‘สมชัย’ แนะ กกต.หาผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์เป็นที่ปรึกษา
ดูนโยบายประชานิยม ชี้เป็นหน้าที่ กกต.วิเคราะห์นโยบายเงินดิจิทัลเหมาะสมหรือไม่
วันนี้ (11 เม.ย. 66) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ พรรคเสรีรวมไทย และอดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สัมภาษณ์ถึงนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาทของพรรคเพื่อไทยว่า นโยบายของหลายพรรคการเมืองล้วนใช้งบประมาณแผ่นดินจำนวนมาก หากเปรียบเทียบในเชิงตัวเลข หลายพรรคใช้งบประมาณมากกว่าพรรคเพื่อไทยหลายเท่า เช่น นโยบายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุของพรรคพลังประชารัฐ ที่ระบุว่าจะให้คนอายุ 60 ปีขึ้นไป คนละ 3,000 บาท 70 ปีขึ้นไป 4,000 บาท และ 80 ปีขึ้นไป 5,000 บาท หากจ่าย 4 ปี งบประมาณจะอยู่ที่ 2 ล้านล้านบาท มากกว่าของพรรคเพื่อไทยถึง 4 เท่า ตอนนี้ทุกพรรคการเมืองหาเสียงด้วยนโยบายประชานิยม ใช้ตัวเลขเกทับกัน ทั้งนี้การที่เลขาธิการ กกต.ให้สัมภาษณ์ว่า ถ้าไม่ได้ใช้เงินส่วนตัว ก็สามารถทำได้ ยิ่งทำให้เกิดการเลียนแบบ
ในทางกฎหมายต้องพิจารณา 2 เรื่อง คือเป็นความผิดสัญญาว่าจะให้ ตามมาตรา 73 (1) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ซึ่งหน้าที่การตีความควรเป็นของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ไม่ใช่หน้าที่ของเลขาธิการ กกต. ทั้งนี้ไม่ควรมีสิทธิมาพูดก่อนล่วงหน้า จะผิดหรือไม่ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของ กกต.
ส่วนมาตรา 57 ของ พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ ที่กำหนดว่าพรรคการเมืองต้องระบุแหล่งที่มาในการใช้งบประมาณ แต่มาตราดังกล่าวไม่ค่อยมีผลในการบังคับใช้ และ กกต.เองมีข้อจำกัดในการวิเคราะห์ อาจไม่มีผู้เชี่ยวชาญทางเศรษศาสตร์มหภาคที่จะบอกว่าตัวเลขต่าง ๆ จะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างไร ส่วนบทลงโทษในมาตรานี้ค่อนข้างน้อย คือการตักเตือน และปรับแค่วันละ 10,000 บาทจนกว่าจะมีการแก้ไขให้ถูกต้อง ซึ่งขณะนี้มีการส่งข้อมูลเพียงไม่กี่พรรคเท่านั้น
ขอฝากถึงพรรคการเมืองว่าการทำนโยบาย ควรคำนึงถึงขีดความสามารถทางงบประมาณรายจ่ายของประเทศ เช่น ปี 2568 มี 3.3 ล้านล้านบาท เป็นงบลงทุน 20.5 % ที่เหลือเป็นรายจ่ายประจำ หากจะเอางบประมาณแผ่นดินมาใช้ในนโยบายประชานิยม ต้องพิจารณาว่าจะเอามาจากส่วนใด หากจะตัดงบลงทุนก็ต้องเติมกลับเข้าไป เพราะ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังกำหนดไว้ชัดว่า งบลงทุนต้องไม่น้อยกว่า 20% หากจะกู้ก็ต้องมีเหตุและผลที่เหมาะสม เพราะจะส่งผลต่อหนี้สาธารณะของประเทศ ดังนั้นทุกพรรคการเมืองต้องคิดให้ดีถึงการออกนโยบายประชานิยม แม้จะบอกว่าทำเพื่อให้ประชาชนมาเลือก แต่ในทางปฏิบัติไม่สามารถทำได้ หากทำได้ก็จะกระทบต่อสังคม ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมและปัญหาวินัยการเงินการคลังของประเทศ
ส่วนกรณีพรรคเพื่อไทยยื่นเอกสารบางส่วนให้กกต.แล้ว เป็นหน้าที่ กกต.นำไปวิเคราะห์ว่าสมเหตุสมผลหรือไม่ ส่วนตัวไม่เชื่อว่า กกต.เข้าใจ เพราะแม้แต่ในกรรมาธิการงบประมาณก็ใช้เวลานานกว่าจะเข้าใจตรงกัน จึงจำเป็นต้องให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินการคลังภาครัฐมาเป็นที่ปรึกษา ซึ่ง กกต.สามารถหาคนช่วยได้ อาจสอบถามกลับไปยังกระทรวงการคลัง หรือสำนักงบประมาณ เพื่อขอคำตอบว่าสามารถทำได้หรือไม่