะสัตว์น้ำเศรษฐกิจซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาด อีกทั้งมีแผนพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพการเพาะเลี้ยงทั้งด้านการผลิต การแปรรูป รวมถึงเปิดช่องทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศ สนับสนุนและสร้างโอกาสทางการแข่งขันให้เกษตรกรไทยสามารถประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืน

หนึ่งในสัตว์น้ำที่กรมประมงสนับสนุนให้หน่วยงานเร่งเพาะขยายพันธุ์ คือ ‘ปลาบู่’ เนื่องจากเป็นสัตว์น้ำที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เป็นที่นิยมของผู้บริโภคและผู้นิยมเลี้ยงปลาสวยงาม ผลผลิตส่วนใหญ่ส่งออกไปยังต่างประเทศ เช่น ฮ่องกง สิงคโปร์ และมาเลเซีย ทั้งในรูปแบบมีชีวิต และแช่เย็น อีกทั้งความต้องการของปลาบู่จากตลาดต่างประเทศมีเพิ่มขึ้นทุกปี ทำให้มีราคาสูงขึ้น โดยขนาด 800 กรัม กิโลกรัมละ 370 บาท

นางสาวแสงเดือน นาคสุวรรณ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดปทุมธานี กรมประมง กล่าวว่า ศูนย์ฯ ประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ปลาบู่ โดยนำพ่อแม่พันธุ์ขนาด 200-300 กรัม จำนวน 23 คู่ มาเพาะขยายพันธุ์โดยวิธีเลียนแบบธรรมชาติในบ่อซีเมนต์ขนาด 50 ตารางเมตร และใช้กระเบื้องแผ่นเรียบขนาด 30×30 เซนติเมตร ที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ ทำเป็นกระโจมสามเหลี่ยมวางไว้รอบบ่อเพื่อให้แม่ปลาวางไข่ พร้อมรตรวจการวางไข่ทุก 3 วัน จากกระเบื้องทุกแผ่น โดยไข่ปลาใช้เวลาฟักออกเป็นตัวหมดทั้งรังประมาณ 3 วัน จากนั้นอนุบาลลูกปลาด้วยโรติเฟอร์เป็นอาหาร เมื่อลูกปลาอายุ 15 วัน เริ่มให้ไรแดงเป็นอาหาร เมื่อลูกปลาโตขึ้นมีความยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร จึงให้อาหารเม็ดสำเร็จรูป โดยพบว่าอัตราการรอดของลูกปลาอยู่ที่ร้อยละ 77.52

ในปี 2565 ทางศูนย์ฯ สามารถจำหน่ายลูกพันธุ์ปลาบู่ขนาด 1 นิ้ว ให้เกษตรกรชุดแรกแล้วจำนวน 10,000 ตัว และในปี 2566 มีแผนในการเพิ่มปริมาณผลผลิตให้สามารถจำหน่ายได้ถึง 42,000 ตัว ขยายผลประโยชน์ทางด้านการอนุรักษ์และเชิงพาณิชย์ต่อไป

รองอธิบดีกรมประมง กล่าวทิ้งท้ายว่า กรมประมงมุ่งมั่นที่จะผลักดันให้ปลาบู่เป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่มีศักยภาพในการแข่งขันที่สูงขึ้น โดยสนับสนุนการศึกษา วิจัย เพื่อปรับเทคนิคการเพาะขยายพันธุ์ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตลูกพันธุ์ปลาบู่ให้มีอัตรารอดที่สูงขึ้น พร้อมถ่ายทอดความรู้ในการเพาะเลี้ยงแก่เกษตรกร รวมถึงส่งเสริมช่องทางการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อสร้างมูลค่า สร้างรายได้ และสร้างโอกาสให้กับภาคธุรกิจประมงในอนาคต

Related Posts

Send this to a friend