‘วันนอร์’ เล็งคุยนายกฯ เร่งส่งร่าง พ.ร.บ.งบฯ 67
ชี้หากไม่ทันก็ใช้งบฯ ประจำไปก่อน ยึดเอาตามงบประมาณปี 2566 ขณะเตรียมนัดทุกฝ่ายถกปัญหาอาหาร สส. แพง-เหลือ เชื่อเรียบร้อยกลางเดือนนี้
วันนี้ (8 ก.ย. 66) นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ซึ่งอาจจะพิจารณาไม่ทันปีงบประมาณ ว่า หากไม่ทันในส่วนของงบฯประจำ ก็ให้ใช้งบประมาณที่มีอยู่ ส่วนงบฯอื่นก็ให้ใช้ไปก่อน โดยยึดเอาตามงบประมาณปี 2566 ซึ่งสามารถดำเนินการได้ เพราะกว่าจะได้พิจารณางบประมาณปี 2567 ก็ต้องใช้เวลา ซึ่งเชื่อว่ารัฐบาลก็จะเร่งดำเนินการ
ทั้งนี้ เชื่อว่า วันที่มีการแถลงนโยบายของรัฐบาล ตนคงได้พบกับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี หรือเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อให้เร่งรัดเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีวบประมาณ 2567 เพราะขณะนี้ก็มีความชัดเจนแล้วว่าฝ่ายค้านและรัฐบาลเป็นพรรคใด การจัดสรรกรรมาธิการก็เป็นไปตามสัดส่วน ซึ่งคิดว่าน่าจะเร็ว เพราะรัฐบาลก็ต้องการงบประมาณไปใช้โดยเร็ว
ส่วนงบประมาณในส่วนของเบี้ยประชุม เบี้ยกรรมาธิการจะมีปัญหาหรือไม่ นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า เบี้ยประชุมกรรมาธิการต่างๆถือเป็นเรื่องงานที่ต้องทำ ก็เหมือนกับงบประจำที่มีอยู่แล้ว
ขณะเดียวกัน ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงข้อวิจารณ์เรื่องอาหาร รับรองสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวันประชุม ที่ใช้งบประมาณจำนวนมากและเหลือว่า ได้เรียกนางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร มาพูดคุยถึงปัญหาดังกล่าวแล้ว และหลังแถลงนโยบายของรัฐบาลจะได้เรียกผู้ที่เกี่ยวข้องให้มาพูดคุย เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหา เพราะตนได้รับข้อมูลมาหลายด้าน เลขาธิการสภาฯ ก็มารายงานแล้ว ต้องยอมรับว่ามีปัญหาอยู่บ้าง จึงคิดว่าไม่เกินกลางเดือนก็คงจะเรียบร้อย ซึ่งก็มีนโยบายว่า สส. ต้องได้รับการบริการอาหารอย่างทั่วถึงและไม่เหลือ โดยยึดความเหมาะสม ไม่ฟุ่มเฟือย ขณะเดียวกัน สมาชิกต้องได้รับการบริการที่ดีด้วย
ส่วนจะปรับลดงบประมาณค่าอาหารลงหรือไม่ เพราะค่าอาหารเฉลี่ยปีละประมาณ 100 ล้านบาท นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ยังไม่เห็นตัวเลขทั้งหมด ดังนั้นจะต้องดูในรายละเอียด แล้วจะเชิญรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ทั้ง 2 คน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาร่วมให้ความคิดเห็นด้วย โดยตนได้รับข้อมูลในเบื้องต้นมาแล้ว ซึ่งจะต้องมีการปรับปรุง
สำหรับกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่ามีอาหารเหลือตลอดนั้น ประธานสภาฯ กล่าวว่า ยังไม่ทราบข้อมูลที่เหลือ แต่บางครั้งก็ต้องเห็นใจผู้จัด เพราะบางครั้ง สส. มาประชุมพร้อมเพรียง แต่บางครั้งก็กลับไปก่อน หากจัดไม่ครบก็จะมีปัญหา แต่หากเกินความพอดี ก็ไม่ดีเหมือนกัน ดังนั้น ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันทั้งสภาฯ กรรมาธิการกิจการสภา เลขาธิการสภา และรองประธานสภาทั้งสองมาพูดคุย เพื่อหาสมดุลให้ได้ ซึ่งจะต้องพูดคุยกับคนที่มีประสบการณ์กับเรื่องนี้ในอดีตด้วย