POLITICS

‘ก้าวไกล’ ยื่น พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิชาติพันธุ์ฯ ในวันชาติพันธุ์สากล

‘ก้าวไกล’ ยื่น พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิชาติพันธุ์ฯ ในวันชาติพันธุ์สากล เพื่อรับรองสิทธิ-คุ้มครองสิทธิ-แก้ปัญหาทับซ้อน คนในเขตป่าที่ถูกจำกัดการพัฒนา ขอคนชายขอบร่วมพัฒนาชาติ

วันนี้ (9 ส.ค. 66) สส.พรรคก้าวไกล นำโดย นายพริษฐ์ วัชรสินธุ์ สส.แบบบัญชีรายชื่อ ได้ยื่น 9 ร่าง พรบ. 3 ชุดกฎหมายเปลี่ยนประเทศ แก่ตัวแทนประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อบรรจุกฎหมายเข้าสู่วาระการพิจารณาของสภาต่อไป โดยหนึ่งในร่างกฎหมายดังกล่าวคือ ร่างพรบ.คุ้มครองสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ที่ยื่นตรงกับวันชนเผ่าพื้นเมืองสากลโลก วันที่ 9 สิงหาคมของทุกปีอีกด้วย

นายมานพ คีรีภูวดล สส.แบบบัญชีรายชื่อ สัดส่วนชาติพันธุ์ พรรคก้าวไกล ระบุว่า ร่างพรบ.คุ้มครองชาติพันธุ์ หรือ ร่างพรบ.สภาชนเผ่า ในสภาชุดที่ผ่านมามีทั้งหมด 5 ร่าง โดยมีประเด็นสำคัญว่า เมื่อปี พ.ศ.2535 ปฏิญญาสหประชาชาติได้รับรองความเป็นชนเผ่าพื้นเมืองที่จะมีบทบาทการพัฒนาและการมีตัวตน รัฐบาลไทยได้ลงนามในปี 2550 และรัฐธรรมนูญมาตรา 70 ได้เขียนชัดเจนเรื่องการคุ้มครองและส่งเสริมชาติพันธุ์ในประเทศไทย พรรคก้าวไกลให้ความสำคัญเรื่องชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง โดยตั้งเครือข่ายชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง การผลักดันกฎหมายนี้จึงเป็นภารกิจหลัก ได้นำเสนอไปแล้วได้ตีว่าเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน แต่ถึงตอนนี้ยังไม่ทราบว่านายกรัฐมนตรีจะพิจารณาอย่างไร

ดังนั้นพรรคก้าวไกลจึงแก้ไขปรับปรุงให้เกิดความต่อเนื่อง โดยมีนำเสนอที่สำคัญ 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนของรัฐสภาโดยพรรคก้าวไกล ส่วนของกรรมาธิการ และส่วนภาคประชาชน โดยสภาชนเผ่าพื้นเมือง และกลุ่มพีมูฟ รวมถึงส่วนของรัฐบาล คือ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร แต่ทั้งหมดยังไม่ถูกบรรจุไว้ในการประชุมของสภา

นายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวเพิ่มเติมว่า เราถือโอกาสในวันชาติพันธุ์สากล เสนอร่างกฎหมายนี้ เพื่อยืนยันวาระการคุ้มครองกลุ่มชายขอบของสังคม ปัจจุบันกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองมีอยู่ประมาณ 6 ล้านคน ทั่วประเทศไทย โดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่บนที่สูงมีประมาณ 2 ล้านคน ส่วนมากได้รับผลกระทบจากกฎหมายและนโยบายของรัฐที่ไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะการอยู่ในพื้นที่เขตป่าประเภทต่างๆ ถูกจำกัดสิทธิในการพัฒนา สิทธิในสัญชาติ สิทธิในที่ดินทรัพยากรวิถีชีวิต รวมถึงการพัฒนาสร้างโอกาสอาชีพใหม่ๆ ในกลุ่มชาติพันธุ์

เป้าหมายของกฎหมายฉบับนี้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างโอกาสให้กลุ่มชาติพันธุ์มีโอกาสเข้าถึงสิทธิต่างๆได้อย่างเสมอภาคเท่าเทียม แม้รัฐธรรมนูญจะมีการรับรองว่าพลเมืองทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน แต่ในการปฏิบัติแล้ว กลุ่มชาติพันธุ์ยังถูกเลือกปฏิบัติทั้งกฎหมาย กฎระเบียบ และนโยบายในระดับปฏิบัติ รวมทั้งอคติที่ฝังอยู่ในความคิดของสังคมไทย ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิต่างๆได้

กฎหมายฉบับนี้ จึงมีโครงสร้าง 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่ การบัญญัติรับรองสิทธิและการห้ามไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติ หรือกระทำการใดที่นำไปสู่ความเกลียดชังหรืออคติ /การจัดโครงสร้างคณะกรรมการเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิ กลุ่มชาติพันธุ์ และการประกาศเขตคุ้มครองพื้นที่วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง เพื่อแก้ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อนในเขตป่า และ ออกระเบียบแก้ไขปัญหาทับซ้อน ลดการจำกัดสิทธิการพัฒนา เช่น ไฟฟ้า ประปา ที่ดิน การใช้ทรัพยากร

ด้านนายวิทวัส เทพสง ตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย ระบุว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์กว่า 60 กลุ่ม 46 ชนเผ่า ประเทศไทยได้ลงนามไว้กับนานาชาติว่าจะสนับสนุนสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง แต่กลับไม่ให้สัตยาบัน และไม่ยอมรับว่าประเทศไทยมีชนเผ่าพื้นเมือง แม้กระทั่งข้อความในรัฐธรรมนูญก็ยังไม่ระบุคำว่าชนเผ่าพื้นเมืองไว้ และยังไม่มองว่าชนเผ่าพื้นเมืองซึ่งอยู่มาตั้งแต่ก่อนมีแผ่นดินสยาม กลับมองว่าเป็นปัญหา เช่น กฎหมายสัมปทานป่าไม้ ที่ขับไล่ชาติพันธุ์ออกจากป่า หรือกฎหมายแร่ทางทะเล ก็ขับไล่กลุ่มชาติพันธุ์ออกจากทะเล จนปัจจุบันกลุ่มชาติพันธุ์ยังมีปัญหาทุกด้าน เช่น ปัญหาที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน พื้นที่ทางจิตวิญญาณ ถูกขุดรื้อสุสาน เป็นคนไร้สัญชาติ การเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์เป็นกลุ่มไร้ศักยภาพ ซึ่งพรรคก้าวไกลถือเป็นพรรคแรกในประวัติศาสตร์ที่จะผลักดันเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรม จึงอยากให้พรรคการเมืองอื่น ฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ได้มองเห็นความสำคัญในประเด็นนี้ด้วย

Related Posts

Send this to a friend