6 พรรคเปิดนโยบายต่างประเทศ ถกประเด็นเมียนมา-จุดยืนไทย
วันนี้ (9 พ.ค. 66) สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย จัดเวทีดีเบต “นโยบายต่างประเทศพรรคการเมือง ไทยอยู่ที่ไหน ? ในประชาคมโลก” ประกอบด้วยผู้แทนจากพรรคสามัญชน พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเสรีรวมไทย พรรคเป็นธรรม พรรคไทยสร้างไทย และพรรคก้าวไกล ดำเนินรายการโดย ศ.ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ ที่ทำการสโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย อาคาร มณียา เซ็นเตอร์ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร (กทม.)
นางสาวชุมาพร แต่งเกลี้ยง หัวหน้าพรรคสามัญชน กล่าวว่า การต่างประเทศไม่ใช่เรื่องไกลตัว ประเทศนี้มีพรมแดนที่กว้างมากและอ่อนไหวต่อกับหลายประเทศ ประเทศไทยมีรัฐประหารในปี 2549 และ 2557 ซึ่งทุกครั้งที่มีการรัฐประหาร นโยบายต่างประเทศก็ถอยลงเรื่อย ๆ เพราะรัฐเผด็จการต้องการฟอกประชาธิปไตย เราไม่เคยเห็นจุดยืนรัฐไทยเกี่ยวกับประเด็นสันติภาพโลก ประเด็นการยุติสงคราม และประเด็นมนุษยธรรม ทั้งที่รัฐไทยควรมีจุดยืนประชาธิปไตย ต่อต้านเผด็จการทหารพม่าตั้งแต่การยึดอำนาจในเมียนมา ในทางการต่างประเทศนั้นแท้จริงไม่สามารถแยกออกจากเศรษฐกิจได้ จึงเสนอว่า บทบาทของรัฐไทยที่ก้าวหน้าคือ คุยกับทุนไทยไม่ให้ไปลงทุนในเมียนมา พร้อมทั้งช่วยเหลือทางมนุษยธรรม ที่สำคัญคือ ประเทศไทยควรเลือกจุดยืนคือ ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน และทบทวนว่าผลประโยชน์แห่งชาตินั้น ชาติคือใคร สำหรับพรรคสามัญชน ชาติคือประชาชน และหากจะมีการรัฐประหารอีก เราก็จะลงถนนอีก
นายแทนคุณ จิตต์อิสระ ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ (Constructive Engagement) จัดจุดยืนใหม่ของไทยให้สามารถรักษาดุลยภาพในความเป็นเอกภาพของอาเซียน สามารถแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชนได้ แม้เราจะมีการทูตแบบไผ่ลู่ลม (Bamboo Diplomacy) แต่เราในฐานะมหาอำนาจขนาดกลาง เราต้องเปลี่ยนผ่านไปสู่การทูตแบบสัมพันธ์ส่วนตัว (Backdoor Diplomacy) ในโลกยุคใหม่ สันติภาพนั้นไม่ควรเกิดขึ้นด้วยทวิภาคีอีกต่อไป แต่ต้องร่วมกันหลายฝ่าย ทำให้อาเซียนเป็นศูนย์กลางหลักในการแก้ปัญหานี้ ไทยสามารถเป็นพี่ใหญ่ มีบทบาทนำในเชิงยุทธศาสตร์ได้ ไทยจึงใช้อำนาจขนาดกลางในการแก้ปัญหาได้ โดยที่การต่างประเทศเป็นส่วนต่อขยายจากการเมืองภายในประเทศ ย้ำว่า พรรคประชาธิปัตย์ พยายามไม่สร้างเงื่อนไขที่นำไปสู่การยึดอำนาจ ทั้งการทุจริตคอรัปชั่น การทำงานขององค์กรอิสระ และการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยเรียกร้องกดดันการรัฐประหารในไทยให้ได้มากที่สุด
