เชียงใหม่ แถลงมาตรการทางสาธารณสุข ในภาวะ PM 2.5 หลังสถานการณ์ทวีความรุนแรงต่อเนื่องกระทบสุขภาพ
ผู้ว่าฯ เชียงใหม่เตรียมประกาศมาตรการป้องกันและลดผลกระทบกรณีฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานต่อเนื่อง ปภ.เชียงใหม่ ย้ำ ยังต้องการกำลังในการต่อสู้กับไฟป่าอีกมาก โดยเฉพาะบริเวณชายแดน
วันนี้ (8 เม.ย. 67) นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานในการประชุมประสานความร่วมมือ “มาตรการทางสาธารณสุข จังหวัดเชียงใหม่ ในภาวะ PM 2.5“ โดยมี ศ.(เชี่ยวชาญพิเศษ) นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดี คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รศ.นพ.นเรนทร์ โชติรสนิรมิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ นพ.จตุชัย มณีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุข เชียงใหม่ นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ และนายดุสิต พงศาพิพัฒน์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จังหวัดเชียงใหม่ เข้าร่วมประชุมเพื่อหามาตรการทางสาธารสุขที่เหมาะสมท่ามกลางสถานการณ์หมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่รุนแรงต่อเนื่อง และมีแนวโน้มสูงขึ้น และส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน
นายนิรัตน์ เปิดเผยว่า จังหวัดเชียงใหม่ ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด โดยเฉพาะในพื้นที่ป่าที่ใช้ทุกมาตรการเพื่อป้องกันการเผาป่า และไฟป่า ทั้งมาตรการด้านอาชีพ และการตั้งรางวัลนำจับผู้เผาป่า ซึ่งในช่วงเดือนมีนาคม-ต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมาก็ยังมีปริมาณการเผาอยู่มาก โดยบางวันมีการเผาถึง 565 จุด ซึ่งเจ้าหน้าที่เข้าดำเนินการในการดับไฟอย่างรวดเร็วที่สุด แต่ยังมีปัญหาการเผาจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา เพื่อนบ้านมีการเผาถึง 6,000-7,000 จุด โดยอำเภอชายแดนมีค่า PM 2.5 สูงมาก ซึ่งจังหวัดได้ระดมสรรพกำลัง เช่นการใช้เครื่องบินฝนหลวงบรรเทาสถานการณ์ โดยจะเห็นว่าค่าฝุ่นในช่วงเช้าสูง ช่วงบ่ายจะลง เพราะมีปฏิบัติการเหล่านี้ แต่สถานการณ์โดยรวมยังต้องให้ความสำคัญอยู่ พร้อมกันนี้ ในด้านสุขภาพ จังหวัดได้ดำเนินการด้านสุขภาพร่วมกับทุกภาคส่วนมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการเตรียมการเรื่องห้องปลอดฝุ่น การจัดหาหน้ากากอนามัย การรักษาพยาบาลที่ประชาชนทุกคนสามารถเดินเข้ามารับบริการได้ตามสิทธิที่รัฐให้การดูแลอยู่แล้ว ที่รพ.รัฐทุกแห่ง ฯลฯ
ศ.(เชี่ยวชาญพิเศษ) นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดี คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า PM2.5 มีผลต่อสุขภาพของประชาชนอย่างมาก และก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปจนถึงระดับพันธุกรรม เพราะฝุ่น PM 2.5 ทำให้ร่างกายเกิดการอักเสบ และเกิดการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย โดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โรงพยาบาลสวนดอกมีการเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว และพบว่า การเพิ่มขึ้นของ PM2.5 เกี่ยวข้องกับอัตราการตายที่เพิ่มสูงขึ้น โดยจากการเก็บข้อมูลพบว่า ผู้ป่วยโรคที่เกี่ยวข้อง เช่น โรคทางเดินหายใจ หัวใจ ปอด ของโรงพยาบาล เพิ่มขึ้น 1.5 เท่าในช่วงปีนี้เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยคณะฯ และโรงพยาบาลให้ความร่วมมือ และบูรณาการการทำงานกับจังหวัดอย่างต่อเนื่องเพื่อดูแลชาวเชียงใหม่อย่างดีที่สุด โดยย้ำว่า อยากให้ทุกฝ่ายร่วมกัน และอยากให้มีผลกระทบต่อนโยบายของประเทศ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและแก้ปัญหา PM2.5 ได้
