POLITICS

สธ.เผย ทีมค้นหากู้ภัยแผ่นดินไหวถึงตุรกี แล้ว เร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัย

สธ.เผย ทีมค้นหากู้ภัยแผ่นดินไหวถึงตุรกี แล้ว เร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัยและประเมินสถานการณ์ ก่อนส่งชุดต่อไปเข้าสมทบ

วันนี้ (10 ก.พ. 66) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการจัดส่งทีมแพทย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวที่ประเทศตุรกีว่า ขณะนี้ได้ดำเนินการตามข้อสั่งการของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยเหตุแผ่นดินไหวประเทศตุรกี โดยมีรายงานความก้าวหน้า คือ เมื่อคืนวันที่ 9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้มีการจัดส่งทีมค้นหากู้ภัยหรือทีม Urban Search and Rescue (USAR) นำโดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ไปแล้ว จำนวน 42 คน โดยมีแพทย์ พยาบาลกู้ชีพ และเวชกิจฉุกเฉิน จำนวน 3 คน จากกรมการแพทย์ร่วมเดินทางไปด้วย ซึ่งระหว่างเดินทาง พนักงานสายการบินได้ประกาศให้ผู้โดยสารทราบถึงการไปปฏิบัติภารกิจของทีมประเทศไทย และได้รับการปรบมือให้เกียรติ ซึ่งได้รับรายงานว่าเดินทางถึงอิสตันบูลแล้ว โดยจะเข้าพื้นที่ไปช่วยค้นหากู้ภัยผู้ประสบภัย ประเมินสถานการณ์ ขนาดของภัยพิบัติ ความเสียหายของระบบโครงสร้างพื้นฐานและระบบทางการแพทย์ และส่งข้อมูลเหล่านี้กลับมายังศูนย์ปฏิบัติการหรือวอร์รูม กรณีการช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวประเทศตุรกี ที่กระทรวงสาธารณสุขจัดตั้งขึ้น เพื่อนำมาประมวลและจัดการสนับสนุนความช่วยเหลือได้อย่างถูกต้องเหมาะสมต่อไป

นพ.ณรงค์กล่าวอีกว่า สำหรับการสนับสนุนด้านเวชภัณฑ์และครุภัณฑ์ทางการแพทย์ที่ตุรกีขอรับความช่วยเหลือ มีการประเมินและกำหนดเวชภัณฑ์ที่เหมาะสมและจำเป็นแล้วประมาณ 20 กว่ารายการ วงเงินเกือบ 3 ล้านบาท โดยจะประสานผ่านกรมยุโรป กระทรวงการต่างประเทศ ในการของบกลางเพื่อจัดซื้อจัดจ้างโดยเร็วที่สุดและเร่งส่งไปสนับสนุน

ส่วนการสนับสนุนทีมแพทย์นั้น ทราบเบื้องต้นว่า กระทรวงกลาโหมดำเนินการเตรียมทีม MERT ซึ่งประกอบด้วยแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ทหาร จำนวน 20 กว่านาย คาดว่าจะพร้อมเดินทางในช่วงวันที่ 11 หรือ 12 กุมภาพันธ์นี้ สำหรับทีม Thailand EMT (Emergency Medical Team) อยู่ระหว่างเตรียมบุคลากรและตรวจสอบอุปกรณ์ที่จำเป็น ซึ่งจะเป็นทีม Level 1 โดยจะออกแบบทีมช่วยเหลือให้มีความสอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่ เช่น การเข้าไปช่วยดูแลผู้ป่วยลักษณะแบบโมบายหรือเคลื่อนที่เข้าไปตามชุมชน การจัดระบบการส่งต่อ เพื่อให้ผู้ป่วยต่างๆ เข้าถึงการดูแล ซึ่งเรามีประสบการณ์ในการจัดระบบเมื่อครั้งเกิดเหตุแผ่นดินไหวที่เนปาล โดยจะมีการสื่อสารติดตามข้อมูลกันอย่างต่อเนื่อง

สำหรับทีมแพทย์ที่ส่งไปจะคำนึงถึงความเหมาะสมกับสถานการณ์ โดยเหตุการณ์แผ่นดินไหว ช่วงแรกจะเป็นเรื่องของการกู้ชีพ บาดแผล กระดูกหัก จะเป็นแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน ออร์โธปิดิกส์ ศัลยกรรม อายุรแพทย์ สิ่งสำคัญคือ ต้องมีการบริหารจัดการเพื่อให้ทีมที่ส่งไปมีความปลอดภัยในการทำงานมากที่สุด เนื่องจากต้องเผชิญกับอุณหภูมิติดลบ มีความแตกต่างทางภาษาและวัฒนธรรม

นอกจากนี้ จากการติดตามสถานการณ์โดยทีม SAT พบว่ามีรายงานโรคอหิวาต์ในบางจุดด้วย ส่วนประเทศซีเรียเนื่องจากไม่มีสถานทูตและการร้องขอที่ชัดเจน อาจจะต้องประสานผ่านสถานทูตในประเทศใกล้เคียงถึงความต้องการความช่วยเหลือต่อไป

Related Posts

Send this to a friend