นายบุญส่ง ชเลธร ผู้อำนวยการ (ผอ.) การเลือกตั้ง พรรคเสรีรวมไทย กล่าวว่า หลักการพื้นฐานคือ ประเทศไทยเป็นประเทศเล็กมาก เราแทบไม่มีบทบาททางการเมืองระหว่างประเทศเท่าใด สมัยก่อนตั้งแต่ปี 2475 จนถึงปัจจุบัน เราดำเนินนโยนบายต่างประเทศภายใต้ปีกสหรัฐอเมริกามาตลอด เราเข้าไปอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งลัทธิคอมมิวนิสม์มายาวนาน ความที่เราเป็นประเทศเล็ก จึงต้องคำนีงว่า การต่างประเทศต้องวางอยู่บนพื้นฐานคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ หากทำตามสหรัฐอเมริกาอย่างที่ผ่านมามาตลอดนั้นอันตราย เราไม่ต้องการเป็นยูเครนแห่งที่สอง เราต้องการเป็นกลาง เพราะฉะนั้น อะไรก็ตามที่จะลากเราเข้าไปสู่ความขัดแย้ง เราก็ต้องปฏิเสธ เราเป็นกลางอย่างยืดหยุ่น ยืดหยุ่นคือหากมีคนตีกัน จะบอกว่าเราอยู่เฉย ๆ ก็ไม่ใช่ เพราะเท่ากับเราสนับสนุนคนที่แข็งแรงกว่า รังแกคนที่อ่อนแอกว่า ไม่มีสงครามใดจบที่สนามรบ แต่จบที่การเจรจาทั้งสิ้น ดังนั้น จึงควรเจรจาให้ได้ก่อนสงคราม แล้วหากมีสงครามระหว่างสหรัฐฯ กับจีน เราต้องเป็นกลางแน่นอน ส่วนการเลือกตั้งที่กำลังเกิดขึ้นในวันที่ 14 พ.ค. นี้เป็นการเลือกตั้งที่รุนแรงและสกปรกที่สุด แต่มั่นใจว่าหลังวันเลือกตั้งจะไม่มีการลงถนนไปกระทืบกันอย่างเมียนมา ก่อนจะไปยุ่งเรื่องเมียนมา ก็ควรดูประเด็นสิทธิมนุษยชนในบ้านตัวเองก่อน และควรสอบสวนประเภทของผู้ลี้ภัยก่อนจะรับเข้ามา เพราะมีผู้ลี้ภัยบางประเภทอย่างอาชญากรที่ควรส่งกลับ
นายกัณวีร์ สืบแสง เลขาธิการพรรคเป็นธรรม กล่าวว่า จุดยืนของประเทศไทยยังย่ำอยู่กับที่ร้อยกว่าปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเราเน้นทวิภาคีมามาก ซึ่งเป็นอนุรักษ์นิยม ทำให้ไทยไม่สามารถเปลี่ยนตัวเองได้ คิดอยู่อย่างเดียวว่าทำตามโครงสร้างเดิม (Status Quo) ทำให้ไทยเป็นผู้ตามเหมือนเดิม หากไทยจะเปลี่ยนเป็นผู้นำ จำเป็นต้องเปลี่ยนมุมมอง (Paradigm) ให้ได้ ต้องแสวงหาประโยชน์ที่เป็นผู้นำได้ ต้องมองว่าเทรนด์ของโลกไปไหนแล้ว เราควรมองช่องทางอ่อน (Soft Approach) ที่เราจะเป็นผู้นำได้ เช่น กรอบพหุภาคีด้านสิทธิมนุษยชนในระดับภูมิภาค ต่อเนื่องไปในเวทีโลก จึงจะทำให้เราเป็นผู้นำได้ ส่วนฉันทามติ 5 ข้อ (5-Point Consensus) ไม่ใช่ไม่ดีทีเดียว เป็นจุดเริ่มต้นความคิดสร้างสรรค์ของกลุ่มภูมิภาคอาเซียนที่เข้าไปแก้ไขปัญหาของประเทศสมาชิก แต่ไม่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติต่อได้ ซึ่งควรมองหารากเหง้าของปัญหา นั่นคือ การละเมิดสิทธิมนุษยชน ด้วยอุปสรรคเวทีระหว่างประเทศอย่าง หลักการไม่แทรกแซงระหว่างกัน จนไปสนับสนุนผู้นำทหารของพม่า ดังนั้น อาเซียนควรมองหาทางออกทางการเมืองสักที ประเทศไทยควรเปลี่ยนจุดยืนจากสัจนิยม (Realist) เป็นเสรีนิยม (Liberalist) ให้ได้ สร้างจุดยืนของไทยในเวทีโลก หากเรายังใช้ทางออกชนะร่วมกัน (Win-Win