รศ.นพ.นเรนทร์ โชติรสนิรมิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ฝุ่นมีขนาดเล็กมากและสร้างความเสียหายด้านสุขภาพสูงมาก รวมถึงเป็นเรื่องใหญ่เกินกว่าที่ส่วนท้องถิ่นเพียงอย่างเดียว จะสามารถแก้ไขปัญหาได้ อย่างไรก็ตาม โรงพยาบาลได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของการรักษา และการให้ความรู้เพื่อป้องกัน โดยโรงพยาบาลได้สร้างระบบการส่งต่อ และแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อการดูแลผู้ป่วยให้ดีที่สุด รวมถึงการคิดค้น และพัฒนาสิ่งต่างๆ เพื่อลด บรรเทาปัญหาด้านสุขภาพ เช่น การทำตะกร้าฟอกฝุ่น DIY การติดตั้งระบบฟอกอากาศ เพื่อหอผู้ป่วยที่ไม่สามารถติดเครื่องปรับอากาศทำระบบปิดได้ รวมถึงการให้ความรู้กับประชาชน โดยนำความรู้เข้าถึงประชาชนให้มากที่สุดทั้งทางออนไลน์ผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย และออฟไลน์ผ่านการจัดกิจกรรมในห้างสรรพสินค้า หรือแหล่งชุมชน
นพ.จตุชัย มณีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุข เชียงใหม่ ย้ำว่า PM 2.5 เป็นปัจจัยเสี่ยงที่คุกคามสุขภาพ ซึ่งสาธารณสุขจังหวัดมีการเตรียมการ และพัฒนามาหลายปีให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น เพื่อไม่ให้กระตุ้นการกำเริบของโรค และมีการเตรียมความพร้อมรองรับทั้งโรคที่เกิดขึ้นทันที อย่างกลุ่มโรคทางเดินหายใจ ตา ผิวหนัง และหัวใจ ไปจนถึงโรคที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว เช่น โรคหลอดเลือดสมอง และมะเร็งต่างๆ พร้อมให้ความมั่นใจว่าสาธารณสุขจังหวัดมีความพร้อมในการดูแลสุขภาพประชาชน ผ่านมาตรการสื่อสารความเสี่ยง การเตรียมเวชภัณฑ์ประสิทธิภาพสูง เตียงรองรับผู้ป่วย เวชภันฑ์ป้องกันส่วนบุคคลเช่นแมสก์ต่างๆ
นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า มีการดำเนินการในหลายด้าน และเน้นที่การลดความแออัดในการไปโรงพยาบาล ให้แพทย์ไปอยู่ตาม รพ.สต. เพื่อบริการผู้ป่วยนอก และได้จัดตั้ง Contact Unit for All Primary Care 10 แห่ง เพื่อแบ่งเบาภาระแพทย์ เพิ่มการเข้าถึง
ด้าน นายดุสิต พงศาพิพัฒน์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จังหวัดเชียงใหม่ ย้ำว่า มีการจัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ และบูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น กรมฝนหลวง กรมอุทยานฯ กรมป่าไม้ ฯลฯ เพื่อร่วมกันสู้กับสถานการณ์ไฟไหม้ โดย เจ้าหน้าที่มุ่งมั่น ทำงานอย่างหนักทุกวัน และพร้อมสู้ ไม่มีถอยเพื่อปกป้องพื้นที่ป่า ลดการเกิดไฟ หมอกควัน และดับไฟให้ได้เร็วที่สุด แต่ยังต้องการกำลังเพิ่มเพือมาช่วยกัน ไม่ว่าจะเป็น ทหาร หรือ ภาคส่วนต่างๆ เพราะไฟ และฝุ่น รวมถึงจุดความร้อนมีทั้งในประเทศ และต่างประเทศ แม้ในประเทศของเราดีขึ้นมาก ค่าจุดความร้อนลดลงต่อเนื่อง แต่ยังต้องการกำลังอีกมากเพื่อไปสกัดไฟตามแนวชายแดนต่างๆ
นายนิรัตน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ภายหลังจากที่ นายกฯ ลงพื้นที่เมื่อเดือน มีค. ที่ผ่านมา ได้นำเรียนข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ไฟ และฝุ่นควันในพื้นที่เชียงใหม่ รวมถึงข้อจำกัดในการทำงาน และสิ่งที่ต้องการการสนับสนุน โดยที่ผ่านมา แม้จะมีมาตรการป้องกัน รณรงค์ ไปจนถึงการให้รางวัลนำจับเพื่อลดการเผา แต่ก็ยังมีการเผาเกิดขึ้นอยู่ สิ่งที่สำคัญที่สุดที่จังหวัดเน้นย้ำ คือการตอบโต้คือการดับให้ได้เร็วที่สุด และการระดมสรรพกำลัง และการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนเพื่อดับไฟ และควบคุมไฟทั้งที่เกิดขึ้นในประเทศ และป้องกันการลามมาจากประเทศเพื่อนบ้าน
“วันนี้ จังหวัดจะมีออกมาตรการเรื่องการป้องกันและลดผลกระทบกรณีฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานต่อเนื่อง อาทิ มาตรการ Work from Home ที่ไม่กระทบต่อการบริการประชาชน และบริษัท งดกิจกรรมกลางแจ้ง งดออกกำลังกลางแจ้ง เปิดห้องปลอดฝุ่นให้ประชาชน โดยจะเป็นมาตรการระยะสั้นเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนครับ” นายนิรัตน์ กล่าว