‘วันนอร์‘ มองรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องเป็นบ้านที่มีรั้ว ป้องกันรัฐประหาร
‘วันนอร์‘ เปิดงานวันรัฐธรรมนูญ ยกกรณีศึกษาเกาหลีใต้-ตุรกี อำนาจเผด็จการไม่อาจชนะเจตจำนง ปชช.ได้ มองรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องเป็นบ้านที่มีรั้ว ป้องกันรัฐประหาร
วันนี้ (10 ธ.ค.67) นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวเปิดกิจกรรมวันรัฐธรรมนูญ 2567 “สู่รัฐธรรมนูญในฝัน” ณ อาคารรัฐสภา ว่าวันนี้ถือเป็นวันสำคัญอย่างยิ่งของรัฐสภา เนื่องจากเป็นวันรัฐธรรมนูญ มีรัฐธรรมนูญจึงมีรัฐสภา และการมีรัฐธรรมนูญโดยปกติจะต้องอนุมัติโดยรัฐสภาที่มาจากประชาชน รัฐธรรมนูญยังเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองและบริหารประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐธรรมนูญ รัฐสภา และประชาชนผูกพันกันอย่างแยกไม่ได้ แต่บางครั้งก็มีคนพยายามทำให้สิ่งเหล่านี้แยกจากกัน
วันนี้วันรัฐธรรมนูญ ตนเองยืนยันว่ารัฐธรรมนูญ รัฐสภา และประชาชนต้องมีความผูกพันกัน ประเทศจึงจะเป็นประชาธิปไตยอย่างที่เราต้องการ รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดที่สะท้อนถึงเจตจำนงร่วมกันของคนในชาติ แต่ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญมักจะเกี่ยวกับความขัดแย้ง การรัฐประหาร รวมถึงการยกเลิกรัฐธรรมนูญถึง 20 ฉบับ การกระทำเช่นนี้เป็นการแสดงถึงจุดอ่อนในการรักษารัฐธรรมนูญ และรักษาประชาธิปไตยของประเทศ เพราะเราขาดความรัก ความเข้าใจและความหวงแหนในประชาธิปไตย
อดีตรัฐธรรมนูญถือกำเนิดขึ้น จากความตั้งใจของประชาชนคนไทย และเป็นความปรารถนาดีของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ที่เต็มใจมอบรัฐธรรมนูญ และประชาธิปไตยให้คนไทยทั้งประเทศ จากจุดเริ่มต้นของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นหลักสำคัญในการที่จะนำพาประเทศเราก้าวข้ามสิ่งต่าง ๆ มาได้ ปัจจุบันยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการกำหนดทิศทางของการพัฒนาชาติ ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม
นอกจากนี้รัฐธรรมนูญ ยังเป็นกติกาที่สร้างความสมดุลระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ และการมีส่วนร่วมทางการเมือง ที่สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย เพื่อให้สังคมอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขในบริบทของการปกครอง และพัฒนาในระบอบประชาธิปไตย
เกาหลีใต้และประเทศตุรกี เป็นตัวอย่างสำคัญที่ทำให้เราสำนึกว่าประชาธิปไตยจะอยู่ได้อย่างไร เกาหลีใต้เคยผ่านการปฏิวัติรัฐประหารมาหลายยุคหลายสมัย แต่ในที่สุดเกาหลีใต้ก็ก้าวข้ามมาได้ ด้วยการสร้างรัฐธรรมนูญและมีผู้นำที่เป็นประชาธิปไตย ประเทศเกาหลีใต้ซึ่งไม่ได้เจริญกว่าเราและยากจนกว่าเรา ภายในเวลา 30 ปี หลังประชาธิปไตยเข้มแข็ง เกาหลีใต้สามารถสร้างเศรษฐกิจที่มั่นคงแข็งแรง เป็นประเทศที่มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดี ประชาชนมั่งคั่งและมั่นคง
เกาหลีใต้เป็นตัวอย่างให้เห็นว่า หากประชาธิปไตยมั่นคงแข็งแรง เศรษฐกิจของประเทศก็จะดี ประชาชนก็จะหายจนไปเยอะ อย่างไรก็ตามเมื่อสัปดาห์ที่แล้วเกาหลีใต้ต้องเผชิญกับบทท้าทาย หลังประธานาธิบดีเกาหลีใต้คนปัจจุบันได้ยึดอำนาจประกาศกฎอัยการศึก ซึ่งจะกลับไปสู่ยุคเดิมอีก แต่ชาวเกาหลีไม่ยินยอม สมาชิกรัฐสภาประชุมเพื่อยกเลิกการประกาศกฎอัยการศึกของประธานาธิบดี วันนี้ประชาธิปไตยยังมีมีอยู่ในเกาหลีใต้ต่อไป
