กมธ.มั่นคง – กมธ.การกฎหมาย เชิญหน่วยงานเกี่ยวข้อง ประเมินสถานการณ์ชายแดนใต้ หลังคดีตากใบหมดอายุความ

กมธ.มั่นคง – กมธ.การกฎหมาย เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประเมินสถานการณ์ชายแดนใต้ หลังคดีตากใบหมดอายุความ ’รอมฎอน‘ ผิดหวัง กอ.รมน. ประเมินต่ำไป สะท้อนความชอบธรรมอำนาจรัฐไทยกำลังสั่นคอลน
วันนี้ (9 ต.ค. 67) ในการประชุมร่วมของกรรมมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน และ กรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ ติดตามผู้ต้องหาคดีตากใบ ที่เชิญผู้แทนจาก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ อัยการ กองทัพบก และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เข้าชี้แจง โดยเป็นการซักถามการประเมินสถานการณ์ชายแดนใต้ หลังคดีตากใบจะหมดอายุความในวันที่ 25 ตุลาคมนี้
ตัวแทนจาก กอ.รมน. ชี้แจงว่า ในการดำเนินการทางการข่าว การสร้างความรับรู้และความเข้าใจกันทุกภาคส่วนในพื้นที่ ที่มีหน้าที่รับกับสถานการณ์ ได้มีการรับรู้จากการประชุมชี้แจงหรือรับนโยบาย เป็นระบบอยู่แล้ว แต่การก่อเหตุรายวัน มีเหตุการณ์เกิดขึ้นเป็นปกติอยู่แล้ว ซึ่งทางการข่าวต้องมีการติดตามอย่างเข้มข้น ตลอดจนติดตามพื้นที่เป้าหมาย สถานที่เสี่ยงสูง ส่วนการทำความเข้าใจต้องสื่อสารผ่านองค์กร หน่วยงาน สังคม ให้เข้าใจว่าการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่ผ่านมา ได้ดำเนินการตามขอบเขตและอำนาจหน้าที่อย่างเต็มที่แล้ว ส่วนในทางตรงกันข้ามหากประชาชนมีข้อมูลเบาะแสเพิ่มเติมมากกว่าหน่วยงานรัฐ ก็ถือเป็นสิ่งที่ดี ยืนยันว่า เรามีการประเมินสถานการณ์ทุกวัน ปรับยุทธวิธีในการดำเนินการเหตุต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง
นายรอมฎอน ปันจอร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคประชาชน กล่าวว่า ถ้าการที่ กอ.รมน. แบบนี้ แย่แน่ เพราะเป็นหน่วยงานรับผิดชอบด้านความมั่นคงหลัก ตอบคำถามได้แค่นี้เหรอ ตนเอง รู้สึกว่าเราสูญเสียงบประมาณ มองว่ามีปัญหาแม่กับการประเมินสถานการณ์แบบนี้ ตนเองรู้สึกแย่มากถ้าประเมินความเสียหายจากการหมดอายุความของคดีตากใบแบบนี้ ไม่ต้องมาที่นี่ก็ได้ แสดงว่าขีดความสามารถของหน่วยงานท่านมีปัญหาแน่ ๆ และกองทัพบกก็มีปัญหาแน่
ตัวแทนจากสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ชี้แจงว่า ตั้งแต่ที่มีเหตุการณ์ตากใบก็ต้องยอมรับว่ามี ความผิดพลาดของผู้ปฏิบัติในพื้นที่จริง วิธีการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา เป็นการแก้ไขปัญหาแบบให้เข้าใจต้นตอ ภายหลัง สมช. ปรับทิศทางนโยบายโดยแก้ไขปัญหาอย่างสันติวิธี มีคณะเจรจาเพื่อเป็นทางออกของข้อขัดแย้งต่าง ๆ อดีตกลับไปแก้ไขไม่ได้แต่ต้องทำปัจจุบันให้ดีกว่าเดิม
การประเมินสถานการณ์ แม้ว่าจะมีสถานการณ์เกิดขึ้นเป็นปกติ แต่ขาดอายุความอาจถูกกลีบยกเรื่องนี้มาในด้านความรู้สึก ทำให้เกิดการก่อเหตุขึ้นได้ และถ้าผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเห็นว่า ความรุนแรงไม่ใช่ทางออกของปัญหาก็จะสามารถทำให้สถานการณ์ในพื้นที่ดีขึ้นได้ เปิดทางให้กระบวนการพูดคุยขับเคลื่อนไป
นายกัณวีร์ สืบแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคเป็นธรรม กล่าวว่า การประเมินสถานการณ์ของ สมช. ได้มีการพูดคุยกันภายในเรื่องนโยบายแล้ว แต่ยังมีคำถามว่าได้มีการพูดคุยร่วมกันกัน กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า และพูดคุยกับตนในพื้นที่หรือไม่ ซึ่งจากที่ฟังมา ตนเองมองว่ายังเห็นว่ามีความเข้าใจไม่ตรงกัน และยังไม่เห็นความเข้าใจจากผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ ดังนั้น ถ้านโยบายดีขนาดไหน แต่ไม่สามารถนำไปปฏิบัติได้ นโยบายนั้นคงไม่มีความหมาย
นายรอมฎอน ย้ำว่า ตนเองผิดหวังมากกับการประเมินสถานการณ์ เพราะประเมินได้ต่ำมาก ท่านไม่สามารถเข้าใจความรู้สึกของประชาชนจริง ความขัดแย้งนี้เป็นความขัดแย้งที่ร้าวลึก ที่เรารับมรดกมาจากการเมื่อ 20 ปีที่แล้ว และต้องมาแก้ในรุ่นของเรา โดยรุ่นลูกของเราต้องมาแก้อีก ถ้าท่านทำงานไม่เต็มที่ ตนเองมองว่าเรื่องนี้ใหญ่กว่าแค่เรื่องความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย เรากำลังพูดถึงความชอบธรรมของอำนาจรัฐไทยที่จะสั่นคลอน ในเวลาที่เหลืออยู่ขอให้ทุกท่านทำงานอย่างเต็มที่ มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ที่มีอยู่ไม่พอ ทำมากกว่านี้ กล้าหาญมากกว่านี้ ฉลาดหลักแหลมมากกว่านี้
นางสาวพรรณิการ์ วานิช ที่ปรึกษากรรมาธิการความมั่นคงฯ กล่าวว่า เรื่องนี้ใหญ่กว่าที่ทุกท่านคิดวันที่เรากำลังพูดถึงคือวันที่ผู้แทนประเทศไทย เสนอตัวนั่งเป็นคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน ที่เราได้หรือไม่ได้ไม่สำคัญเท่า นี่เป็นโอกาส ที่จะทำให้นานาชาติได้ตรวจสอบ และถามในเรื่องนี้ค่อนข้างลึก ตนเองเชื่ออย่างยิ่งว่าเราจะสามารถดำเนินการเรื่องชนี้ภายใต้กระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย เพราะเป็นเรื่องเรา ไม่อยากให้หน่วยงานของต่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่อยากให้ถึงจุดนั้น เราจะจบเรื่องนี้ได้ในประเทศของเราเองหรือจะให้ไปบานปลายในต่างประเทศ