POLITICS

นักวิชาการ-ประชาสังคม ปลุก ปชช.เฝ้านับคะแนนหน้าหน่วยเลือกตั้ง 2566

นักวิชาการ-ประชาสังคม ปลุกประชาชน เฝ้านับคะแนนหน้าหน่วยเลือกตั้ง 2566 หวังบีบ กกต. ดำเนินการโปร่งใส ปิดทางกลไกสืบทอดอำนาจ

วันนี้ (11 ม.ค. 66) เครือข่ายประชาชนสังเกตการณ์การเลือกตั้ง 2566 จัดเสวนาวิชาการ “เข้าคูหา จับตา เลือกตั้ง 66” ณ ห้องเอนกประสงค์ หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร โดยมี ดร.เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช นักวิจัยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ดำเนินรายการ

ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า การเลือกตั้งในปี 2566 นี้ แม้จะมีส่วนเหมือนกันอยู่กับการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ในส่วนของอำนาจสมาชิกรัฐสภาในการเลือกนายกรัฐมนตรี แต่ส่วนที่แตกต่างไปและดียิ่งขึ้น คือ ระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ คือ ใบหนึ่งสำหรับคะแนนพรรคการเมือง และอีกใบหนึ่งสำหรับคะแนนผู้สมัคร

ปัญหาของการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 คือขาดการเปิดการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบความโปร่งใสของการจัดการเลือกตั้ง ดังนั้น การเลือกตั้งในปี 2566 นี้จึงควรให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการติดตามการนับคะแนนด้วย ผ่านการถ่ายภาพการนับคะแนน จึงจะลดปัญหาทั้งการนับคะแนนรายหน่วย และบัตรเขย่ง

“การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นจุดเปลี่ยน ไม่ใช่ พ.ค. 67 ที่ ส.ว. หมดวาระลงไป แต่การเลือกตั้งครั้งนี้จะช่วยให้เรากลับสู่ประชาธิปไตยเร็วขึ้น” อาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าว

เช่นเดียวกันกับ รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ย้อนกลับไปถึงระบบเลือกตั้งในปี 2562 ในรูปแบบจัดสรรปันส่วนผสม ซึ่งไม่เหมือนกับที่ไหนในโลก เป็นผลให้เกิดการเน้นย้ำลัทธิเน้นตัวบุคคล ลดทอนความเป็นสถาบันของพรรคการเมือง เกิดการแข่งขันกันเองในพรรคการเมือง

“ดิฉันไม่ขอเรียกว่าเป็นระบบเลือกตั้ง แต่เป็นเพียงเทคนิคเลือกตั้ง และยืนยันได้เลยว่า ไม่เหมือนกับที่ไหนในโลก” รศ.ดร.สิริพรรณ กล่าว

รศ.ดร.สิริพรรณ ยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของการคำนึงถึงระบบเลือกตั้งว่า เป็นเครื่องมือของการเข้าสู่อำนาจทางการเมือง หากเปลี่ยนระบบเลือกตั้ง หน้าตาของรัฐบาลก็อาจเปลี่ยนไปก็ได้

“สิ่งที่ดิฉันอยากเห็นที่สุดของการเลือกตั้งครั้งนี้คือ การถ่ายโอนอำนาจระหว่างขั้วหนึ่งไปอีกขั้วหนึ่งอย่างสันติ เพราะประเทศไทยยังไม่เคยมีประสบการณ์ในการถ่ายโอนอำนาจอย่างสันติเลยตลอด 20 ปีที่ผ่านมา จะรอดูว่าจะยอมหรือไม่ หรือใช้กลไก ส.ว. 250 คนลงมติสวนทางกับเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน” อาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าว

ด้าน นายพงษ์ศักดิ์ จันทร์อ่อน เครือข่ายเยาวชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งเพื่อประชาธิปไตย (We Watch) กล่าวว่า ประชาชนกังวลและไม่มั่นใจในการเลือกตั้งที่จะมาถึง เพราะผู้มีอำนาจบิดเบือนกฎการเลือกตั้ง ทั้งที่การเลือกตั้งมีความสำคัญมากในประเทศนี้ ดังนั้น ประชาชนจึงมีส่วนสำคัญต่อการรณรงค์ให้มีส่วนร่วมต่อการจัดการเลือกตั้งด้วย

ส่วน นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) มองว่า แม้ส่วนตัวจะเอนเอียงไปทางว่าฝ่ายผู้มีอำนาจจะยังคงอยู่ในอำนาจต่อไปหลังการเลือกตั้งปี 2566 ด้วยกลไกที่เขาออกแบบกันมา แต่สิ่งที่ประชาชนทำได้คือการบีบให้เครื่องมือเนียน ๆ ของฝ่ายผู้ต้องการสืบทอดอำนาจมันใช้การไม่ได้อีกต่อไป

“ผมไม่มีทางเชื่อคะแนนของ กกต. ได้เลย”

แต่ถามว่าจะรอเพียงผลการนับคะแนนของ กกต. อย่างเดียวหรือไม่ นายยิ่งชีพ เชิญชวนให้ประชาชนร่วมกันออกมานับคะแนนรายหน่วยเลือกตั้ง ไม่ใช่เพื่อให้นำข้อมูลไปชนกับคะแนนของ กกต. แต่เพื่อให้ กกต. เห็นว่า ประชาชนอยู่ในทุกหน่วยเลือกตั้ง แล้วเขาจะทำให้มันถูกเอง

Related Posts

Send this to a friend