‘ภูมิธรรม’ แจง ตัด สส.ออกจาก คกก.แก้รัฐธรรมนูญ เพื่อเคลียร์ประโยชน์ทับซ้อน
‘ภูมิธรรม’ แจง ตัด สส.ออกจาก คกก.แก้รัฐธรรมนูญ เพื่อเคลียร์ประโยชน์ทับซ้อน ชี้ ทุกคนในคณะเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ
วันนี้ (10 ต.ค. 66) นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ณ ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ก่อนนั่งเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการฯ เป็นนัดแรก
นายภูมิธรรม ชี้แจงกรณีสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาท้วงติงรายชื่อกรรมการ ซึ่งไม่สามารถดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ได้นั้นว่า เดิมมีบางคนต้องการนำ สส. มาร่วมในคณะกรรมการ ซึ่งเห็นว่าไม่ต่างจากการตั้งคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) จึงไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่เมื่อมีความเห็นต่าง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาก็ให้ความเห็นเกี่ยวกับผลประโยชน์ทับซ้อน จึงหลีกเลี่ยงผู้ที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ซึ่งสามารถให้ความเห็นได้ในสภาผู้แทนราษฎรอยู่แล้ว เพื่อไม่ให้กระบวนการติดขัดชักช้า ยืนยันว่าไม่มีอะไรที่เป็นปัญหา อะไรที่เป็นปัญหาก็จัดการได้ ปราศจากข้อสงสัย
นายภูมิธรรม ปฏิเสธว่าไม่ใช่ความผิดพลาดตั้งแต่เริ่มต้น เนื่องจากรองประธานคณะกรรมการกฤษฎีกา ก็อยู่ร่วมในคณะกรรมการฯ ด้วย ซึ่งเป็นปกติที่กฎหมายจะมีความเห็นที่แตกต่างกันได้
สำหรับข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่า คณะกรรมการที่แต่งตั้งมาส่วนใหญ่เป็นบุคคลที่พรรคเพื่อไทยสามารถควบคุมได้ในทางการเมือง จนจะมีผลกระทบต่อความชอบธรรมของรัฐธรรมนูญที่ได้รับการแก้ไขหรือไม่ นายภูมิธรรม ตอบว่า เป็นการมองในแง่ร้ายเกินไป อยากให้มองในข้อเท็จจริงว่า บุคคลที่เชิญมาทั้งหมดเป็นบุคคลผู้ทรงคุณวุฒิ หลายคนเป็นอดีตเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า หลายคนเป็นอดีตรองอัยการสูงสุด หลายคนเป็นนักวิชาการ
“การที่บอกว่าเพื่อไทยคุมได้ ก็ไม่เป็นความจริง ผมคิดว่าหลายท่านเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับการยอมรับจากสังคม เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องที่ประชาชนสนใจ เพราะฉะนั้น ทุกท่านมีเกียรติยศมากเพียงพอที่ไม่อยากเอาสิ่งเหล่านี้ไปสร้างความเสื่อมเสียต่อเกียรติยศชื่อเสียงตนเอง”
นายภูมิธรรม ยังคาดหวังว่า การประชุมคณะกรรมการฯ นัดแรกวันนี้ จะได้พูดคุยในกรอบการทำงานที่ชัดเจน และจะได้เห็นไทม์ไลน์ของการทำงานที่ชัดเจนมากขึ้น โดยอ้างอิงตามหลักข้อกฎหมาย ทั้งนี้ มีหลายเรื่องที่ต้องคุยกัน ทั้งการแก้ทั้งฉบับ หรือแก้ไขรายมาตรา ยกเว้นหมวด 1 และหมวด 2 ตลอดจนเงื่อนไขการแก้ไขมาตรา 256 เป็นต้น