Solution) เราอาจชนะน้อย จนมีปัญหาในการเลือกฝั่งของมหาอำนาจ เราอาจรวมตัวกลุ่มคนหรือสมาคมกับต่างประเทศ ไม่ว่าจะในเชิงมนุษยธรรมหรือสิทธิมนุษยชน หากเกิดสงครามระหว่างประเทศจริง ไทยโดนผลกระทบแน่นอน จึงต้องมีพื้นที่ในเวทีโลกได้ โดยใช้สิทธิมนุษยชนเป็นตัวนำ สำหรับปัญหาผู้ลี้ภัยสามารถแก้ไขได้ด้วยมนุษยธรรม แต่ควรแก้ไขปัญหาอย่างเชื่อมต่อ (Nexus) อย่างยั่งยืน (Durable Solution) ด้วย เช่น การแสวงหาที่พักพิงใหม่ (Resettlement) และการใช้ศักยภาพแรงงานข้ามชาติอย่างถูกกฎหมาย ทั้งหมดนี้ เราจำเป็นต้องเปลี่ยนมุมมองความคิดให้ได้
นางสาวธิดารัตน์ ยิ่งเจริญ โฆษกพรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า สถานการณ์ของโลก เปลี่ยนไปด้วยปัจจัยจากสถานการณ์โควิด-19 สงครามรัสเซีย-ยูเครน และสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน จนทำให้ไทยขาดทั้งยุทธศาสตร์การต่างประเทศ ความโดดเด่น และความเป็นประชาธิปไตย ประเทศไทยอยากทำอะไรก็ทำ อย่างกรณีเปลี่ยนโหวตต่อกรณีรัสเซีย-ยูเครน เพื่อให้บางคนเดินทางมาร่วมงานเอเปคได้ จนไม่เห็นหลักการในการตัดสินใจ ตลอดจนในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามีการประชุมใหญ่ระดับโลกเกิดขึ้นหลายครั้งในภูมิภาค มีการพูดคุยหลายเรื่องที่เกี่ยวกับประเทศไทย แต่ในระดับผู้นำมีความแตกต่างกันเยอะมาก ทั้งการจัดการ การจัดประเด็น ทั้งที่เป็นโอกาสของเราในการหารือในหลายเรื่อง ส่วนอีกประเด็นคือ ประเทศไทยยังไม่มีการยึดหลักการประชาธิปไตยที่ดีพอ ยังไม่มีการตอบโจทย์ว่าทำอะไรเพื่อคนไทย ทั้งที่การตัดสินใจของนโยบายต่างประเทศควรยืนอยู่บนผลประโยชน์แห่งชาติว่า คนไทยและประเทศไทยจะได้อะไร ส่วนประเด็นผู้ลี้ภัยคือ อยากให้ช่วยเหลือเท่าที่ช่วยได้ แต่การเปิดอ้อมแขนก็ให้มีอย่างจำกัด บนพื้นฐานของมนุษยธรรม ซึ่งปมีอยู่ก่อนการกำหนดพรมแดน
นายญาวีร์ บุตรกระวี ผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยดำเนินนโยบายเหมือนยกยอปอปั้นกับประเทศที่เป็นอำนาจนิยมเหมือนกันมาโดยตลอด โดยไม่มีการเคารพสิทธิมนุษยชน เราอาจต้องปฏิรูปอาเซียน ทั้งนโยบายสิทธิมนุษยชนว่า อาจไม่จำเป็นต้องเป็นฉันทามติ แต่อาจสร้างการรวมตัวตามเจตจำนง (Coalition of the Willing) อย่างในประเด็นเมียนมา มีประเด็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่ไทยส่งกลับไปแล้วถูกดำเนินคดีทางอาญาหรือประหาร ดังนั้น จึงควรเคารพสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ที่ผ่านมา 8 ปีไม่ไปไหน เพราะเราอิงกับประเทศมหาอำนาจบางประเทศมากเกินไป พอเราเสนออะไรระหว่างประเทศมันก็ไม่สมเหตุสมผล อย่างการเสนอตัวเป็นสมาชิกไม่ถาวรในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ โดยที่เราไม่ดูจุดยืนหรือประเด็นสิทธิมนุษยชนของไทยเอง