รัฐสภาอืด ถกกฎหมายตำรวจเป็นวันที่สอง ‘วีระกร’ จี้เร่งเครื่อง
รัฐสภาอืด ถกกฎหมายตำรวจเป็นวันที่สอง ‘วีระกร’ จี้เร่งเครื่อง โว พปชร.กลัวผ่านไม่ทันจึงไม่ลุกพูด ‘เสรีพิสุทธิ์’ สงสัย เขียนกฎหมายแบบนี้ลวงประโยชน์ใคร ‘ธีรัจชัย’ ซัดซ้ำ กฎหมายไม่ปฏิรูปแต่ถอยสู่ยุคไดโนซอรัส
วันนี้ (10 มิ.ย. 65) ณ อาคารรัฐสภา มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 2 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. … ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว ต่อเป็นวันที่สอง โดยเริ่มที่มาตรา 12 ว่าด้วยการแบ่งส่วนราชการในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และมาตรา 13 ว่าด้วยเรื่องการแบ่งสถานีตำรวจออกเป็น 3 ระดับ ประกอบด้วยระดับใหญ่ที่มีหัวหน้าสถานีตำรวจดำรงตำแหน่งผู้กำกับการ ระดับกลางที่มีหัวหน้าสถานีตำรวจดำรงตำแหน่งผู้กำกับการหรือสารวัตรใหญ่ และระดับเล็กที่มีหัวหน้าสถานีตำรวจดำรงตำแหน่งสารวัตร
พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ในฐานะสมาชิกรัฐสภา อภิปรายว่า หากร่างดังกล่าวผ่านไปจะเดือดร้อนทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เนื่องจากวันดีคืนดี ฝ่ายการเมืองหรือนายกรัฐมนตรี สั่งย้ายจากระดับใหญ่ไประดับกลาง อาจเป็นการลดระดับ และใช้เป็นการกลั่นแกล้งกันได้ ซึ่งมาตรา 69 ที่บัญญัติไว้ ว่าด้วยเกณฑ์การแต่งตั้ง (2) ดำรงตำแหน่ง รอง ผบ.ตร. และจเรตำรวจแห่งชาติ แต่งตั้งจาก พล.ต.ท. แสดงว่าข้ามกันไปได้ เช่นนี้แล้วเขียนไว้เพื่อประโยชน์ใคร
“เขียนกฎหมายอย่าลวงเพื่อประโยชน์ใคร ไม่รู้ว่าแฝงเพื่อใคร เพื่อ ผบ. ยุคนี้หรือไม่ กฎหมายออกมา แทนที่ จเรตำรวจ หรือ ผบ.ตร. จะตั้งจากรอง ผบ.ตร. อาจมีตั๋วช้าง เด็กเส้นข้ามกันไปได้” พล.ต.อ. เสรีพิสุทธิ์ กล่าว ก่อนต่อมาที่ประชุมลงมติยืนตาม กมธ. ด้วยเสียงข้างมาก
ทั้งนี้ มาตรา 13 ใช้เวลาพิจารณาถึงเกือบ 2 ชั่วโมง ทำให้นายวีระกร คำประกอบ ส.ส. นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะสมาชิกรัฐสภา ลุกขึ้นขอให้ประธานการประชุมควบการอภิปราย
“หากอภิปรายแบบนี้ 15 สัปดาห์ ก็ไม่จบ แม้แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็เถียงกัน เรื่องเล็กน้อยแค่คำว่า “ก็ได้” ก็หมดไป 1 ชั่วโมงครึ่งแล้ว ผมไม่อยากให้ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ประกาศใช้ไม่ทันในสมัยการประชุมนี้ เพราะประชาชนเขารอคอยอยู่ จะเห็นได้ว่าพรรคพลังประชารัฐไม่มีใครลุกขึ้นอภิปรายเลย เพราะกลัวว่ากฎหมายจะออกไม่ทันใช้ ผมเตือนด้วยความหวังดี” นายวีระกร กล่าว
ด้าน นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม กล่าวว่า เป็นสิทธิของสมาชิกที่จะอภิปราย และกฎหมายนี้สำคัญมาก เพราะคือกระบวนการยุติธรรมเบื้องต้น สามารถทำถูกให้เป็นผิด ทำผิดเป็นถูกได้ จึงได้ให้โอกาส
“ก็เห็นด้วยว่าถ้าเรารู้จักย่อความ ความจริงนักบริหารยุคปัจจุบันต้องเข้าใจคำว่าย่อความ สามารถสรุปประเด็นได้ ไม่ใช้เวลามากเกินไป เพราะเวลาเป็นของมีค่า ก็จะทำให้เราพิจารณาได้เร็วกว่าปกติ แต่จะไม่ตัดสิทธิ์ผู้ใด ผมก็จะพยายามบริหารเวลา หากช้าก็จะจัดวันเพิ่มขึ้น” นายชวน กล่าว
นอกจากนี้ นายชวน ยังกล่าวว่า ขณะนี้กำลังดูอยู่ว่าประชุมปลายเดือนนี้อีกสัก 2 วันได้หรือไม่ และต่อต้นเดือนหน้า เพราะเรามีกฎหมายสำคัญ คือกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเลือกตั้ง จึงหวังอย่างยิ่งว่าเรามองปัญหาและผลประโยชน์ร่วมกัน เพื่อให้กฎหมายนี้มีประโยชน์อย่างแท้จริง
ต่อมาในช่วงบ่ายที่ประชุมพิจารณามาตราที่ กมธ. เพิ่มขึ้นใหม่ หนึ่งในนั้นคือ มาตรา 13/1 ที่ว่าด้วยคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) โดยให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ ทั้งนี้ นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะสมาชิกรัฐสภา อภิปรายไม่เห็นด้วยที่ให้นายกฯ เป็นประธานกรรมการ โดยโครงสร้างอิงไปทางข้าราชการประจำและฝ่ายที่มีอำนาจรัฐ ไม่อิงกับประชาชน
“ตำรวจชั้นผู้น้อยยังต้องวิ่งเข้าหาอำนาจ เกิดสารพัดตั๋ว ตั๋วช้าง ตั๋วม้า ตั๋วลิง ตั๋วกล้วย ถามว่าการกำหนดเช่นนี้เป็นการปฏิรูปโครงสร้างตำรวจอย่างไร และจะเป็นกลางทางการเมืองได้อย่างไร เบ็ดเสร็จเด็ดขาดอยู่ที่นายกฯ เวลานายกฯ หรือรัฐมนตรีทำผิดหรือทุจริตจะกล้าหรือไม่ นี่คือการปฏิรูปหรือถอยหลังสู่ยุคไดโนซอรัส” นายธีรัจชัย กล่าว ก่อนที่ประชุมลงมติเห็นด้วยกับที่ กมธ. เสียงข้างมากแก้ไข ด้วยคะแนน 343 ต่อ 69 งดออกเสียง 9 เสียง พิจารณาเรื่อยไปถึงมาตรา 13/8 ก่อนประธานสั่งปิดการประชุมในเวลา 16:08 น.