‘ศิริกัญญา‘ เชื่อ ‘ดิจิทัลวอลเล็ต‘ ถึงทางตัน นายกฯ กล้าแถลงจะออก พ.ร.บ.เงินกู้ ก่อนปรึกษากฤษฎีกา
‘ศิริกัญญา‘ เชื่อ ‘ดิจิทัลวอลเล็ต‘ ถึงทางตันโดยสมบูรณ์แล้ว นายกฯ กล้าแถลงจะออก พ.ร.บ.เงินกู้ ก่อนปรึกษากฤษฎีกา เปิดทางให้ร้องศาลรัฐธรรมนูญตีตก สุดท้าย “ไม่มีใครได้เงินสักบาท” ชี้ หากผ่านจะต้องจ่ายหนี้ 20% ของรายได้ต่อปี ไม่มีรายละเอียดดอกเบี้ย จี้รัฐบาลส่งกฤษฎีกาตีความเพื่อรับผิดชอบทางการเมือง
วันนี้ (10 พ.ย. 66) นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล สส.แบบบัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ภายหลังการแถลงข่าวชี้แจงรายละเอียดโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท โดย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เสร็จสิ้น โดยสรุปสาระสำคัญได้ว่าจะมีการออก พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท พัฒนาแอปเป๋าตังให้มีบล็อคเชนรองรับ ให้เงิน 10,000 บาท แก่ประชาชนอายุมากกว่า 16 ปี ที่มีรายได้ต่อเดือนไม่เกิน 70,000 บาท และมีเงินฝากไม่เกิน 500,000 บาท รวมประมาณ 50 ล้านคน ในเดือนพฤษภาคมปีหน้า ใช้ได้ในเขตอำเภอตามบัตรประชาชน ระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือนนั้น
น.ส.ศิริกัญญา ระบุว่า แม้ความชัดเจนจะปรากฏแล้ว แต่ยังไม่ชัดเจนมากนักในเรื่องแหล่งที่มาของเงิน จากการที่นายกรัฐมนตรีแถลงวันนี้ ต้องยอมรับว่านายกรัฐมนตรีเลือกเส้นทางที่ยากที่สุด คือการออก พ.ร.บ.เงินกู้ วงเงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อที่จะระดมทุนมาใช้จ่ายในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต
ต้องบอกพี่น้องประชาชนว่า ถึงแม้วันนี้จะมีหลักเกณฑ์ที่พูดถึงว่า จะให้พี่น้องประชาชนที่มีเงินเดือนต่ำกว่า 70,000 บาท มีเงินฝากไม่เกิน 500,000 บาท แต่ในท้ายที่สุดอาจจะไม่มีใครได้เงินจากโครงการนี้เลยแม้แต่บาทเดียว เพราะ พ.ร.บ.เงินกู้ ที่จะออกนั้น เสี่ยงจะขัดต่อรัฐธรรมนูญและข้อกฎหมาย พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า แม้จะมีประชาชนบางส่วนตั้งข้อสงสัยอยู่แล้วกับการกู้เงินมาเพื่อแจก แต่ยังมีเรื่องข้อกฎหมาย อีกทั้งรัฐธรรมนูญมาตรา 140 ที่บอกว่าหากจะใช้เงินที่ไม่เป็นไปตามกระบวนการงบประมาณตามปกติ จะทำได้เฉพาะกรณีจำเป็นเร่งด่วนเท่านั้น และตามมาตรา 53 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ก็ได้พูดในทำนองเดียวกันว่า จะอนุญาตให้มีการออกกฎหมายเพื่อกู้เงินได้ในเฉพาะกรณีจำเป็นเร่งด่วนเท่านั้น วันนี้ยังไม่มีรายละเอียดอะไรเลยถึงความจำเป็นเร่งด่วนของโครงการนี้
“เราไม่อยากกดดันให้เกิดการร้องเรียนไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช. ผู้ตรวจการแผ่นดิน หรืออะไรต่างๆในการตีความ แต่คิดว่านี่เป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหาร ของฝ่ายการเมืองโดยแท้จริง ที่ต้องแสดงความรับผิดชอบโดยการให้คณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ถือเป็นที่ปรึกษาของรัฐบาลตีความในเรื่องนี้ให้เด็ดขาด ว่าสรุปแล้วรัฐบาลสามารถออก พ.ร.บ.เพื่อกู้เงินได้หรือไม่ โดยไม่ต้องไปถึงมือองค์กรอิสระ เพราะเราทราบกันดีว่ามันไม่ใช่วิถีประชาธิปไตยสักเท่าไร” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า เรื่องนี้มีความสุ่มเสี่ยงอย่างมาก ไม่ใช่ว่ารัฐบาลไม่ทราบมาก่อน ในกรณีนี้เหมือนกรณี พ.ร.บ.สองล้านล้าน อย่างชัดเจนที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญตีตก ด้วยข้อกล่าวหาแบบเดียวกันว่า ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน
