คุ้มครองสิทธิฯ จับมือ EU และ UN เปิดตัวการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาอุ้มหาย
คุ้มครองสิทธิฯ จับมือ EU และ UN เปิดตัวการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาอุ้มหาย หลังไทยบังคับใช้ตั้งแต่ 13 มิ.ย.
วันนี้ (8 ก.ค. 67) ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ (United Nations Conference Centre – UNCC) กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ โดยกองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ร่วมกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Office of the High Commissioner for Human Rights: OHCHR) และสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย (European Union in Thailand) จัดงานเปิดตัวการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ “ประเทศไทยในฐานะรัฐภาคีอนุสัญญาอุ้มหาย : หนทางสู่การขจัดการอุ้มหาย”
นอกจากนี้ ภายในงานยังมีปาฐกถาพิเศษ โดย อังคณา นีละไพจิตร ญาติผู้ถูกบังคับให้สูญหาย และนักปกป้องสิทธิมนุษยชน อีกทั้งยังมี ศาสตราจารย์กิตติคุณ วิทิต มันตาภรณ์ ผู้รายงานพิเศษแห่งองค์การสหประชาชาติว่าด้วยสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในกัมพูชา บรรยายในหัวข้อ “อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ” จากนั้นเป็นการเสวนา “จากการให้สัตยาบันสู่การบังคับใช้ : หนทางต่อไปในการนําอนุสัญญาอุ้มหายไปสู่การปฏิบัติในประเทศไทย” โดย เอมอร เสียงใหญ่ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ร่วมกับผู้แทนจากภาคส่วนต่าง ๆ
การเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ (อนุสัญญาอุ้มหาย) ถือเป็นอนุสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนฉบับหลัก ฉบับที่ 8 ที่ไทยเข้าเป็นภาคี จาก 9 ฉบับหลักขององค์การสหประชาชาติ โดยอนุสัญญาอุ้มหายมีผลใช้บังคับกับประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 13 มิถุนายน 2567 ถือเป็นพัฒนาการด้านสิทธิมนุษยชนที่สำคัญของประเทศไทยในการป้องกัน และปราบปรามการอุ้มหายอย่างจริงจัง รวมถึงความพร้อมที่จะเยียวยาแก่ผู้เสียหายและครอบครัวอย่างครอบคลุม สืบหาผู้สูญหาย และนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