หากประชาชนยินยอมเอาดอกไม้ไปมอบให้กับทหารที่รัฐสภาเกาหลีในวันนั้น วันนี้เผด็จการคงครองอำนาจ ประชาธิปไตยไม่เกิดขึ้นเหมือนกับบ้านเรา ฃที่ประชาธิปไตยถดถอยไป 10-20ปี จึงขอแสดงความชื่นชมกับประชาชนเกาหลี และสมาชิกรัฐสภาเกาหลีที่ยังคงมุ่งมั่นรักษาประชาธิปไตยอย่างไม่กลัวเกรงอำนาจเผด็จการ
บทเรียนจากเกาหลีใต้ แม้เผด็จการจะใช้ความพยายามเพื่อทำลายประชาธิปไตย แต่ประชาธิปไตยที่หยั่งลึกในสังคม ความเข้มแข็งของประชาชนและรัฐสภา จึงยับยั้งความพยายามที่จะยึดอำนาจได้ ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่การสร้างความมั่นคงทางการเมือง แต่เป็นปัจจัยสำคัญที่เราต้องรัก เพราะทำให้ประชาชนเข้มแข็ง แข็งแรง และเศรษฐกิจมั่นคง
ส่วนประเทศตุรกี ทหารเข้ายึดอำนาจประธานาธิบดีเมื่อปี 2016 ซึ่งประธานาธิบดีประกาศให้ประชาชนอย่ายินยอมกับอำนาจของทหาร เป็นตัวอย่างให้เห็นว่าหากประชาชนแข็งแรงเข้มแข็ง ไม่ยอมสยบต่ออำนาจเผด็จการ ประเทศนั้นจะสามารถรักษาอำนาจของปวงชนได้ แม้ทหารจะมีความเข้มแข็งมาก แต่ก็สู้กับหัวใจที่เด็ดเดี่ยวของประชาชนไม่ได้ และประธานาธิบดีเองได้แสดงให้เห็นว่า อำนาจเผด็จการไม่อาจเอาชนะเจตจำนงของประชาชนได้
กรณีของเกาหลีใต้และตุรกี แสดงให้เห็นว่าประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญเพียงอย่างเดียว ขณะนี้เรากำลังจะแก้รัฐธรรมนูญยังไม่รู้ว่าจะแก้ได้หรือไม่ จะแก้ไขรายมาตรา หรือแก้ไขทั้งฉบับ ถามว่าแก้แล้วปฏิวัติได้หรือไม่ แก้แล้วฉีกได้หรือไม่ แก้แล้วยกเลิกรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ ก็ได้ทั้งนั้น จึงมีคำถามว่าแก้ไปทำไม ก็เพราะเราเห็นอยู่แล้วว่ารัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตย สิ่งสำคัญหลังจากนั้นคือ หลังจากแก้รัฐธรรมนูญแล้ว จะทำอย่างไรไม่ให้ถูกฉีก
สำคัญกว่านั้นคือ การทำให้ประชาชนสำนึกและรักประชาธิปไตย ไม่ยอมให้ใครมาฉีกรัฐธรรมนูญอีก สำหรับประเทศไทยควรจะใช้บทเรียนของทั้งสองประเทศ เชื่อว่ารัฐธรรมนูญในอนาคตของประเทศไทยต้องมีมากกว่ารัฐธรรมนูญที่เป็นกระดาษให้เขาฉีกได้ รัฐธรรมนูญในอนาคตต้องเต็มไปด้วยจิตวิญญาณของประชาชนที่รักรัฐธรรมนูญ และจิตวิญญาณของประชาชนที่รักประชาธิปไตย
เราพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าการยกเลิกรัฐธรรมนูญ ทั้ง 20 ฉบับ บ้านเมืองดีขึ้นหรือไม่ ตนเองอยู่ในเหตุการณ์มาประมาณ 10 ครั้งก็ไม่เห็นดีขึ้น แล้วจะให้มีการฉีกรัฐธรรมนูญอีกทำไม ความบกพร่องของรัฐสภาเป็นข้ออ้างในการฉีกรัฐธรรมนูญ ยอมรับว่ารัฐสภาอาจจะมีข้อบกพร่อง ผู้บริหารอาจจะไม่ดี แต่การฉีกรัฐธรรมนูญและการปฏิวัติสามารถแก้ได้
รัฐสภาเป็นของประชาชน ดังนั้นจึงต้องแก้โดยประชาชน ผู้บริหารไม่ดีประชาชนไม่เลือก รัฐสภาไม่ดีก็มีการยุบสภา เราต้องให้ความสำคัญกับประชาชน เพราะประชาธิปไตยของประชาชน เพื่อประชาชน ไม่ใช่อำนาจหรือกระบอกปืนที่มีสำคัญในระบอบประชาธิปไตย ดังนั้นรัฐธรรมนูญในอนาคต ควรจะมีบทบัญญัติของการป้องกันปฏิวัติรัฐประหาร
“บ้านที่มีรั้ว มีประตูบ้าน กับบ้านที่ไม่มีรั้วไม่มีประตูอันไหนจะป้องกันโจรได้มากกว่า รัฐธรรมนูญฉบับต่อไป โจรอาจจะปล้นได้ แต่ขอให้เรามีรั้ว มีประตู และใส่กุญแจได้ คนอยู่ในนั้น เขาพร้อมที่จะปิดประตูสู้ในรั้วของเขา”
นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวต่อว่าไม่อยากให้มาเฉลิมฉลองวันรัฐธรรมนูญเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมองไปข้างหน้า เมื่อเรามีรัฐธรรมนูญแล้วมีประชาธิปไตยแล้ว เราจะป้องกันรัฐธรรมนูญและป้องกันประชาธิปไตยนี้ให้ยืนนานได้อย่างไร เราคงไม่มองว่าวันรัฐธรรมนูญคือ วันฉลองรัฐธรรมนูญ แต่อยากให้เห็นว่าวันนี้จะเป็นวันที่ปกป้องรัฐธรรมนูญ สร้างแนวป้องกันให้กับรัฐธรรมนูญ