‘พีมูฟ’ ปักหลักชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาล เรียกร้องแก้ไขปัญหาประชาชน

‘พีมูฟ’ ปักหลักชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาล เรียกร้องแก้ไขปัญหาให้ประชาชน พร้อมทวงถามข้อเสนอที่เคยยื่นต่อรัฐบาล
วันนี้ (8 ต.ค. 67) ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move) ปักหลักชุมนุมต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 เพื่อทวงถามถึงข้อเสนอเชิงนโยบาย 10 ข้อ เพื่อให้รัฐบาลดำเนินการตามข้อเรียกร้องของประชาชน และแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้กับชาวบ้าน ระหว่างที่นายกรัฐมนตรี นำประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยกลุ่มพีมูฟได้เคลื่อนขบวนจากบริเวณประตู 4 ไปปักหลักชุมนุมที่บริเวณประตู 5 ทำเนียบรัฐบาล พร้อมปราศรัยทวงถามข้อเรียกร้องต่างๆ และให้คณะรัฐมนตรี นำปัญหาของกลุ่มไปเร่งดำเนินการตามที่เคยมายื่นข้อเรียกร้องไว้ก่อนหน้านี้
ทั้งนี้ ในเวลาประมาณ 09:30 น. เกิดเหตุชุลมุนขึ้น ภายหลังกลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วน ได้พยายามปีนข้ามรั้วแผงเหล็กของเจ้าหน้าที่ ทำให้ตำรวจที่รักษาความปลอดภัย พยายามกันให้กลุ่มผู้ชุมนุมออกห่างจากแนวกั้น ก่อนที่จะยื้อยุดฉุดกระชากรั้วแผงเหล็กระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุม และเจ้าหน้าที่ ก่อนท้ายที่สุดเหตุการณ์จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ และกลุ่มผู้ชุมนุมก็เคลื่อนขบวนกลับไปปักหลักยังประตู 4 อีกครั้ง
นายพงษ์ศักดิ์ ต้นน้ำเพชร ตัวแทนชาวบ้านบางกลอย ให้สัมภาษณ์ถึงการเดินทางมาชุมนุมในวันนี้ ระบุว่า ที่เรามาในวันนี้ เพราะสถานการณ์ของชาวบ้านบางกลอย ทั้งเรื่องปัญหาปากท้อง และที่อยู่อาศัยที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งเรามีการเรียกร้องมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี แต่ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขแต่อย่างใด มีแต่การยัดเยียดโครงการต่างๆ เข้ามาให้ชาวบ้าน
นอกจากนี้ ยังมีกรณีเร่งด่วน คือเยาวชน 2 คน ชาวบางกลอยที่ถูกดำเนินคดีบุกรุกป่า เมื่อปี 2564 โดยเรามีความกังวลว่า ถ้ามีการสั่งฟ้อง จะกลายเป็นการปิดปากประชาชนในเรื่องการเรียกร้องสิทธิ รวมถึงชาวบ้านอีก 28 คน ที่ถูกอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานฟ้องในข้อหารุกป่าเช่นเดียวกัน เกี่ยวกับสั่งฟ้องคดี จึงมาขอพบ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่อหารือแนวทางในการแก้ไขปัญหาให้กับเรา
ส่วนทิศทางของรัฐบาล ก็มีแนวทางที่ชัดเจน โดยก่อนหน้านี้ รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อแก้ปัญหาให้กับขาวบางกลอย และได้ข้อสรุปว่าให้เรากลับไปทำกินในพื้นที่เดิม เพราะอยู่มาก่อนแล้ว แต่กรรมการอิสระไม่มีอำนาจตัดสินใจ จึงส่งให้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรับผิดชอบโดยตรง และตั้ง 3 ฝ่าย หารือให้เกิดการแก้ปัญหา ซึ่งกระทรวงทรัพย์ฯ อ้างว่าติดปัญหาที่ว่ากรรมการของฝ่ายชาวบ้านมีติดคดีอยู่ 3 คน ทำให้ไม่สามารถแต่งตั้งได้ และไม่เกิดความคืบหน้าในการแก้ปัญหา แตกต่างกับคดีที่มีการเร่งรัด
สำหรับการปักหลักชุมนุมในครั้งนี้ เราไม่ได้มีการกำหนดว่าจะอยู่ถึงเมื่อไหร่ และคิดว่าจะอยู่จนกว่าปัญหาของพี่น้องจะได้รับการตอบรับอย่างจริงจัง เพราะเรามาขอให้ชะลอการสั่งฟ้อง แต่ในวันนี้กลับมีแนวโน้มที่จะฟ้องร้องชาวบ้านอย่างจริงจัง จึงจำเป็นที่จะต้องมาปักหลักเรียกร้องในครั้งนี้
ขณะที่ นายก้อย ทะเลลึก ชาวชาติพันธุ์ชาวเล มอแกน เกาะพยาม จ.ระนอง กล่าวถึงปัญหาที่มาเรียกร้องในวันนี้ว่า เรื่องของปัญหาน้ำปะปา และไฟฟ้าในพื้นที่ รวมถึงบัตรประชาชน ที่เป็นข้อเรียกร้องเร่งด่วน รวมถึงค่าใช้จ่ายในโรงพยาบาล ซึ่งเราพยายามต่อสู้มากว่า 20 ปี แต่ยังไม่ได้รับผลคืบหน้า จึงอยากให้รัฐบาลแก้ไขเรื่องนี้ เพื่ออนาคตให้ลูกหลานได้เรียนหนังสือ หรือทำมาหากิน ขณะที่นางสมจิตร กล้าทะเล ชาติพันธุ์ชาวเล มอแกน เกาะสุรินทร์ จ.ระนอง และ นางสวัสดี หาญทะเล ชาวเลอุรักลาโว้ย เกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล กล่าวถึงปัญหาเรื่องทางเดินออกทะเล หลังถูกนายทุนปิดกั้น ไม่สามารถออกได้ จึงอยากให้นายกฯ เร่งช่วยเหลือ