POLITICS

BTS ยัน ไม่ได้แลกหนี้ กทม.กับการต่อสัมปทานสายสีเขียว

BTS ยืนยัน ไม่ได้แลกหนี้ กทม.กับการต่อสัมปทานสายสีเขียว เตรียมฟ้องเพิ่ม ให้ชำระเงินค่าติดตั้งระบบ 2 หมื่นล้าน

วันนี้ (9 ก.พ. 65) นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC กล่าวถึงกรณีมีความพยายามนำเรื่องการต่อสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวานนี้ว่า ไม่เกี่ยวข้องกับบริษัท บีทีเอส เพราะเป็นบริษัทเอกชน ที่ต้องปฎิบัติตามสัญญาจ้างเดินรถ และต้องปฎิบัติหน้าที่ต่อไปอย่างครบถ้วน แม้ว่าจะยังไม่ได้รับการชำระเงินมา แต่บริษัทก็ต้องพยายามทำให้ดีที่สุด ไม่ได้มีการเอาหนี้ 30,000 ล้านบาท ไปแลกกับสัญญาสัมปทาน ตามที่มีกระแสข่าว และก็เป็นไปไม่ได้เลย เพราะหนี้ที่เกิดขึ้นเป็นหนี้ที่มาจากการให้บริการจริงกับประชาชน ทั้งการเดินรถและการติดตั้งระบบ

นายสุรพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เรื่องสัมปทานเป็นเรื่องของภาครัฐที่พยายามจะแก้ปัญหาระยะยาว โดยเฉพาะปัญหาหนี้ของ กทม. ที่ไม่ใช่เฉพาะหนี้ในส่วนของค่าจ้างเดินรถเท่านั้น แต่ กทม.ยังมีหนี้ที่รับภาระเรื่องค่าก่อสร้างและงานโยธา จาก รฟม.จำนวน 60,000 ล้านบาท รวมถึงภาระเรื่องค่าโดยสาร ที่ต้องการให้เก็บในอัตราไม่เกิน 65 บาท สวนทางกับเกณฑ์เดิมที่กำหนดค่าโดยสารไว้สูงสุด 158 บาท จากระยะทาง 60 กิโลเมตร จึงต้องมีการเจรจากันเพื่อลดค่าโดยสาร และให้เก็บไม่เกิน 65 บาท ตามที่เป็นข่าว

นายสุรพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย BTSC อยากให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือเรื่องการชำระหนี้สินที่ค้างอยู่เกือบ 40,000 ล้านบาท เพราะถือเป็นภาระที่ใหญ่สำหรับบริษัทเอกชน มี่ผ่านมา บริษัทไม่ต้องการให้เกิดผลกระทบใดๆ กับประชาชน จึงพยายามให้บริการเดินรถอย่างเต็มที่ ซึ่งหากจะให้เป็นผู้รับจ้างเดินรถต่อไปก็ไม่มีปัญหา เพียงแค่ขอให้ชำระค่าจ้างมา

ส่วนการที่จะให้สัมปทานแก่บริษัทบีทีเอส เพื่อให้บีทีเอสช่วยกับภาระอย่างอื่นนั้น ต้องบอกว่าภาระที่มีอยู่ค่อนข้างเยอะ มีวงเงินรวมหลายเเสนล้านบาท ไม่ว่าจะเป็นภาระหนี้สินของ กทม.ในการชำระค่าก่อสร้างงานโยธา เเทน รฟม.และภาระขาดทุนที่เกิดจากค่าโดยสารที่เก็บสูงสุดในอัตรา 65 บาท ไปเป็นระยะเวลาเกือบ 10 ปี รวมถึงอัตราดอกเบี้ย ที่บริษัทจะต้องจ่ายจากภาระเงินกู้ของกทม. และการแบ่งรายได้ กทม. ตลอดระยะเวลา 30 ปี รวมเป็นเงินหลายเเสนล้านบาท

ขณะที่ บีทีเอส ได้ทวงถามหนี้ไปทาง กทม.แล้วหลายครั้ง ตามขั้นตอนตามปกติ และให้กทม.ชำระเงินให้แก่บีทีเอสตามสัญญา หรือให้ชำระบางส่วน รวมถึงการยื่นฟ้องศาลปกครอง เมื่อ 15 ก.ค. 64 โดยเป็นการยืนฟ้องให้ชำระค่าจ้างเดินรถในส่วนต่อขยาย ซึ่ง ณ วันที่ฟ้องมีมูลค่าหนี้อยู่ที่ 12,000 ล้านบาท

ล่าสุด ทางบีทีเอส เตรียมที่จะฟ้องในส่วนของค่าติดตั้งระบบจำนวน 20,000 ล้านบาท ซึ่งสาเหตุที่ล่าช้าเนื่องจากจะต้องใช้ระยะเวลาในการจัดเตรียมเอกสารทั่งการตรวจรับ ยืนยัน ทำเต็มที่ เพื่อขอให้กทม ชำระหนี้แก่บีทีเอส

Related Posts

Send this to a friend