“ดังนั้นรัฐบาลเพื่อไทย จะอ้างว่าไม่ทราบไม่ได้เลย แต่ยังเลือกทางนี้ ทำให้เราตั้งข้อสงสัยได้ว่า ความจริงแล้วไม่ต้องการให้โครงการนี้สำเร็จ แต่ต้องการให้เข้าทางนักร้องต่างๆ ที่ต้องการให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความหรือไม่ เพียงเพื่อจะให้เป็นทางลงที่สวยงามที่สุดสำหรับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งอาจถึงทางตันอย่างสมบูรณ์แล้ว“ น.ส.ศิริกัญญา กล่าวตั้งข้อสงสัย
น.ส.ศิริกัญญา ย้ำอีกครั้งว่า ไม่ได้เป็นการชี้ทางให้นักร้อง ตนไม่เห็นด้วยกับการร้องศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้ และขอให้รัฐบาลแสดงความรับผิดชอบทางการเมือง โดยการให้กฤษฎีกาเป็นผู้ตีความว่าทำได้หรือทำไม่ได้
”นายกรัฐมนตรี มีความกล้าหาญมากในวันนี้ที่กล้าพูดว่าจะออก พ.ร.บ.เงินกู้ ทั้งๆ ที่ตามกฎหมายแล้วไม่สามารถทำได้เลย โดยที่ยังไม่มีคำวินิจฉัยจากกฤษฎีกาก่อน“ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าว
น.ส.ศิริกัญญา มองว่า รัฐบาลน่าจะเห็นแล้วว่าไม่มีทางไปจริงๆ จึงออกมาเป็นทางเลือกนี้ เป็นการหาทางลงมากกว่าที่จะเป็นการเดินหน้าโครงการนี้ เป็นผลลัพธ์ของการไม่ได้คิดนโยบายมาอย่างถี่ถ้วนก่อนหาเสียง สุดท้ายแล้วพอถึงทางตัน ก็ไม่มีทางที่จะเดินหน้าได้ ก็หาทางลงแบบนี้
นอกจากนี้จากที่นายกรัฐมนตรีแถลงว่าจะใช้งบประมาณผูกพันธ์ในการชำระหนี้ จากการกู้เงินให้หมดภายใน 4 ปีข้างหน้าเท่ากับ รัฐบาลจะมีภาระหนี้ที่ต้องชำระต่อปีรวมกับหนี้เก่าปีละกว่า 500,000 ล้านบาท หรือ 15% ของ งบประมาณรายจ่ายประจำปีหรือเกือบ 20% ของรายได้ที่รัฐจะจัดหาได้ด้วยซ้ำไป ในวันนี้ที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลทุกครั้งที่รัฐบาลต้องหาเงินกู้กว่า 3% แล้ว สมมติกู้แล้วจะจ่ายคืนใน 4 ปี ต้องจ่ายดอกเบี้ยประมาณ 2.7% แล้ว ดังนั้นจะเป็นภาระต่องบประมาณอย่างใหญ่หลวงเป็นข้อกังวลที่สถาบันจัดอันดับเรตติ้งมีความห่วงใยมาโดยตลอดว่าภาระดอกเบี้ยสองงบประมาณหรือภาระดอกเบี้ยต่อรายได้ไม่ควรเกิน 10% สิ่งที่รัฐบาลทำวันนี้หากผ่านจริงจะทำให้ภาระดอกเบี้ยต่องบประมาณเกิน 10% ในปีงบประมาณ 2568 ทันที
เรื่องภาระหนี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลไม่พูดในถ้อยแถลงว่าภาระหนี้จะเป็นอย่างไร เงินต้นเท่าไหร่ที่ใช้คืน ดอกเบี้ยเป็นเท่าไหร่ ไม่มีการพูดถึงเลย เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่เป็นความเสี่ยง และความเสี่ยงนี้จะไม่เกิดขึ้นหาก พรบ.นี้ถูกทำแท้งตั้งแต่ต้น โดยกฤษฎีกา
ส่วนเงื่อนไขในการแจกเงิน น.ส.ศิริกัญญา มองว่าเป็นเงื่อนไขที่ลอยมาจากฟ้าโดยสิ้นเชิง หากจะตัดตามสัดส่วนของคนที่มีรายได้เท่าไหร่ หากตัดตามสัดส่วน 20% บนสุด จะอยู่ที่ประมาณ 60,000 บาทต่อเดือน ไม่รู้ว่า 70,000 บาทมาจากไหน จะเอาคนออกไป 4 ล้านคนจริงหรือไม่ คาดว่าเป็นการทำเพื่อให้เป็นเลขกลมๆ ไม่มีหลักเกณฑ์อะไรมากนัก