POLITICS

ว่าที่ ส.ส.เพื่อไทย หนุนผลิตชุดที่ ‘ลิซ่า’ ใส่ต่อยอดกระแส ‘ผ้าทออีสาน’ สู่ระดับสากล

ว่าที่ ส.ส.เพื่อไทย เยือนตลาดผ้านาข่าทอพื้นเมือง ผลิตชุดที่ ‘ลิซ่า’ ใส่ หนุนนโยบาย 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ ต่อยอดกระแส ‘ผ้าทออีสาน’ สู่ระดับสากล

วันนี้ (8 มิ.ย. 66) น.ส.ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ รองเลขาธิการและรักษาการโฆษกพรรคเพื่อไทย ว่าที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทย พร้อมด้วย น.ส.ชนก จันทาทอง ว่าที่ ส.ส.หนองคาย และ น.ส.ประภาพร ทองปากน้ำ ว่าที่ ส.ส.สุโขทัย เดินตลาดผ้านาข่าทอพื้นเมืองของภาคอีสานซึ่งถือเป็น soft power ที่เกิดจากภูมิปัญญาของประชาชนในพื้นที่ เตรียมผลักดัน และต่อยอดสู่สากล โดย ตลาดผ้านาข่าถือเป็นเป็นหมู่บ้านที่ขายผ้าพื้นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และเป็นตลาดที่ น.ส.ลลิษา มโนบาล หรือ ‘ลิซ่า แบล็คพิ้ง’ เลือกนำชุดผ้าฝ้ายทอมือหมักโคลนจากตลาดนี้ใส่ถ่ายภาพกับโบราณสถานที่ จ.พระนครศรีอยุทธยา จนโด่งดังไปทั่วโลก

น.ส.ลินธิภรณ์ กล่าวว่า กระแส ‘ลิซ่า แบล็คพิ้ง’ ใส่ผ้าฝ้ายทอมือหมักโคลนทำบุญไหว้พระจนเป็นไวรัลในขณะนี้ สะท้อนว่าอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์อันเกิดจากภูมิปัญญาความปราณีตในงานฝีมือ เป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของคนไทย และยังได้รับความสนใจจากนานาประเทศ การส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ในระดับชุมชนสู่เวทีโลก เป็นสิ่งที่พรรคเพื่อไทยผลักดันมาตลอดตั้งแต่ไทยรักไทย

นโยบาย 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ ของพรรคเพื่อไทย คือนโยบายเฟ้นหาศักยภาพคนไทยในทุกครอบครัวสู่การจ้างงาน 20 ล้านตำแหน่ง ตั้งแต่ดนตรีพื้นบ้าน สิ่งทอ ศิลปะร่วมสมัย ภาพยนตร์ อาหาร ฯลฯ พร้อมสนับสนุนเงินทุน ขยายการส่งออกผ่านนโยบายต่างประเทศ โดยมี “THACCA” (Thailand Creative Content Agency) สร้างอุตสาหกรรมซอฟท์พาวเวอร์ไทยให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด ทั้งนี้ปรากฎการณ์ผ้าไทยที่เกิดขึ้น คือเครื่องการันตีว่าไทยมีสินค้าดี มีพรีเซ็นเตอร์ระดับโลก มีคนเก่งในทุกแขนงของศิลปะและวัฒนธรรมที่คนทั่วโลกรู้จัก ถ้ารัฐบาลจริงจัง ต่อยอด และทำเป็น จะนำรายได้เข้าประเทศมหาศาล

น.ส.ชนก กล่าวว่า ชุดผ้าไทยที่กำลังดังไปทั่วโลก ตอกย้ำถึงความสำเร็จของนโยบายหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ของรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ที่เคยส่งเสริมการสร้างงาน สร้างอาชีพ จากการหาจุดเด่นของทรัพยากร ภูมิปัญญาในท้องถิ่น มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์และบริการที่มีคุณภาพ มีจุดเด่นและมูลค่าเพิ่ม ต่อยอดสู่โบาย 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ เรียนฟรี มีงานทำ ควรใช้โอกาสนี้เร่งต่อยอด และผลักดันผ้าทอของอีสานให้สามารถส่งออก และทำรายได้ให้กับประชาชนมากขึ้น

“วัฒนธรรมคนอีสานจะใส่ชุดไทยไปงานบุญ ตัวดิฉันเองก็ใส่ชุดไทยบ่อยจนเป็นชุดประจำวัน โดยทุกครั้งที่ไปร่วมงานของชาวบ้าน ไม่ว่าจะบุญเบิกบ้าน บุญกฐิน ผ้าป่า งานบวช งานแต่ง งานฌาปนกิจ ฯลฯ ดิฉันมักจะเลือกหยิบชุดไทยมาสวมใส่ เพราะนอกจากจะเป็นการให้เกียรติเจ้าภาพแล้ว ยังถูกกาลเทศะ และสวยงามด้วย ซึ่งส่วนใหญ่ดิฉันจะเลือกใส่ผ้าฝ้าย เพราะใส่แล้วไม่ร้อน ดูแลรักษาง่าย ดังนั้น จึงอยากฝากพี่น้องคนไทยช่วยกันอุดหนุนผ้าไทย สนับสนุนสินค้า และผลิตภัณฑ์ที่มาจากภูมิปัญญาของพวกเรา” น.ส.ชนก กล่าว

Related Posts

Send this to a friend