POLITICS

รมว.กต. ขอบคุณประเทศสมาชิกสหประชาชาติ หลังไทยได้รับเลือกนั่ง HRC วาระ 2568-2570

รมว.กต. ขอบคุณประเทศสมาชิกสหประชาชาติ หลังไทยได้รับเลือกนั่ง HRC วาระ 2568-2570 ยืนยัน จะเป็นสะพานเชื่อมความแตกต่าง-หาทางออกผ่านจุดแข็งของไทย พร้อมแสดงความมุ่งมั่นส่งเสริมประชาธิปไตย-สิทธิมนุษยชนไทยให้เป็นที่ยอมรับ

นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีที่ประเทศไทยได้รับเลือกเข้าไปดำรงตำแหน่งสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (HRC) วาระปี ค.ศ.2025 ถึง 2027 ซึ่งมีการออกเสียงลงคะแนน เมื่อค่ำของวันที่ 9 ต.ค. ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ว่าไทยรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง และขอขอบคุณประเทศสมาชิกสหประชาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมาชิกอาเซียน ที่ได้ให้การสนับสนุน และให้ความไว้วางใจประเทศไทยในการเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ สะท้อนถึงความเชื่อมั่น และการยอมรับในบทบาทของประเทศไทยในเวทีโลก

นายมาริษ ยืนยันว่า ประเทศไทยจะเป็นสะพานเชื่อม และประสานความแตกต่างของท่าทีของประเทศสมาชิก เพื่อช่วยแสวงหาทางออก และฉันทามติ โดยอาศัยจุดแข็งของไทยที่มีมุมมองในหลายเรื่องที่ก้าวหน้า ขณะเดียวกัน ก็มีความเข้าใจในบริบททางสังคม ศาสนา และวัฒนธรรมของประเทศกำลังพัฒนา

นายมาริษ ยังย้ำอีกว่า ไทยจะนำแนวปฏิบัติที่ดีของประเทศ ทั้งนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วน นโยบายการศึกษาเพื่อปวงชน ซึ่งได้รับการยอมรับในระดับสากลไปเผยแพร่ และแลกเปลี่ยนกับต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมสถานะของไทยให้เป็นที่ยอมรับและได้รับความนิยมในประชาคมระหว่างประเทศ ยกระดับมาตรฐานด้านกระบวนการประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชนของไทย รวมถึงการนำกระบวนการประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชนของระหว่างประเทศ มาปรับใช้ให้สอดคล้องกับบริบทของประเทศไทยต่อไป

นายมาริษ ให้ความมั่นใจว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญในการส่งเสริม และคุ้มครองสิทธิมนุษยชนประชาชนคนไทย รวมถึงความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นฉบับประชาชนที่เป็นประชาธิปไตย, ยกเลิกคำสั่ง คสช., สมรสเท่าเทียม, โครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาล, การปลดล็อกอุปสรรค และปรับปรุงกฎหมาย เพื่ออำนวยสะดวกในการประกอบธุรกิจ เพิ่มประสิทธิภาพการขออนุญาต และขอรับบริการจากหน่วยงานของรัฐ รวมถึงให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่มิตรประเทศ

นอกจากนี้ ประเด็นที่ไทยประสงค์จะผลักดันในฐานะสมาชิก HRC จะรวมถึงการมีส่วนร่วมในการกำหนดบทบาทและทบทวนทิศทางการดำเนินงานของ HRC เพื่อตอบสนองต่อความท้าทายในด้านสิทธิมนุษยชน ท่ามกลางบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งสนับสนุนให้ HRC โปร่งใสและมีประสิทธิภาพในการทำงาน

ทั้งนี้ HRC มีสมาชิก 47 ประเทศ จากกลุ่มภูมิภาคต่าง ๆ ได้แก่ กลุ่มแอฟริกา 13 ประเทศ กลุ่มเอเชีย-แปซิฟิก 13 ประเทศ กลุ่มยุโรปตะวันออก 6 ประเทศ กลุ่มลาตินอเมริกาและแคริบเบียน 8 ประเทศ และกลุ่มยุโรปตะวันตก 7 ประเทศ ซึ่งปัจจุบัน ประเทศสมาชิกจากภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ประกอบด้วย บังกลาเทศ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น คาซัคสถาน คูเวต สาธารณรัฐคีร์กีซ มาเลเซีย มัลดีฟส์ กาตาร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเวียดนาม

สำหรับประเทศไทย สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิก HRC วาระปี ค.ศ.2025-2027 ต้องแข่งขันกันระหว่าง 6 ประเทศ ได้แก่ หมู่เกาะมาร์แชลล์ ไซปรัส กาตาร์ เกาหลีใต้ ซาอุดีอาระเบีย และไทย สำหรับตำแหน่งว่าง 5 ตำแหน่ง ซึ่งผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งจะต้องได้รับคะแนนเสียงไม่ต่ำกว่ากึ่งหนึ่งของรัฐสมาชิกทั้งหมด หรือ 97 คะแนน และจะต้องได้รับคะแนนเสียงสูงสุด 5 ลำดับแรกของกลุ่มภูมิภาค

ในอดีตประเทศไทยเคยดำรงตำแหน่งสมาชิก HRC ปี ค.ศ.2010-2013 โดยดำรงตำแหน่งประธาน HRC ระหว่างเดือนมิถุนายน ค.ศ.2010 ถึงเดือนมิถุนายน ค.ศ.2011 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการทบทวนสถานะ และการทำงานของ HRC โดยประเทศไทย ในฐานะประธานฯ นำการหารือ และเจรจาจนสามารถบรรลุฉันทามติในเรื่องดังกล่าว นอกจากนี้ ยังได้ริเริ่มการเสนอข้อมติรายปีหลายเรื่อง โดยเฉพาะการสนับสนุนความร่วมมือทางวิชาการ และการเพิ่มขีดความสามารถในด้านสิทธิมนุษยชน ในกรอบ HRC ซึ่งไทยยังคงเป็นผู้ยกร่างของข้อมติดังกล่าวมาจนถึงปัจจุบัน

Related Posts

Send this to a friend

Thailand Web Stat